กัมพูชาสอดไส้ "วรรณกรรมไทย" อิเหนา-พระเวสสันดร ยื่นขอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จริงหรือไม่?
ไกรทอง พระสังข์ พระเวสสันดร อิเหนา รามเกียรติ์ นี่ล้วนเป็นชื่อวรรณกรรมไทย ที่เราอาจคุ้นเคยจากหนังสือเรียน แต่ทำไมถึงกลายเป็นวรรณกรรม ที่กัมพูชานำไปใช้เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อยื่นขอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย เพจ ASEAN มองไทย ที่ตรวจพบว่า ย้อนไปเมื่อปี 2008 กัมพูชาได้ยื่นขอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อองค์การยูเนสโก คือ Royal Ballet of Cambodia หรือแปลไทย คือ ละครหลวงกัมพูชา
นี่เป็นสาขาเดียวกับโขน รำโนราห์ และสงกรานต์ และชุดไทย ของไทย
ประเด็นคือบทละคร / วรรณกรรม ประกอบการแสดงของกัมพูชา ดูเหมือนจะเป็นวรรณกรรมของไทย ไม่ใช่เพียงเรื่องสองเรื่อง แต่มากถึง 22 เรื่อง
เมื่อ TNN เข้าไปดูเอกสารตัวจริงในเว็บไซต์ของ UNESCO ก็พบเอกสารดังกล่าวจริง ๆ โดยในหน้า 28 นั้น มีรายชื่อบทละคร/วรรณกรรม 22 เรื่อง ซึ่งเมื่ออ่านเป็นภาษาไทยแล้ว กลับตรงกับชื่อวรรณกรรมไทยอย่างประหลาด อาทิ
ไกรทอง พระสมุท พระสังข์ พระเวสสันดร อิเหนา รามเกียรติ์ พระสุธน-โนราห์ กากี สีดำลุยเพลิง เป็นต้น
โดยมีระบุปีที่ประพันธ์บทละครและวรรณกรรมนั้นอย่างชัดเจน บางเรื่องระบุว่า ไม่แน่ชัดเรื่องเวลา
TNN เคยพูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐพร ไทยจงรักษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กัมพูชา มศว. ที่ชี้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไทย สร้างอิทธิพลให้ชนชาวเขมรมานานกว่า 100 ปีแล้ว
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นชาวกัมพูชาบางส่วนก็ยังมองไทยเป็นผู้รุกราน แย่งชิง หรือ แม้แต่รู้สึกว่าสยามเป็นผู้ขโมยวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองของชนชาติเขมรไป
สำหรับเรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นความพยายามของกัมพูชา เพื่อสอดไส้ของไทย เพื่อจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในระดับสากล เหมือนกรณีชุดไทยหรือไม่
เพราะอย่างไกรทองนั้น เป็นพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2
พระสังข์ เป็นพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1
และอิเหนา เป็นพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2
ซึ่งล้วนเป็นวรรณกรรมที่คนไทยรู้จัก คุ้นเคยดี และเมื่อทราบถึงข้อมูลนี้ สังคมออนไลน์ก็วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมนี้ของกัมพูชาอย่างหนัก และตั้งคำถามไทยว่า ทำไมถึงไม่คัดค้าน ปล่อยให้การขอขึ้นทะเบียนสำเร็จ
ด้านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลนี้แล้ว และมอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประสานกับกรมศิลปากร กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง โดยย้ำว่า “ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและรอบคอย” เสียก่อนที่จะดำเนินการต่อไปใด ๆ
อย่างไรก็ดี อาจารย์ทอม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เปิดเผยกับช่อง 7 สี ว่า การขึ้นทะเบียนการแสดงของกัมพูชานั้นสามารถกระทำได้ แต่เมื่อนำวรรณกรรมของไทยเป็นบทละคร ได้ให้เครดิตฝั่งไทยหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยังต้องตรวจสอบ
แต่ในขณะเดียวกัน ไทยก็สามารถนำวรรณกรรมไปขึ้นทะเบียนเองได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชาเตรียมบังคับใช้การเกณฑ์ทหารปีหน้า ชี้ความตึงเครียดกับไทยเป็นสาเหตุ
- กัมพูชาได้รับมรดกโลกเพิ่ม 3 ที่จากยูเนสโก
- "มาริษ" ย้ำ จีนไม่ได้เสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยไทย-กัมพูชา
- “เจ๊หงส์”-“ลุงแดง” แห่งหนานหนิง ลวงชายหลับนอน 1,691 คน สะท้อนอะไรในสังคมจีน?
- เปิด 5 แนวทางดูแล "แรงงานกัมพูชา" ผ่อนผันอยู่ต่อได้อีก 6 เดือน