บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมถกงบ 4.2 หมื่นล้าน รับมือภาษีทรัมป์
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมเตรียมพิจารณารายละเอียดการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ที่มีวงเงินเหลืออยู่ 42,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในการพิจารณาวงเงินงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือ อยู่ 42,000 ล้านบาท นั้น ล่าสุดในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อวานนี้ได้หารือถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ เพื่อไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรับมือผลกระทบจากภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ (Reciprocal Tariffs)
ทั้งนี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ยอมรับว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้หารือกันถึงการกำหนดกรอบและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของโครงการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและระยะเวลาในการเบิกจ่ายหรือผูกพันงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2568 หรือก่อนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งกระบวนการเบิกจ่ายจะต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการรายงานว่า ข้อมูลคำขอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้งบประมาณ 157,000 ล้านบาท ของจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และอบต.) ที่เสนอเข้ามามีตัวเลขไม่ตรงกัน แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนแรกคือ คำขอจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ที่ส่งมายังสำนักงบประมาณ จำนวน 8,010 รายการ วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกส่วนคือคำขอที่ผ่านการตรวจสอบระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง มีจำนวน 9,821 รายการ วงเงินกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนมีตัวเลขที่ไม่ตรงกันค่อนข้างมาก
อีกทั้งเมื่อพิจารณากรอบระยะเวลาของโครงการที่เสนอเข้ามาแล้ว ยังพบอุปสรรคสำคัญ นั่นคือการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของจังหวัดและท้องถิ่น อาจจะไม่ทันตามกำหนดภายในวันที่ 30 ก.ย. 2568 เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และยังทับซ้อนกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำ ปี พ.ศ. 2569 ในวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงเดือนส.ค.นี้ด้วย
ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ทบทวนการใช้งบประมาณดังกล่าวที่เหลืออยู่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การตรวจสอบข้อเสนอโครงการ และกรอบระยะเวลา (Timeline) เป็นหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการนำเสนอว่า
ปัจจุบันสถานการณ์การเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกายังไม่ยุติ แต่จะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2568 ชะลอตัวลงจากที่คาดไว้เดิม ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะใช้กับไทย หลังวันที่ 1 ส.ค.2568 เป็นต้นไป ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนสำรองเพื่อเสนอโครงการใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ตรงเป้ามากกว่าด้วย