ถอดรหัสดีล‘เวียดนาม-สหรัฐ’ไทยตกที่นั่งลำบากการเมืองไร้เสถียรภาพ
เส้นตายภาษีกำลังใกล้เข้ามาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเร่งเอาใจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ซื้อเครื่องบินโบอิงหลายสิบลำไปจนถึงนำเข้าถั่วเหลืองสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ผลข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอาจบั่นทอนกำลังใจหลายประเทศ
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การระงับภาษีศุลกากรตอบโต้เป็นเวลา 90 วันของทรัมป์โดยเก็บภาษีพื้นฐานจากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก 10% จะครบกำหนดในวันพุธ (9 ก.ค.) ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเวียดนามประเทศเดียวเท่านั้นที่ทำข้อตกลงกับสหรัฐสำเร็จ หลังโต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคุยโทรศัพท์กับทรัมป์ในวันพุธ (2 ก.ค.) ดูเหมือนอินโดนีเซียจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน หลังประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต คุยกับทรัมป์เมื่อเดือนที่แล้ว
เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศผ่านแอปพลิเคชันทรูธโซเชียลของตนเองว่า สินค้านำเข้าจากเวียดนามจะถูกเก็บภาษี 20% สินค้าจากประเทศอื่นที่ส่งผ่านเวียดนามต้องเจอภาษีสูงถึง 40% โดยเวียดนาม “เปิดตลาดทั้งหมด” ให้สหรัฐ
ตัวเลข 20% ต่ำกว่า 46% ที่ทรัมป์ประกาศไว้ตอนแรกมาก กว่าจะถึงจุดนี้เวียดนามต้องเจรจาทางเทคนิคกับสหรัฐหลายรอบ พร้อมส่งสัญญาณยินดีซื้อเครื่องบินจากโบอิงรวมถึงสินค้าพลังงานและเกษตรจากสหรัฐเพื่อลดการค้าไม่สมดุล
จะว่าไปแล้วเวียดนามเริ่มต้นมาดี ลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลวและรถยนต์มาตั้งแต่ก่อนการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ทั้งยังอนุญาตให้สเปซเอ็กซ์เปิดบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ในประเทศได้ ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามยังหารือกับภาคธุรกิจสหรัฐหลายรอบถึงโครงการที่มีศักยภาพและขจัดปัญหาอุปสรรคที่มี
นอกจากนี้เวียดนามยังเร่งโครงการกอล์ฟรีสอร์ทและที่พักหรูใกล้กรุงฮานอย มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ของกลุ่มบริษัทใหญ่ที่มีทรัมป์ออแกไนเซชันเป็นหัวหอก การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในเดือน พ.ค. อีกทั้งเอริก ทรัมป์ บุตรชายคนที่ 2 ของประธานาธิบดีสหรัฐ ยังเดินทางมาเยือนโฮจิมินห์ซิตี้เพื่อเลือกทำเลสำหรับอีกโครงการหนึ่ง
ในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเจอภาษีทรัมป์ในอัตรา 32% แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจกล่าวว่า ข้อเสนอของรัฐบาลจาการ์ตาที่จัดทำขึ้นหลังทรัมป์-ปราโบโว โทรศัพท์คุยกันเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ได้รับการตอบรับ “เป็นอย่างดี”
เมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ฮาร์ตาร์โตประกาศชุดมาตรการลดกฎระเบียบ เช่น ผ่อนคลายระเบียบการนำเข้าและยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย เขาระบุว่า ชุดมาตรการนี้ถือกำเนิดมาจากการเจรจากับรัฐบาลวอชิงตัน
ที่ผ่านมาอินโดนีเซียเชื้อเชิญบริษัทสหรัฐเข้ามาลงทุนในโครงการแร่ธาุตสำคัญและซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้าอยู่เสมอ เพิ่มเติมจากข้อเสนอก่อนหน้าของรัฐบาลจาการ์ตาว่าจะซื้อน้ำมัน ก๊าซ ถั่วเหลือง และข้าวสาลีจากสหรัฐเพิ่ม
ในวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) ฮาร์ตาร์โตกล่าวว่า อินโดนีเซียและพันธมิตรธุรกิจจะลงนามข้อตกลงชุดหนึ่งในสัปดาห์หน้า มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่ม โดยราว 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ใช้สำหรับซื้อพลังงานและสินค้าเกษตร ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า การูดาอินโดนีเซีย สายการบินแห่งชาติกำลังเจรจากับโบอิงเพื่อซื้อเครื่องบินมากถึง 75 ลำ
มาเลเซีย ซึ่งโดนภาษีค่อนข้างเบาที่ 24% ให้คำมั่นทำนองเดียวกันว่าจะลดการค้าไม่สมดุลกับวอชิงตันด้วยการนำเข้าแอลเอ็นจีนและสินค้าเกษตร อาทิ ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น รวมถึงแก้ไขอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และหาทางทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างกัน
“มาเลเซียให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่สัมพันธ์เหนียวแน่นกับสหรัฐ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และน้ำมันปาล์มเป้าหมายหลักคือได้ภาษีเป็น 0 สำหรับภาคส่วนเป้าหมาย เช่น ยานยนต์”เต็งกู ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมหัวหน้าคณะเจรจาของมาเลเซียกล่าวกับนิกเคอิเอเชีย
ในฐานะที่มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนในปี้นี้ นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวกับผู้นำอาเซียนเมื่อปลายเดือน พ.ค.ว่า เขาได้ทำหนังสือถึงทรัมป์ เสนอให้มีการประชุมผู้นำสหรัฐ-อาเซียนเพื่อขจัดความเสียหายจากความตึงเครียดด้านภาษี แต่ความพยายามผนึกพลังอาเซียนกลับไม่ได้รับความสนใจ
“เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของดุลการค้าระหว่างประเทศอาเซียนแต่ละประเทศกับสหรัฐจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะใช้แนวทางร่วมกัน ความเป็นจริงคือแต่ละประเทศอาจจบลงด้วยการสู้แค่ให้ได้ดีลที่สุดของตนเองเท่านั้น“ ลอว์เรนซ์ โลห์ อาจารย์วิทยาลัยธุรกิจเอ็นยูเอสในสิงคโปร์กล่าวและว่า ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียล้ำหน้าประเทศอื่นในการเจรจากับสหรัฐ ความพยายามของไทย ”จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะความไร้เสถียรภาพภายในเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี”
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่นิกเคอิรายงานข่าวนี้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ที่สหรัฐ โดยวอชิงตันเพิ่งตกลงเริ่มเจรจากับไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอัันดับสองของอาเซียน
ไทยเจอภาษี 36% ภาคธุรกิจอยากให้คณะเจรจาที่พิชัยเป็นผู้นำต่อรองให้ได้ราว 10%โดยไทยเสนอนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐเพิ่ม กลุ่ม ปตท.เคยลงนามข้อตกลงฉบับหนึ่งเมื่อปลายเดือน มิ.ย. นำเข้าแอลเอ็นจีปีละ 2 ล้านตันจาก Glenfarne Group ของสหรัฐเป็นเวลาราว 20 ปีนอกจากนี้ไทยจะพิจารณานำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองเพิ่มสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
- สิงคโปร์ย้ำปลอดภาษี 10% ก็ไม่เสีย
ด้านสิงคโปร์ซึ่งเผชิญภาษีในอัตราพื้นฐาน 10% กำลังผลักดันให้มีการผ่อนปรานในหลายภาคส่วน เช่น การส่งออกยา แต่ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลทรัมป์จะยอมลดหย่อนให้หรือไม่
สิงคโปร์ซึ่งขาดดุลการค้ากับสหรัฐ ตอกย้ำความจริงข้อนี้พร้อมเรียกร้องว่าศูนย์กลางการเงินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ต้องปลอดภาษีกระทั่งภาษีพื้นฐานก็ไม่ต้องเสีย
“ผมได้ย้ำให้เห็นว่า ภาษีส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจระบบเปิดขนาดเล็กของสิงคโปร์อย่างไร เราจะเดินหน้าติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้” วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวหลังพบกับมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย.
ส่วนฟิลิปปินส์กำลังเจอภาษี 17% ทั้งๆ ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ โฆษกทำเนียบมาลากันยังกล่าวว่า ทั้งสองฝ่าย “ติดต่อกันเสมอ” แต่ไม่สามารถเผยรายละเอียดได้มากกว่านี้ “เพราะติดขัดเรื่องข้อตกลงรักษาความลับ”
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ แสดง “ความพึงพอใจ” ว่า การเจรจายังคงดำเนินอยู่ นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่าข้อตกลงระหว่างทรัมป์กับเวียดนามอาจทำให้ประเทศอาเซียนอื่น ๆ “ลดแรงจูงใจ” ที่จะยอมประนีประนอมอย่างมีนัยสำคัญ
“คณะเจรจาของอาเซียนในวอชิงตันกำลังพยายามหาเหตุผลว่า สิ่งนี้มีความหมายกับการเจรจาของพวกเขาอย่างไร ในเมื่อเวียดนามยอมให้มากขนาดนี้ก็ยังโดนภาษีถึง 20%”นักวิเคราะห์กล่าว