โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘พล.อ.ณัฐพล’ ตอบกระทู้ฝ่ายค้าน ยันข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาเริ่มมีสัญญาณบวก

ไทยโพสต์

อัพเดต 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.29 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ผู้นำฝ่ายค้าน ประเดิมถามกระทู้สด ปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา "พล.อ.ณัฐพล" แจงยิบเริ่มมีสัญญาณบวก ผู้นำระดับสูงกัมพูชาเริ่มพูดคุย จ่อดึงถก "จีบีซี" หารือ 2 ประเด็น ถอนกำลังพล-ลดเข้มงวดมาตรการชายแดน ย้ำกองทัพทำตาม นโยบายรัฐบาล ซัด "อังเคิล" โพสต์คลาดเคลื่อนความจริง

3 กรกฎาคม 2568 - เมื่อเวลา 12.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องปัญหาชายแดนไทย กัมพูชา ของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชนชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ถาม รมว.กลาโหม โดยมีพล.อ.ณัฐพล นาคพานิช รมช.กลาโหม รักษาการรมว.กลาโหม เป็นผู้ชี้แจง

โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์วิกฤติไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศต้องการคือต้องการรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันต้องมีการเตรียมการสถานการณ์อย่างมีวุฒิภาวะ รอบคอบและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้านให้ความเกรงอกเกรงใจรัฐบาล ซึ่งการที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆเหล่านี้อย่างเข้มแข็ง และอย่างมีวุฒิภาวะเหมาะสมได้ มีมาตรการหลายส่วน ทั้งมาตรการทางด้านทหาร กดดันทางเศรษฐกิจ และมาตรการพุ่งเป้าไปยังเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลของผู้นำกัมพูชา ที่วันนี้เราได้เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คลิปเสียงหลุดนั้นล้วนเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ที่ตัวผู้นำประเทศใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำสองประเทศจนนำไปสู่วิกฤตในครั้งนี้ที่คลี่คลายยากยิ่งขึ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า รมช.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา(ศบทก.) ท่านเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้ถึงแม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่รอระหว่างการโปรดเกล้าฯ รอระหว่างการถวายสัตย์ปฏิญาณ ยังไม่มีสุญญากาศใดๆ เพราะท่านในฐานะรมช. ยังบริหารราชการแผ่นดินในส่วนนี้ทดแทนอยู่ และตามที่นายกฯ เคยวางแนวปฏิบัติไว้ก่อนหน้านี้ ว่ามาตรการต่างๆ ซึ่งนายกฯ เคยสื่อสารว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่ในบางกรณีหรือหลายกรณีนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ต้องใช้ไปเพื่อการสร้างแรงกดดันเพื่อป้องกันผลกระทบจากการ เคลื่อนไหวของกำลังทหาร และการใช้อาวุธที่ใช้ปฏิบัติการในระยะไกลของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมาตรการอื่นๆ เช่นมาตรการทางเศรษฐกิจนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.68 เป็นต้นมา มีรายงานข่าวที่สอดคล้องกันทั้ง 2 ประเทศระหว่างไทยและกัมพูชาว่ากัมพูชาได้ปรับกำลังถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทแล้วแต่พวกเราทราบกันดีว่าในขณะนี้เรื่องของการควบคุมด่านชายแดนที่รัฐมนตรี อาจจะใช้คำว่าเป็นการเปิดด่านแบบจำกัดเวลา พวกเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นมาตรการกดดันทางด้านเศรษฐกิจที่ ด้านหนึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบกับประชาชนคนไทยเป็นวงกว้างด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตนอยากเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องแสดงความเข้มแข็ง พวกเราไม่ได้เห็นต่างในเรื่องการใช้มาตรการกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายครั้งที่พรรคประชาชนได้เสนอข้อเสนอนี้ไปแล้ว แต่จะใช้อย่างไรให้เหมาะสม ใช้อย่างไรเพื่อแสดงออกว่ารัฐบาลบริหารสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ มีวุฒิภาวะ ไม่ดำเนินสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเกินความจำเป็น โดยสิ่งที่ตนอยากถามคือ ตอนนี้สถานการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาตามแนวชายแดนยังมีความตึงเครียด ความกดดันทางด้านทางทหารที่กัมพูชาดำเนินการอยู่ใช่หรือไม่ ถ้ามีมีอย่างไร

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่าภาพรวมว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่มีการเคลื่อนย้ายกำลังกลับจากจุดที่เผชิญหน้ากันอยู่ ในครั้งนั้นที่เราพยายามเจรจาฝ่ายกัมพูชาคือมีกำลังที่เผชิญหน้ามาอยู่ในระยะใกล้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อาวุธได้ ถ้ามีการเริ่มใช้อาวุธจะทำให้เหตุการตรึงเครียดและสถานการณ์อาจจะบานปลายได้ ถึงแม้กำลังที่ประเชิญหน้าจะเคลื่อนย้ายกลับไปแล้ว แต่กำลังส่วนที่เหลือที่มีจำนวนมากมีทั้งอาวุธหนัก รถถังและปืนใหญ่ยังเป็นกำลังละลอกสองที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ยังมีความเสี่ยงที่วันใดวันหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วอาจจะทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นที่ใช้อาวุธหนัก

พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ตนมีประสบการณ์ในปี 2554 ที่เขาพระวิหาร ในครั้งนั้นอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายมียังไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนจึงมีแนวทางในการดำเนินการคลี่คลายความตึงเครียดในบริเวณชายแดน โดยประการที่ 1 รัฐบาลได้ตั้ง ศบทก. ทำงานภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้กำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนบนพื้นฐานของสันติวิธีและการยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นรัฐของทั้งสองฝ่าย

“ด้วยประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นเลขาฯ สมช.เวลาประเทศมหาอำนาจใหญ่ใหญ่มาพูดคุยกับเรา ประเทศใหญ่เรานั้นไม่เคยแสดงความเป็นประเทศใหญ่เลยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน รัสเซีย เค้ามาเจรจากับเราเขายึดถือว่าเราก็เป็นประเทศหนึ่ง มหาอำนาจก็เป็นประเทศหนึ่งเพราะฉะนั้นเราก็จะยึดถือในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้การเจรจามุ่งเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยสันติและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลาย ซึ่งคำว่าลุกลามบานปลายมีสองอย่างคือ บานปลายทางด้านการใช้อาวุธ และบานปลายทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นศบทก.จะพยายามบูรณาการและขับเคลื่อนไม่ให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นบานปลายออกไป”พล.อ.ณัฐพล กล่าว

พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ ศบทก.และรัฐบาลหนักใจมาก ปัจจุบันในประเทศไทยมีสองกระแสคือ เพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนเรียกร้องให้รัฐบาลคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง และขอความเห็นใจว่าเขาประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งความปลอดภัย และเศรษฐกิจ และพี่น้องส่วนกลางในกทม.บอกว่าต้องยึดศักดิ์ศรีของเราเป็นหลักไม่อยากให้รัฐบาลอ่อนข้อ อยากให้ใช้มาตรการที่เข้งแข็ง ซึ่งปัจจุบันสังคมมีลักษณะอย่างนี้ จึงขอความเห็นใจทุกภาคส่วนในประเทศไทยว่าปัจจุบันคนมีความคิดกันอยู่สองกลุ่มอย่างนี้ ทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลและศบทก.แต่ละเรื่องต้องใช้ความรอบคอบและชั่งน้ำหนักให้ดี

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ประมาณที่ 2 รัฐบาลดำเนินการโดยตระหนักว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน อาจมรีการชี้นำของนักการเมืองหรือผู้นำบางคน แต่สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ให้มากคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศซึ่งมีชายแดนติดกัน แม้จะมีความขัดแย้งกันแต่ก็ไปไหนไม่ได้ก็ต้องอยู่กันอย่างนั้น ทุกคนตระหนักตระหนักดีอยู่แล้วว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเกิดจากส่วนบุคคลเพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่นำความตึงเครียดนี้ขยายไปสู่ประชาชนโดยทั่วไป ประชาชนจึงควรไม่มาเป็นเหยื่อทางการเมืองระดับรัฐจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย

พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ประการที่3 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวดบริเวณชายแดนเนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทางการกัมพูชาได้มีการสั่งกำลังเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่ชายแดน และฝ่ายไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมกำลังในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงแต่ขอย้ำว่าทุกการเคลื่อนไหวของไทยอยู่ในกรอบสันติวิธีและหลีกเลี่ยงการประทะโดยเด็ดขาดหากกัมพูชาไม่ล่วงล้ำอธิปไตยด้วยกำลังติดอาวุธ

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ประการที่ 4 ด้านการควบคุมชายแดนรัฐบาล ไทยยังมีความร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC รวมถึงประเทศพันธมิตรในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะแสตมป์เมอร์ที่มีข้อมูลว่าแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนจำนวนมากเราจึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบและควบคุมการเข้าออกตามแนวชายแดนอย่างเข้มข้นทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของประเทศ และประการที่ 5 ในทุกมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ ศบทก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยมุ่งหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนกัมพูชากลับคืนสู่สภาพปกติสุขโดยเร็วที่สุดทั้งด้านความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา ยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ณัฐพล กล่าวด้วยว่า กรณที่ว่ากองทัพมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งตรงกับที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าปัจจุบันทำโดยกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากใจ โดยตนเป็นรัฐบาลเป็นการเมือง แต่ด้วยความที่ยังมียศทำให้คนมองว่าตนเป็นทหาร ในความเป็นจริงก่อนที่ผมจะเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งนี้เป็นฝ่ายบริหาร ผู้ใหญ่มองว่าผมเป็นทหารแล้วมาเป็นรัฐบาล มีข้อดีตรงที่ว่าเวลาไปอยู่รัฐบาลผมก็เป็นการเมือง เวลาผมกลับไปกองทัพตนก็เป็นทหาร แต่ผลที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามที่คิด เวลาตนกลับไปกองทัพเขาก็มองว่าผมเป็นรัฐบาล เวลาผมอยู่ในรัฐบาลเขาก็มองว่าผมเป็นกองทัพ เพราะฉะนั้นปัจจุบันเวลาผมทำงานเป็นรัฐบาลตนก็ทำงานเป็นรัฐบาล โดยตนเป็นผอ.ศบทก.และการให้อำนาจบางประการกับกองทัพเป็นการชั่วคราวเฉพาะหน้า และอยู่ภายใจ้การกำกับของ ศบทก.เราประชุมกันทุกขั้นตอนไม่ได้ปล่อยให้กองทัพมีอิสระโดยลำพังอย่างที่วิจารณ์กัน

“ณ ปัจจุบันวันนี้ เริ่มมีสัญญาณบวก ทางฝ่ายระดับสูงของกัมพูชาเริ่มมีการคุย ที่ผ่านมาเขาไม่ยอมคุยแต่ 2-3 วันนี้เขาเริ่มมาคุยว่า เชิญ ไป เข้า ประชุมทวิภาคี จีบีซี มีเงื่อนไขอย่างไร ปัจจุบันด้วยสถานการณ์ทางด้านโซเชียลฯทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาทำให้การพูดคุยในเรื่องเงื่อนไขเราก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ขอเรียนว่า มีสัญญาณบวกอย่างน้อยเขามาคุยก็ถือว่าบวกแล้ว คุยรู้เรื่องไม่รู้เรื่อง ก็ต้องใช้ ความสามารถกันอีกทีหนึ่ง” พล.อ.ณัฐพล กล่าว

นายณัฐพงษ์ ถามอีกว่า ตนอยากได้ข้อเท็จจริงวัตถุประสงค์ชัดๆ ว่าตอนนี้ที่รัฐบาลยังคงมาตรการในการควบคุมด่านอยู่ มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการกดดัน สร้างแรงกดดันเพื่อนำไปสู่อะไร เพราะพวกเราเห็นว่าถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมแทนที่จะเป็นมาตรการในการสร้างแรงกดดัน จะกลายเป็นมาตรการสร้างความตึงเครียด ที่ทำให้การบริหารสถานการณ์เดินไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ส่วนมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการความมั่นคง และมาตรการทางเศรษฐกิจ คือมาตรการพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้นำหรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในประเทศกัมพูชา นั่นคือการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการดำเนิน คดีลอบสังหารฝ่ายค้านกัมพูชาในประเทศไทย จึงอยากจะถามความคืบหน้าทางรัฐบาลว่าเป็นอย่างไรบ้างในขณะนี้

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนทราบมาว่าทางกองทัพได้มีการประสานงานไปยังคณะที่ปรึกษาการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย หรือจัสแมกเพื่อประสานขอกำลังบำรุง และเครื่องกระสุนสหรัฐฯ ผ่านกลไกนี้ เพื่อเตรียมประสิทธิภาพของกองทัพไทย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ทราบว่าเรื่องนี้ถูกคว่ำลงเนื่องจากฝ่ายการเมืองปัดตกคำขอนี้ ดังนั้น ในฐานะที่ท่านอยู่ฝ่ายการเมือง พวกเราจึงอยากได้เหตุและผลว่าในเมื่อกองทัพขอรับการสนับสนุนเครื่องกระสุนสหรัฐฯ ผ่านกลไกจัสแมก ทำไมฝ่ายการเมืองจึงคว่ำข้อเสนอนี้ของกองทัพมีเหตุและผลอย่างไร เป็นเพราะเกร็งใจตอบประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ที่พวกเราก็รับรู้กันดีว่าประเทศมหาอำนาจนั้นให้การสนับสนุนกัมพูชามีฐานทัพเรือในประเทศกัมพูชาด้วยใช่หรือไม่

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า เรื่องความกดดัน ในห้วงเวลาที่ผ่านมาที่อังเคิลโพสต์มาตลอด ทำให้มีความรู้สึกว่าเราใช้ความกดดันและตึงเครียด ซึ่งมาตรการชายแดนยืนยันว่าไม่ได้กดดันอะไรมาก ไม่ได้ปิดด่าน มีเพียงการจำกัดการเข้าของบุคคลและยานพาหนะออกตามจุดผ่านแดนเท่านั้น แต่การโพสต์ในโซเชียลฯของผู้นำกัมพูชาทำให้รู้สึกว่ามีการกดดัน เช่น จุดผ่านแดนช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ที่ประตูฝั่งไทยเปิด แต่ประตูฝั่งกัมพูชานั้นปิด ดังนั้นสถานการณ์ความตึงเครียดนั้น ผู้นำกัมพูชา อยู่ที่พนมเปญอาจได้รับข่าวคลาดเคลื่อน ไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้พล.อ.ณัฐพล ได้นำภาพถ่ายปิด เปิดด้านของไทย และกัมพูชามาแสดง พร้อมกล่าวว่า เป็นของจริงไม่ได้จัดฉาก ถ้าสส. คนใดไปพบว่าที่ตนนำเสนอไม่เป็นความจริง สามารถเอามาประจานได้ทางสื่อเลย แต่นี่คือเรื่องจริงไม่ได้จัดฉาก

พล.อ.ณัฐพลกล่าวด้วยว่า การกดดันที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ แต่เรากดดันด้านกระบวนการอาชญากรรม ที่เป็นไปตามความร่วมมือกับUNODC ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ถึงปัจจุบัน สถิติสแกมเมอร์ลดลงได้ชัด ซึ่งสำนักวานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ต้องการให้มาตรการนี้ทำต่อไป แต่ถ้าเราทำต่อไปประชาชนตามแนวชายแดนจะได้รับความเดือดร้อน
“ผมเจ็บปวดเมื่อชาวบ้านที่จ.สระแก้ว จันทรบุรี ตราด ต่อว่า ว่าเขาไม่ได้ได้อยู่ในพื้นที่ตรึงเครียส ทำไมดึงเขามาเกี่ยวด้วย เขาตัดพ้อต่อว่ารัฐบาลว่าวางแผนในห้องแอร์ ฟังแล้วเจ็บปวดมาก ตรงนี้ผมข้อความเห็นใจ การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความยากมาก ทั้งนี้ผมไม่ได้นั่งทำงานในห้องแอร์ แต่รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งปัญหาที่เน้นย้ำคือ การแก้ปัญหาเศรฐกิจ หากปล่อยให้มีการปะทะจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงด้วยว่า บรรยากาศของจีบีซี ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะเขาหันมาคุยจากเดิมที่ไม่ยอมคุย และจะนำเรื่องขึ้นศาลโลกเท่านั้น แต่ปัจจุบีนกัมพูชาเริ่มหันมาคุยด้วยแล้ว แต่เงื่อนไขในการต่อรองในที่ประชุมจีบีซี จะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงาน ส่วนคดีการลอบสังหารนักการเมืองของกัมพูชาในประเทศไทยปัจจุบันปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสตช. ตนขอไม่ชี้แจงเพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับการประสานจัสแมก ตนเป็นเลขาฯสมช.มาก่อน ความมั่นคง ยึดถือนโยบายสมดุลเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทุกประเทศเราจะพยายามระมัดระวังไม่ให้ประเทศไทยผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งนี้มีการนำเสนอว่าที่กัมพูชาทำแบบนี้เพราะได้รับการสนับสนุนจากประเทศทางตอนเหนือของเรา แต่เอกอัครราชทูตของประเทศนั้นชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง การฝึกดราก้อนโกลด์ ก็ไม่ได้ฝึกเพื่อมายั่วยุฝ่ายเรา แต่ไทยฝึกคอบบร้าโกลด์กับอีกประเทศหนึ่ง กัมพูชาฝึกดราก้อนโกลด์กับอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะเป็นเรื่องความร่วมมือทางทหาร

“ขอย้ำว่ากองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง กองทัพต้องทำตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้รักษาความสมดุล ถ้าดึงประเทศหนึ่งเข้ามาจะทำให้กระทบต่อความสมดุลของภูมิรัฐศาสตร์ได้”พล.อ.ณัฐพล กล่าว

นายณัฐพงศ์ ถามคำถามที่3 ว่า ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าเขาไม่ได้อยู่บริเวณข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง ทำไมถึงได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาลด้วย จึงอยากฝากไปว่าการดำเนินมาตรการให้ลงรายละเอียด และสื่อสารให้ชัดเจนด้วย และวันนี้ที่เราเดินมาถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเห็นว่าเรากำลังเสียเปรียบเพราะที่ผ่านมารัฐบาลเสียรู้ เสียรู้ในที่นี้คือประเด็นคลิปเสียงหลุด เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าเราเสียรู้เรื่องอะไร และคำถามสุดท้ายคือรัฐบาลได้เคยใช้มาตรการทางการทูตเชิญรุก ในการประสานไปยังประเทศที่สาม เช่น ประเทศมหาอำนาจ ในการกดดันกัมพูชาให้กลับมาคุยในระดับทวิภาคีกับประเทศไทยหรือไม่

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกระบวนการให้ใช้การเจรจาผ่านการประชุมคณะกรรมการเรื่องเขตแดน (จีบีซี) หากทำสำเร็จ จะหากรือใน 2 เรื่องคือ การเคลื่อนย้ายกำลังกลับที่ตั้งปกติ เลี่ยงความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และยกเลิกมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ลงตัวเพราะต่างฝ่ายยังระแวง จากโซเชียลฯ

“เราเสียรู้เรื่องการสื่อสาร การตอบโต้กันไปมา ผ่านโซเชียลฯกับอังเคิล นั้นไม่ได้ทำแบบทางการ และหากตอบโต้กันไปมาจะทำให้เป็นปัญหาได้ จริงๆการเมืองระหว่างประเทศควรจะมีการตอบโต้กันทางหนังสือราชการ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการตอบโต้ทางหนังสือราชการสักฉบับเดียว และเมื่ออังเคิลบอกว่าไทยผิดฝ่ายเดียว กัมพูชาไม่ผิด จึงใช้การตอบโต้แบบชี้แจงข้อเท็จจริง นำภาพให้ดู ไม่ใช่โต้กันไปกันมา ซึ่งไม่สามารถยุติการตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ รัฐบาลโดย ศบทก. กำลังดำเนินการ ขณะที่มาตรการทางการทูต รัฐบาลได้ทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการทูตทางทหาร โดยเน้นย้ำเรื่องนโยบายสมดุล และมีข้อห่วงใยที่ประเทศเพื่อนบ้านทำ” พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยโพสต์

‘นิพิฏฐ์’ ฟาดเดือด ‘พรรคประชาชน’ ทำนิติสงครามครึ่งซีก!

38 นาทีที่แล้ว

กองทุน ‘คริสตินา อากีล่าร์’ ส่งมอบเงินบริจาคให้ UNFPA

52 นาทีที่แล้ว

ร่องมรสุมกำลังแรง! กรมอุตุฯ เปิดพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักในอีก 24 ชม.ข้างหน้า

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เสียงปริ่มน้ำอันตราย! ‘ชูศักดิ์’ รับนับองค์ประชุมคืออุทาหรณ์ โบ้ยพรรคร่วมฯมาน้อย

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม