รองผบ.ทหารสูงสุด ประชุมวางแนวทางกดดันขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ-ค้ามนุษย์
รองผบ.ทหารสูงสุด ประธานประชุม ศอ.ปชด. ครั้งที่ 3/2568 วางแนวทางกดดันขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ-ค้ามนุษย์
กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ศอ.ปชด.) ครั้งที่ 3/2568 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือแนวทางการเพิ่มมาตรการกดดันต่อกลุ่มขบวนการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและค้ามนุษย์บริเวณชายแดน
ที่ประชุมได้รับฟังการชี้แจงสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และผลการปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานมติสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2568 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 เพื่อให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางที่ สมช. กำหนด ดังนี้
1. เห็นชอบกรอบแนวคิด ท่าที และแนวทางการดำเนินการต่อการแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
2. มาตรการรองรับสถานการณ์ความมั่นคงในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
3. มาตรการกดดันกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
4. มาตรการกดดันกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ในวาระการหารือ มีการเสนอแนวทางการยกระดับมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ โดย หน่วยเฉพาะกิจ 88 (ฉก.88) ได้เสนอแนวทางเข้มข้น เช่น การตัดกระแสไฟฟ้า การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การออกคำสั่งห้ามบุคคลข้ามแดนไปทำงานในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การใช้อำนาจควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก การเข้มงวดในการขอเปิดบัญชีธนาคาร และการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราการนำเข้า-ส่งออกเครื่องมือสื่อสาร
ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ได้นำเสนอข้อเสนอในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อกิจกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลังจากมีการใช้มาตรการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงแนวทางมาตรการ 8 ข้อ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ให้ถือปฏิบัติ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ โดยให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลที่จำเป็น สนับสนุนการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดทางเทคโนโลยี
ในส่วนของฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอเป้าหมายเชิงนโยบายในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ พร้อมมาตรการเชิงรุกของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนหรือการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจ (War Room) การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เพื่อใช้ในการควบคุมพื้นที่และควบคุมสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ผลการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ตามลำดับ