เศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่อาจจะแยกตัวจากจีน แต่ทำไมค้าขายจึงเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว
รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ในรายงานข่าวของ The New York Times (NYT) เรื่อง Before Trump, Indonesia Had Another Trade Headache: China ได้ให้ภาพรวม และรายละเอียดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างอินโดนีเซียกับจีน แต่อินโดฯเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดมา ไว้ว่า กว่า 10 ปีมาแล้ว พ่อค้าร้านขายเสื้อผ้าชื่อ Rudi Hendri มีร้านอยู่ที่ตลาด Tanah Adang กรุงจาการ์ต้า โดยขายเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นในอินโดฯ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีนักธุรกิจจีนมาเยือน พร้อมกับข้อเสนอ หลังจากนั้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด
นักธุรกิจจีนนำตัวอย่างชุดนักกีฬา ที่ทำจากโรงงานในจีน เป็นสินค้าผลิตอย่างดี และมีราคาถูกกว่าที่ผลิตในอินโดฯ พ่อค้าเสื้อผ้าอินโดฯอย่าง Rudi Hendri ไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอนี้ได้ ทุกวันนี้ เขามีร้านค้า 3 ร้าน และมีหุ้นส่วนกับโรงงานผลิตในจีนหลายแห่ง เขากล่าวกับ NYT ที่ในร้านที่มีเสื้อผ้าจีนกองเป็นภูเขาว่า “หากสินค้ามีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ผมก็จะเลือก”
“ค้าขายกับจีนคือทำลายการจ้างงาน”
NYT บอกว่า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์บ่นออกมาว่า ค้าขายกับจีนคือทำลายการจ้างงานนั้น คำพูดนี้ส่งเสียงดังกึกก้องมาถึงอินโดนีเซีย แต่เป็นการจ้างงานที่อินโดฯไม่สามารถไปแข่งขันได้ อินโดฯต้องรับมือกับอิทธิพลจากจีน ในทุกมิติทางเศรษฐกิจของจีน มานานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว
Redma Gita Wirawasta ประธานสมาคมผู้ผลิตเส้นใยผ้าอินโดฯกล่าวว่า “ฉากทัศน์เลวร้ายสุดไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราไม่สามารถส่งออกได้” ซึ่งเขาหมายถึงภาษีทรัมป์ที่จะเก็บกับสินค้าอินโดฯ แต่ “ฉากทัศน์เลวร้ายสุดคือ สินค้าจีนมากขึ้นและมากขึ้น ที่นำเข้ามาในอินโดฯ”
สองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสิ่งทอได้ผลกระทบมากที่สุด จากเสื้อผ้าจีนที่เข้ามาท่วมตลาดผู้บริโภค การแข่งขันจากสินค้าจีนราคาถูก ได้ทำลายโรงงานสิ่งทอท้องถิ่น ห่วงโซ่อุปทานในประเทศทั้งหมดกำลังพังทลายลง ประธานสมาคมเส้นใยผ้าคาดการณ์ว่า นับจากปี 2023 มีคนงานถูกปลดไปแล้ว 3 แสนคน
แรงกดดันเสื้อผ้าจากจีนรุนแรงมาก จนโจโควี ประธานาธิบดีคนที่แล้วขู่ที่จะขึ้นภาษี 200% กับสินค้าจีน ส่วนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ปราโบโว สุเบียนโต ถึงกลับเรียกร้องให้จมเรือที่ลักลอบนำเข้าเสื้อผ้า ที่ส่วนใหญ่มาจากจีน
จีนกลับเร่งส่งออก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี
วิกฤติสินค้าจีนของอินโดฯ เกิดขึ้นในช่วงที่ จีนเองก็เร่งการส่งออก เพราะเศรษฐกิจในประเทศเติบโตช้าลง เนื่องจากการบริโภคภายในอ่อนตัว โรงงานจีน ที่ได้เงินกู้สนับสนุนจากรัฐบาล จึงหันเหมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอยู่ใกล้และตลาดมีศักยภาพสูง อินโดฯเองมีประชากร 284 ล้านคน
นับจากที่ทรัมป์ขึ้นภาษีล่าสุดกับสินค้าจีน ทำให้ตลาดใหญ่สุดของโลกปิดประตูสินค้าจีน การส่งออกของจีนมาภูมิภาคนี้ จึงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เดือนมิถุนายน 2025 จีนส่งออกมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่ม 17.5% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว เดือนเมษายน อินโดฯนำเข้าจากจีนเพิ่งขึ้นถึง 51%
การที่ภูมิภาคนี้นำเข้าจากจีนมาก ยังไปกระตุ้นความไม่พอใจของทรัมป์ ที่มองว่า จีนใช้วิธีการเปลี่ยนเส้นทางส่งออกมาสหรัฐฯ โดยผ่านมาทางภูมิภาคนี้ เพื่อเลี่ยงภาษีใหม่สหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนเส้นทางส่งออกของจีน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของอินโดฯ เหมือนกับผ่านทางเวียดนาม สินค้านำเข้าจากจีนส่วนใหญ่ทั้งหมด ขายให้กับคนอินโดฯ
ทางแก้ปัญหาไม่ใช่ “กีดกันจีน”
รายงานข่าวของ NYT ให้ความเห็นว่า ทางออกของอินโดฯ รวมทั้งประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกีดกันและต่อต้านจีน อินโดฯต้องพึ่งพาจีนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปาล์มน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดฯ
แต่ความสามารถของจีนในการผลิตสินค้าได้ในราคาถูกและปริมาณมาก โดยผู้ส่งออกจีนที่ได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาล ความหมายว่า ในการค้าขายกับจีนนั้น อินโดฯจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเปรียบเสมอ ส่วนเศรษฐกิจอินโดฯก็เชื่อมโยงอย่างซับซ้อนกับจีนเป็นอย่างมาก จนมีการคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลดลง 1% จะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจของอินโดฯลดลง 0.3%
ในต้นทศวรรษ 2000 สมาคมอาเซียนทำข้อตกลงการค้ากับจีน กำหนดให้สมาชิกอาเซียน รวมทั้งอินโดฯ ต้องลดภาษีศุลกากรแก่สินค้าจีนแทบทั้งหมด Euben Paracuelles นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาร Nomura ให้ความเห็นว่า “สิ่งนี้คือเหตุผลหลักว่า ทำไมจีนเห็นอาเซียนเป็นตลาดส่งออก ที่จีนสามารถกระจายความเสี่ยง”
“การทูตเศรษฐกิจ” ของอินโดฯ
ส่วนบทความเรื่อง Indonesia’s Economic Diplomacy ของ Asia Pacific Foundation of Canada กล่าวว่า การที่อินโดฯมีเป้าหมายต้องการทำให้เศรษฐกิจทันสมัย ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรม ทำให้ต้องพยายามรักษาความสมดุลกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด 2 ประเทศ คือจีนกับสหรัฐฯ
ภาษีทรัมป์ทำให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อภาคส่งออกของอินโดฯ คือ ยานยนต์และอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอและรองเท้า แต่ในการแสวงหาเส้นทางความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสหรัฐฯนั้น อินโดฯก็ต้องระมัดระวังในการก้าวเดินของความสัมพันธ์กับจีน เพราะความสัมพันธ์กับจีนมีมากกว่าการค้า แต่ยังประกอบด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีมากกว่า 21,000 โครงการทั่วประเทศ
ความแตกต่างด้านความสัมพันธ์ ที่อินโดฯมีกับจีนและกับสหรัฐฯ สะท้อนความไม่สมดุลระดับมูลฐานของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีนเข้ามาลงทุน และดำเนินการเรื่องความร่วมมือทางอุตสาหกรรมการผลิต แต่สหรัฐฯ แม้จะมีคุณค่ามากในเรื่องการเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีมูลค่าสูง แต่ความสัมพันธ์มีลักษณะเป็นเพียง “ธุรกรรม” (transactional)
ส่วนการลงทุนของจีนถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินโดฯ โครงการที่โดดเด่นคือรถไฟความเร็วสูงจาการ์ต้า-บันดุง เงินลงทุน 7 พันล้านดอลลาร์ เปิดดำเนินการเมื่อตุลาคม 2023 นิคมอุตสาหกรรม Morowali และการลงทุนพื้นฐานในเมืองหลวงใหม่ Nusantara
นอกเหนือจากรักษาความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจเศรษฐกิจแล้ว เพื่อให้มีความคล่องตัว และทางเลือกในการค้ามากขึ้น อินโดฯจึงสนับสนุนการรวมตัวเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งภายในอาเซียนและ RECEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ขยายความร่วมกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหภาพยุโรป และประเทศอ่าวเปอร์เซีย
แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาท้าทายแค่ไหน เจ้าหน้าที่อินโดฯกล่าวว่า อินโดฯมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สถาปัตยกรรมเศรษฐกิจ” ที่ประกอบด้วยหลายส่วน คือ (1) ให้มีความคล่องตัวมากที่สุด (2) พึ่งพาประเทศใดหนึ่งน้อยที่สุด และ สุดท้าย (3) ปกป้องผลประโยชน์ประเทศ
เอกสารประกอบ
Before Trump, Indonesia Had Another Trade Headache: China, July 18, 2025, nytimes.com
Indonesia’s Economic Diplomacy: Leaning on China, Bargaining with Washington, July 9, 2025, asiapacific.ca