“Wisk Aero” เดินหน้าทดสอบ “แท็กซี่บินได้” เข้าสู่ยุคการเดินทางที่ไร้มลพิษ
วิสก์ แอโร่ (Wisk Aero) บริษัทผู้พัฒนาแท็กซี่บินได้พลังงานไฟฟ้า ในเครือบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่างโบอิ้ง (Boeing) เผยการพัฒนาแท็กซี่บินได้ หน้าตาคล้ายเครื่องบินขนาดเล็ก ที่สามารถทำการบินแบบอัตโนมัติไร้คนขับ รับส่งผู้โดยสาร เพื่อการเดินทางแบบไม่ปล่อยมลพิษ
แท็กซี่บินได้พลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้ นับเป็นการพัฒนารุ่นที่ 6 โดยสามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง บรรทุกผู้โดยสารได้ 4 คน และสามารถทำการบินและใช้ระบบนำทางด้วยตนเองโดยมีมนุษย์คอยตรวจสอบการบินจากภาคพื้นดิน
แนวคิดของการพัฒนาแท็กซี่บินได้ลำนี้ คือเพื่อใช้เป็นยานพาหนะขนส่งทางอากาศสำหรับการเดินทางระยะสั้นราว 15 - 20 นาที สามารถบินได้ที่ระดับความสูง สูงสุดถึง 10,000 ฟุต หรือราว 3,000 เมตร แต่ในการให้บริการเชิงพาณิชย์จะจำกัดความรู้อยู่ที่ราว 4,000 ฟุตหรือราว 1,200 เมตร เป็นส่วนใหญ่ และให้ระยะทางการบินได้สูงสุด 115 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ
แท็กซี่บินได้ลำนี้ มาพร้อมกับการออกแบบใบพัดมากถึง 12 ใบ พร้อมระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ที่บริษัทเผยว่าได้ปรับปรุงใหม่ รองรับการทำความเร็วในการบินล่องอยู่ที่ประมาณ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จุดเด่นของแท็กซี่บินได้ลำนี้ คือความสามารถในการขึ้นบินในแนวดิ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีรันเวย์ เอื้อให้สามารถใช้งานในเมืองได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นบริษัทหวังว่าในอนาคต จะสามารถใช้แท็กซี่บินได้ลำนี้ ขนส่งผู้โดยสารไปรอบ ๆ สถานที่จัดงานโอลิมปิกปี 2032 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย
โดยปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบการบิน เพื่อขอการรับรองจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มดำเนินการในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก ส่วนราคาเป้าหมายในการให้บริการอยู่ที่คนละ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อไมล์ หรือคิดเป็นเงินไทยคือประมาณ 100 บาทต่อระยะทาง 1.6 กิโลเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขยะผ้าอ้อมล้นเมือง สหรัฐฯ ใช้เชื้อราช่วยย่อยสลาย
- ลงดาบ ปิด รง.กลั่นน้ำมันยางรถยนต์-พลาสติก พบ ปล่อยน้ำเสีย-ไร้ใบอนุญาติ
- ยานบินไฮเปอร์โซนิก มัค 5 จากอเมริกา อัปเกรดเครื่องยนต์ให้กลับมาใช้ซ้ำได้ดีขึ้น สั่งเพิ่มทีเดียว 16 ตัว
- สหรัฐฯ ขนเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง และเรือบรรทุกเครื่องบินรับมือปัญหาอิสราเอล - อิหร่าน !
- เจาะเครื่องบิน KC-135 และ KC-46A เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงของอเมริกา ล่าสุดลงจอดในทวีปยุโรปแล้ว