เผยเส้นทาง "พายุวิภา" เปิดพื้นที่ 18 จังหวัด เสี่ยงฝนตกหนัก
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 เพจกรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่การอัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 07.00 น. ของวันถัดไป) พร้อมแสดงข้อมูลทิศทางลมที่ระดับความสูง 925 hPa (ประมาณ 750 เมตร) ล่วงหน้า 15 วัน ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม 2568
โดยการวิเคราะห์นี้อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) ซึ่งใช้แบบจำลองเพื่อคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคต โดยในแผนที่พยากรณ์ สีแดงแสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก ส่วนสีเขียวแสดงพื้นที่ที่มีฝนเล็กน้อย
23-24 ก.ค.68 เป็นช่วงที่ประเทศไทยตอนบน ยังคงฝนเกือบทั่วไปตกต่อเนื่อง บริเวณที่มีตกหนักถึงหนักมาก ดังนี้
- ภาคเหนือ (น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก)
- ภาคอีสานตอนบน (บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย)
- ภาคกลาง (กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี)
- ภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด)
- ภาคใต้ตอนบน (เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร )
ปัจจัยหลักๆมาจากอิทธิพลของพายุ"วิภา" ซึ่งอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และมรสุมมีกำลังแรงพัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุ รวมทั้งมีร่องมรสุมพาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ จะต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันเป็นพิเศษ แม้พายุนี้จะอ่อนกำลังลงแล้ว
แต่จะส่งผลกระทบทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก ต้องระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งได้ในพื้นที่ดังกล่าว
โดยเฉพาะช่วง 23-24 ก.ค.68 ต้องเตรียมการรับมือและเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องอพยพ รวมทั้งอาจมีลมแรงหลายพื้นที่ และคลื่นลมมีกำลังแรง โดยเฉพาะช่วง 23 - 25 ก.ค.68 ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระวัง คลื่นลมแรง เรือเล็กงดออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ยังต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
สำหรับพายุโซนร้อน"วิภา(WIPHA)" เวลา 01.00 น.ได้อ่อนกำลังลง เป็นพายุดีเปรสชัส แล้ว และเวลา 04.00 น. ศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว (ห่างจาก จ.น่านประมาณ 180 กม.) กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กม./ชม.
คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ 26 ก.ค.- 6 ส.ค.68 ช่วงแรกยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ส่วนบริเวณอื่นๆ ฝนมีแนวโน้มลดลงอยู่ในเกณฑ์กระจายเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ต้องระวังฝนสะสมในลุ่มน้ำต่างๆ ไปอีก 1-2 วัน ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น คลื่นลมเบาลง (ข้อมูลหรือเส้นทางของพายุฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องในช่วงที่พายุกำลังเข้าใกล้ชายฝั่ง ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศเบื้องต้น)