ไม่เอารัฐประหาร เลือกตั้งคือ ‘ทางออก’ เสียงสะท้อนผู้ชุมนุมกลุ่มรวมพลังแผ่นดิน
จากคำว่า ‘Uncle’ สู่การลงถนน บทสนทนาระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จ ฮุน เซน (Hun Sen) ที่มีเจตนามุ่งหาข้อยุติชายแดน-กัมพูชาดูจะไม่เป็นผล แต่กลับเป็นชนวนสู่การชุมนุม ‘ชัตดาวน์’ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของ ‘กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยไทย’ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ขณะเดียวกันบทสนทนาดังกล่าวที่มีความยาว 17.06 นาที ยังกลายเป็นนิมิตหมายการรวมตัวของ ‘คนหน้าเดิม’ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงปี 2548-2552 โดยมีจุดประสงค์คือการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีข้อครหาว่าเป็นกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจต่อการรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาขึ้นเวทีปราศรัย
กระนั้นแม้ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อในการชุมนุม คือ 1. แพทองธารลาออก 2. พรรคร่วมถอนตัวจากรัฐบาล และ 3. ขอให้ประชาชนสลายสีเสื้อปกป้องอธิปไตยยืนเคียงข้างทหาร ดูเหมือนจะไม่สามารถนำไปสู่การรัฐประหารได้ แต่แกนนำบางคนดูจะ ‘ไม่มีปัญหา’ หากการเมืองไทยจะวนลูปกลับไปสู่ยุคทหารอีกครั้ง ดังที่ สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวบนเวทีช่วงหนึ่งว่า “ไม่ได้ยุให้รัฐประหาร แต่ถ้าทหารจะทำก็ไม่ขัด”
ในช่วงที่แกนนำกำลังปราศรัยปลุกพลังรักแผ่นดินกันอย่างดุเดือด The Momentum ลงพื้นที่ เพื่อสำรวจเสียงของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิว่า พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการรัฐประหาร ปัญหาที่เผชิญอยู่นี้ควรแก้ไขอย่างไร และการเลือกตั้งยังคงเป็นคำตอบที่พวกเขาเชื่อมั่นอยู่หรือไม่
ไม่ใช่เพียงคลิปเสียง แต่มีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย จึงออกมาชุมนุม
“รายได้ของผมลดลงแทบทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือแล้วประเทศไทย วันนี้เลยออกมาแสดงพลัง สู้เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้า” สมชาย พงษ์เถื่อน วัย 55 ปี ซึ่งเดินทางจากจังหวัดชลบุรีมาร่วมชุมนุมให้เหตุผลว่า การชุมนุมของเขาในวันนี้ไม่ได้มีเพียงคลิปเสียงของนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จ ฮุน เซน ที่เป็นประเด็นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเขามองว่า ‘เละเทะ’
“การเกษตรทุกอย่างไม่มีแล้ว พังหมดแล้ว พืชผลเหลือกิโลกรัมละไม่กี่บาท เหมือนย้อนยุคกลับไปเมื่อสมัย 40-50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ แล้วเรายังจะเอามัน (แพทองธาร ชินวัตร) อีกเหรอ”
ด้าน รณกร พรมเจริญ วัย 54 ปี ผู้ชุมนุมอีกราย แสดงทัศนะว่า นอกจากปมคลิปเสียงการพูดคุยของแพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จ ฮุน เซนที่ระบุว่า กองทัพภาคที่ 2 เป็น ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ทำให้เขาไม่พอใจจนต้องออกมาชุมนุม ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาลซึ่งเขามองว่า มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้คนออกมาชุมนุม
“ช่วงนี้เศรษฐกิจย่ำแย่ นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ก็ทำไม่ได้ คนยากคนจนเดือดร้อนมาก ทั่วโลกไม่เชื่อถือรัฐบาลตระกูลนี้ เพราะเกิดการทุจริตมาหลายทศวรรษและหลายชั่วอายุคน”
จากการสอบถามผู้ชุมนุมจำนวน 4 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคนรุ่นใหม่อายุ 21 ปี ร่วมให้สัมภาษณ์ว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจออกมาชุมนุมยังคงเป็นประเด็นเรื่องชายแดน ทว่า พวกเขากล่าวเสริมว่า ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองที่พวกเขามองว่า ‘มีการทุจริตคอร์รัปชัน’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยนอกเหนือจากประเด็นคลิปเสียงที่ผลักดันให้ออกมาชุมนุม
“ผมรับไม่ได้กับการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล รัฐบาลมีแต่คนคอร์รัปชัน มีแต่คนกอบโกยเอาทรัพยากรของแผ่นดินไปเป็นของตัวเอง ผมรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้” รณกรกล่าว
มาแสดงพลัง ไม่ต้องการสงคราม-ความรุนแรง
“ผมไม่ชอบความรุนแรง ถ้าหากพวกเขาขอความรุนแรง ผมขอตาย” สมชายกล่าว แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการสนทนาของแพทองธาร กับสมเด็จ ฮุน เซน และมองว่าคำพูดในคลิปเสียงเป็นการ ‘ขายประเทศชาติให้กับเขมร’ ทั้งนี้เขามองว่า การชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยไทยไม่จำเป็นต้องเดินหน้า เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องโดยใช้ความรุนแรงและควรเป็นไปด้วย ‘สันติวิธี’
อย่างไรก็ตาม หลังกองพลทหารไทยกับกัมพูชาปะทะกัน ณ ช่องบก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งชาวไทยและกัมพูชาจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นในทำนองที่อยากให้เกิดการรบระหว่างสองประเทศ ทว่าเมื่อสอบถามผู้ชุมนุมหลายคนมองว่า การแก้ปัญหาข้อพิพาทครั้งนี้ไม่จำเป็นถึงขั้นต้องมี ‘สงคราม’
“จริงๆ มันแก้ด้วยสันติได้ ถ้าเราดูท่าทีของเขมร เราจะเห็นว่าเขาพูดอยู่ตลอดว่า จะรอนายกฯ คนใหม่ แล้วเขาจะคุยกับคนใหม่ เขาไม่อยากรบอยู่แล้ว เขารอสันติ เพราะรู้ว่ารบไปก็ไม่ชนะเรา แก้ด้วยสันติดีกว่า” หง่าวอดีตกราฟิกดีไซเนอร์วัย 55 ปี ระบุ พร้อมกับยกฟิวเจอร์บอร์ดซึ่งพิมพ์รูปภาพของนายกรัฐมนตรีพร้อมข้อความแสดงออกทางการเมืองทั้งคำว่า พี่น้องไทยรวมใจไล่กบฏทรยศชาติ, อังเคิลคะ อยากได้อะไรบอกหลาน, โถส้วมฮุน เซน และแพรทองทุย อีภัยความมั่นคง ว่าเป็นหนึ่งในการใช้ฝีมือแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติวิธี
“ มัน (สันติวิธี) เป็นแนวทาง การทำผลงานเหล่านี้ออกมาทำให้สื่อมวลชนสนใจ” เขาพูดย้อนไปถึงการชุมนุมเมื่อปี 2557 ว่า “ครั้งนั้นผมก็ทำผลงานเพื่อมาชุมนุมเหมือนกัน ผมเห็นผลงานชิ้นนี้ออกข่าว CNN กับสำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายสำนัก มันได้ผลนะ”
นอกจากฟิวเจอร์บอร์ด The Momentum ยังสังเกตเห็นว่า ในพื้นที่การชุมนุมมีการแสดงออกทางการเมืองที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสวมเสื้อผ้าที่มีลวดลายหรือประดับด้วยธงชาติไทย ชุดทหาร ป้ายที่มีข้อความทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งบางส่วนระบุว่า เป็นเงินทำมือ เช่น ชุดลายธงชาติของรณกร ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่าสั่งตัดใหม่ในราคา 3,000 บาท เพื่อนำมาแสดงเชิงสัญลักษณ์
รัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ เลือกตั้งใหม่คือทางออก
เมื่อการชุมนุมล่วงเลยมาจนถึงเวลา 18.02 น. นิติธร ล้ำเหลือตัวแทนแกนนำกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยไทย ขึ้นอ่านแถลงการณ์โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1. ให้แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งทันที
2. ขอให้พรรคร่วมถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลทันที
3. การแสดงจุดยืนของมวลชนเพื่อแสดงพลังปกป้องอธิปไตยไทย
ก่อนที่สนธิอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะขึ้นปราศรัยในเวลาต่อมา พร้อมกับระบุในทำนองที่ว่า หากจะมีการปฏิวัติรัฐประหารก็เป็น ‘เรื่องของเขา’ ทั้งนี้ ขออย่าเอานายพลทหารมาบริหารอีก
“คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการรัฐประหาร รวมทั้งตัวผมเองก็ไม่ต้องการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารคือการเริ่มต้นใหม่ และทั่วโลกเขาไม่ยอมรับเรา” รณกรชี้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคือให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือประกาศยุบสภา “เพื่อคัดกรองคนที่มีศักยภาพ คนที่มีคุณภาพเข้ามาดูแลประเทศชาติเรา”
ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งทันที โดยจะทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ โดยรัฐสภาต้องลงมติ ‘เห็นชอบ’ ผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5 คน ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกุล พรรคภูมิใจไทย, ชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์
หากเกิดการ ‘ยุบสภา’ รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา
“เราอยากเลือกตั้งใหม่” หง่าวระบุ “อย่างน้อยก็ตัดความรุนแรงทางการเมืองออกไป และตัดความเสี่ยงจากการบริหารของแพทองธารออกไปด้วย เรายังคงยืนยันว่า การเลือกตั้งใหม่เป็นทางออกที่ดีกว่า”
ขณะที่ เอิร์ธ ผู้ร่วมชุมนุมวัย 21 ปี ซึ่งเดินทางมาร่วมชุมนุมกับเพื่อนวัยเดียวกันมีความเห็นว่าการยุบสภา ‘เป็นทางออก’ ของปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้
“ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ผมยังเชื่อในการเลือกตั้ง เพราะถ้าเสียงของประชาชนชนะ ผมคิดว่าจะมีพลังมากกว่า และเป็นประชาธิปไตยมากกว่า”
เมื่อถูกถามว่า ทหารควรเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ เอิร์ธ ตอบทันทีว่า “เขาก็มีหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ไม่ควรมายุ่งทางการเมือง” ขณะที่เพื่อนซึ่งยืนอยู่ข้างๆ พยักหน้าแสดงท่าทีเห็นด้วยกับคำตอบ
การชุมนุมเป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิม
รณกรในชุดลายธงชาติระบุว่า ไม่เคยมองผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นศัตรู “จะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ถือเป็นคนไทยเหมือนกัน” ขณะเดียวกันก็มองว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองเพราะ “เรามาเพื่อประชาธิปไตย และประชาธิปไตยคือ การที่เราสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ โดยไม่ทำให้เกิดความสูญเสียกับประชาชนด้วยกัน เราแค่ต้องการให้ประเทศชาติของเราไปได้ดีมากกว่านี้”
ขณะที่เอิร์ธแสดงทัศนะในฐานะหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมชุมนุมว่า “ผมอยากเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าใครจะเข้ามาบริหารก็มีหน้าที่ทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้นอยู่แล้ว” ทั้งนี้เขาเสริมว่า เขาอาจไม่ได้รับผลกระทบทางการเมืองมากนักหากเทียบกับผู้มีฐานะยากจน แต่มีความ ‘เข้าใจหัวอก’ ดีว่า การเป็นแรงงานพลัดถิ่นในปัจจุบันมีความยากลำบากอย่างไร
“ผมอยากเลือกตั้งแล้วครับ” เอิร์ธระบุ