‘สปสช.กับ Money Power’… ในวันที่บริการสาธารณสุขไทยรวนทั้งระบบ
ล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนของโรงพยาบาลในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)ได้ประกาศหลักเกณฑ์การตรวจสอบการให้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด หากการสุ่มตรวจพบว่าได้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขของสปสช. จะถูกเรียกเงินคืน 100% ส่งผลให้บรรดาโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ลุกขึ้นมาร้องเรียนถึงความเป็นธรรมของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่บริหารจัดการโดยสปสช.
‘ไทยพับลิก้า’ได้พูดคุยกับนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี อดีตประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โดยได้เล่าที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ประเด็นร้อนที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้คือเรื่องของงบผู้ป่วยในของบัตรทอง(กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เรารู้จักในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค) ตามปกติงบประมาณที่โรงพยาบาลรัฐผิดชอบหลักๆเลยคืองบเหมาจ่ายผู้ป่วยนอกกับงบผู้ป่วยใน ซึ่งการรักษาบัตรทองสำหรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในนี้ โรงพยาบาลเอกชนไม่เข้ามาให้บริการใดๆ เพราะงบประมาณที่จ่ายให้หน่วยบริการน้อยกว่าต้นทุนเยอะมาก จึงมีแต่โรงพยาบาลรัฐที่ถูกบังคับให้รับบริการ
นพ.อนุกูลกล่าวว่า ประเด็นการให้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐเป็นประเด็นหนักหนาสาหัส เพราะว่าสปสช.จ่ายต่ำกว่าต้นทุนเยอะมาก จากการศึกษาต้นทุนผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลรัฐศึกษาวิจัยร่วมกับทางทีมสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ต้นทุน 1 หน่วย เรียกเป็นหน่วยสัมพัทธ์ โดย 1 หน่วยประมาณ 13,000 บาท/หน่วย เช่น ถ้าเป็นไส้ติ่ง น้ำหนักประมาณ 1.4 หน่วย ก็ 1.4 คูณ 13,000 บาท ถ้าสวนหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบประมาณ 8 หน่วย ก็เอา 8 คูณ 13,000 บาท เป็นต้นทุนของโรงพยาบาลรัฐ ที่มีทั้งค่าแรง ค่าของ ค่าวัสดุ ค่ายา เป็นต้น (ซึ่งเทียบกับภาคเอกชนหรือโรงพยาบาลโรงเรียนถูกกว่ามาก) ขณะที่โรงเรียนแพทย์ต้นทุนผู้ป่วยในประมาณ 25,000-30,000 บาทหน่วย(น้ำหนักสัมพัทธ์เป็นหน่วย 1 หน่วยของผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐ หมายความว่า ถ้าน้ำหนักหน่วยเยอะแสดงว่าต้องใช้ทรัพยากรเยอะ น้ำหนักน้อยก็ต้องใช้ทรัพยากรน้อย)
แต่ข้อเท็จจริงที่ สปสช. จ่ายค่าผู้ป่วยในให้โรงพยาบาลรัฐกลับเป็นงบประมาณปลายปิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยสปสช.กำหนดตั้งแต่ต้นปีว่าปีนี้จะงบจ่ายค่าผู่ป่วยใน 8,350 บาท ต่อหน่วย (ขณะที่ต้นทุนอยู่ 13,000 บาท/หน่วย) สปสช.ใช้วิธีการอย่างนี้มาตลอด ซึ่งโรงพยาบาลรัฐรายใดที่รักษาผู้ป่วยเยอะก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ร่วมให้บริการใดใด เพราะไม่คุ้มทุนในการให้บริการ
“ปัญหาเรื่องค่าบริการผู้ป่วยในที่สปสช.จ่าย เป็นปัญหาสะสมมาเรื่อยๆ ปรากฏว่า 2-3 ปีหลัง เพราะงบประมาณผู้ป่วยใน สปสช.ได้งบประมาณปลายปิดมาจากรัฐบาล แล้วก็บอกว่า ‘ปลายปิด แล้วงบไม่พอ’ แล้วถึงปลายปี งบที่จ่ายที่ 8,350 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่แล้ว สปสช.ก็ขอปรับลดอีกในช่วง 4 เดือนสุดท้าย 5 เดือนสุดท้าย เหลือ 7,000 บาทต่อหน่วยบ้าง 4,000 บาทต่อหน่วยบ้าง ขณะที่ต้นทุนจริงๆ13,000 บาทต่อหน่วย เป็นสิ่งเราพวกโรงพยาบาลรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เพราะสุดท้ายจะกระทบประชาชน”
นพ.อนุกูลเล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ขอร้องไม่ให้สปสช.ปรับลด มีการทักท้วง เป็นข่าวมาทุกปี ใน 2-3 ปีหลังนี้ ในส่วนของงบผู้ป่วยใน พอปีนี้ล่าสุดงบประมาณปี 2568 ในช่วงเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา สปสช.เขาประเมินดูแล้วคนไข้ในเข้ามาใช้บริการเยอะขึ้น คนไข้ที่เป็นโรคซับซ้อนมากขึ้น คำนวนดูแล้วเงินไม่พอ แน่ๆ สปสช.แจ้งว่า 1 เมษายน 2568 ขอลดเหลือ 7,100 บาท ต่อหน่วย
“ตอนนั้นพวกเราก็ทำหนังสือร้องเรียนไป บอกว่าสปสช.ปรับลดไม่ได้ เราจะบอกคนไข้อย่างไร สุดท้าย สปสช.ก็ชะลอ ไม่ลดเงินที่ต้องจ่ายค่าผู้ป่วยใน แต่ว่าสปสช.กลับมาดูเรื่องใหม่ คือเรื่องการตรวจสอบเวชระเบียน คือว่า ดูว่าคนไข้มารับบริการจริงหรือเปล่า ได้น้ำหนักสัมพัทธ์ตามที่เบิกจริงหรือเปล่า นี่เป็นการตรวจสอบว่าการรายงานเอกสารที่จะเรียกเก็บเงินจากสปสช. ปรากฏว่าสปสช.ทำการตรวจสอบไม่ไหวทุกโรงพยาบารัฐ ก็ใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบแบบสุ่มตรวจ3% ของคนไข้ที่เข้าไปรับบริการของทุกโรงพยาบาลรัฐ
อย่างเช่นคนไข้เข้าไปรับบริการ 1,000 ราย ก็สุ่มมา 30 ชาร์จ (30 คนไข้) แล้วให้ทีมตรวจสอบตามเวชระเบียน เขาจะไปตรวจสอบว่าตรงตามที่โรงพยาบาลสรุปเรียกเก็บเงินจากสปสช. ข้อสรุปที่สปสช.แจ้งก็คือว่า จากการสุ่มรอบแรกปีนี้ 3% สปสช.บอกว่าเขาสามารถจะลดน้ำหนักสัมพัทธ์ โดยรวม ได้ 7-8 % ของภาพรวม โดยปกติที่ผ่านมา การตรวจสอบหากสุ่มแล้วรายไหนผิดปกติ รายไหนไม่ถูกต้องจริงก็จะปรับเฉพาะราย เราก็ยอมรับได้เพราะเป็นกติกาที่ทำแบบนี้มาตลอด
“แต่ปีนี้สปสช.บอกว่าเขาปรับใหม่ 3% ที่สปสช.สุ่มตรวจนี้ ถ้าผิดจำนวนเท่าไหร่ สปสช.จะคิด 100 % เลย ถ้าผิดเท่าไหร่ก็คูณไป 33 เท่า จะถูกตัดเงิน 100% ซึ่งพวกเราโรงพยาบาลตกใจว่า อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว ยอมรับไม่ได้ เพราะสิ่งที่สปสช.ตรวจสอบ เขาไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการบริการจริง/ทำจริงหรือเปล่า แต่ตรวจสอบว่า หากแพทย์บันทึกการรักษาไม่ครบตามที่ตั้งเกณฑ์ไว้ สปสช.ตัดทิ้ง
จากเคสที่เกิดขึ้นจริง แพทย์รักษาคนไข้ คนไข้มานอนโรงพยาบาลจริงครบทุกอย่าง รักษาจนหายดีกลับบ้านได้ จริงเลย แต่หมอลืมเขียนในสรุปหน้าสุดท้าย สปสช.บอกว่าคนนี้ไม่ได้มารับบริการจริง ถือว่าเขาไม่จ่าย ตัดเป็นศูนย์เลย
หรืออีกกรณีคนไข้ได้เข้ารักษาผ่าตัดต่อมลูกหมาโต ซึ่งเป็นเคสที่เกิดขึ้นจริง คุณหมอผ่าตัด ฝานต่อมลูกหมากเสร็จเรียบร้อย หายดีกลับบ้าน สปสช.มาสุ่มตรวจ เขาบอกรายนี้ไม่ได้ผ่า ทั้งๆที่คนไข้ผ่าตัดเรียบร้อย เพราะในใบรายละเอียดการผ่าตัด operative note สปสช.บอกว่าคุณหมอต้องเขียนแบบละเอียด ปรากฏว่าหมองานยุ่งมากไม่มีเวลาเขียน แต่วาดรูปและโน้ตไว้ว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่ละเอียดตามที่สปสช.ต้องการ เขาสรุปว่าคนนี้ไม่มีการผ่าตัด ทั้งๆที่คนไข้ผ่าตัดจริง พอบอกว่าไม่ได้ผ่าตัด น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ควรได้ 2 กว่าๆ ก็เหลือแค่ 0.5 หน่วย
พวกเราโรงพยาบาลรู้สึกว่าถ้าเจอกรณีอย่างนี้ เรารับไม่ได้นะ เพราะเราไม่ได้โกง เพียงแต่เราเขียนเวชระเบียนไม่ละเอียดตามที่สปสช.ต้องการ แล้วเขาก็ตัด ไม่เป็นธรรมกับหน่วยบริการในฐานะที่คนไข้เยอะๆ จนเราไม่มีเวลาที่มานั่งเขียนละเอียดตามที่เขาต้องการ แล้วเขาก็หาเรื่องตัดเรา อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แล้วเขาจะปรับให้เป็น 100% ด้วย
ทั้งนี้การรายงานการรักษาของผู้ป่วย ปกติหากมีเวลาคนไข้ไม่เยอะ คุณหมอจะเขียนละเอียด หรืออย่างโรงเรียนแพทย์ มีแพทย์ฝึกหัดเยอะแยะ เขาจะเขียนละเอียด มีเวลาเขียน แต่ถ้าโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(รพศ./รพท.) มีคนไข้เยอะมาก หมอมีไม่เยอะ จะไม่มีเวลามาเขียนรายละเอียด การโน้ต/บันทึกเท่าที่จำเป็น เท่าที่แพทย์จะรักษาต่อได้ถูก
“ตอนนี้พอพวกเราคำนวน และจากที่สปสช.ประมาณการณ์ว่า ถ้าเขาสามารถที่จะผ่านประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ ตามที่เขาเสนอ เขาจะลดค่าน้ำหนักผู้ป่วยในไปได้เยอะ คิดเป็นเงินได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าสปสช.ไม่ต้องขอค่าลดน้ำหนักจาก 8,350 เหลือ 7,000 บาท เขาไม่ต้องไปขอเงินเพิ่ม หรือต้องไปหาเงินจากที่อื่นแล้ว นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลจะไม่ได้เงินที่ควรจะได้ ทั้งที่รักษาคนไข้ไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ต่อเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงสปสช.ด้วยเช่นกัน
คำถามของโรงพยาบาลก็คือ ทำไมผู้ป่วยในเป็นงบปลายปิด สปสช.บอกว่ารัฐบาลมีเงินแค่นี้ ซึ่งงบผู้ป่วยใน เป็นงบปลายปิดมานานมากแล้ว คิดตามน้ำหนัก เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบ คุณรักษาใช้ยาที่แพง ยาที่ไม่แพง ผ่าตัดแบบดี หรือผ่าตัดแบบธรรมดา โรงพยาบาลรัฐได้เงินเท่ากัน เพราะว่าน้ำหนักเท่ากัน นี่ก็เป็นปลายปิดระดับหนึ่งแล้ว
ประเด็นก็คือ เวลาคนไข้มารับบริการเยอะๆ น้ำหนักโดยรวมเยอะขึ้น เพราะคนมารับบริการเยอะขึ้น ตรงนี้ไม่ควรจะเป็นงบปลายปิด ถ้าเป็นปลายปิดแปลว่ารัฐบาลต้องกล้าบอกว่างบผู้ป่วยในหมดแล้ว ปีนี้ประชาชนห้ามป่วยนะ ซึ่งการเจ็บป่วยมันห้ามไม่ได้ คนไข้เจ็บป่วยจริงมาโรงพยาบาล รักษาจริง ดังนั้นถ้ารัฐบาลทำเป็นงบปลายปิดกับงบผู้ป่วยในจริง รัฐบาลต้องกล้าบอกว่าเงินรักษาผู้ป่วยในไม่มีแล้ว
นพ.อนุกูลกล่าวต่อว่าที่มากกว่านั้นก็คือ พอเป็นบริการนวัตกรรม สปสช.เพิ่งทำมาได้ 2 ปี ตามนโยบายรัฐบาล ปรากฏว่างบนวัตกรรม เป็นงบปลายเปิด ประชาชนมาใช้บริการเท่าไหร่ก็ได้ จ่ายเงินให้ โดยที่บริการนวัตกรรม สปสช.มีประมาณ 7-8 รายการ เป้าหมายของนโยบายรัฐบาลคือให้คนไข้เข้าถึงบริการมากขึ้น โดยเน้นที่ผู้ให้บริการภาคเอกชน อาทิ คลินิกต่าง ๆเช่น คลินิกพยาบาล คลินิกแพทย์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเจาะเลือด คลินิกร้านแลบ หรือว่าการรับยาจากร้านยา เหล่านี้เป็นการอาการป่วยเล็กน้อย สปสช.กำหนดเลยว่ารับยาร้านยา กำหนดที่ 180บาท/ครั้ง ในอาการเล็กน้อย เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อย ไม่ต้องไปรพ.แต่ไปร้านขายยาแทน งบนวตกรรมนี้ไม่ใช่ปลายปิดเหมือนงบผู้ป่วยใน
อันนี้ทำให้พวกเราโรงพยาบาลรัฐรู้สึกว่าการรักษาผู้ป่วยใน คนไข้นอนไอซียู คนไข้ต้องผ่าตัด ที่จำเป็น รัฐบาลทำเป็นงบปลายปิด แต่คนไข้ป่วยเล็กน้อยกลับเป็นงบปลายเปิด วิธีการนี้คิดว่าการจัดการงบประมาณของสปสช.มีปัญหาในวิธีคิด และที่เราพบเราตรวจเจอก็คือ สปสช.ใช้วิธีสุ่มตรวจเหมือนกัน 5% 10% ในงบนวตกรรม เมื่อพบว่าไม่มีคนไข้จริง สปสช.ได้ฟ้องร้องหลายที่แล้ว ลงโทษเท่าที่ตรวจเจอ แต่เมื่อเทียบกับการสุ่มตรวจผู้ป่วยในกลับลงโทษเป็น 100% แต่บริการนวัตกรรม เจ็บป่วยไม่มาก ผิดเท่าไหร่ก็เรียกเงินคืนเท่านั้น เราก็สงสัยว่า อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับชีวิตประชาชน เรื่องเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล หรือเจ็บป่วยเล็กน้อย
จากการบริหารจัดการของสปสช. คิดว่าสปสช.บริหารจัดการ โดยมุ่งไปอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการมากกว่าเรื่องที่จำเป็น อย่างเช่น สปสช.กันงบไว้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับรับยาที่บ้าน คนไข้ไม่ต้องรอยา เพราะว่าคนไข้รอรับยาเยอะ ให้กลับบ้านได้ แล้วเดี๋ยวให้โรงพยาบาลส่งไปทางไปรษณีย์ ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บสปสช. 50 บาทต่อคน เรามองว่าตรงนี้ไม่ใช่การรักษา สปสช.เอาเงินมาใช้ตรงนี้ แต่คนไข้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดนอนในโรงพยาบาล ต้องเข้าไอซียู ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ให้เงินไม่พอ
ผมคิดหากเงินงบประมาณค่ารักษาคนไข้ใน/ผู้ป่วยในที่จำเป็นเพียงพอแล้ว ค่อยเติมบริการที่อำนวยความสะดวกได้ แต่ปัจจุบันบริการที่จำเป็นยังไม่พอเลย แต่สปสช.ไปหาเสียง โดยการโชว์ว่าสปสช.มีการอำนวยความสะดวก เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นรับยาที่บ้านก็ได้ เรื่องการจัดการงบประมาณเป็นเรื่องที่สำคัญในสถานการณ์งบประมาณขณะนี้ ทำให้งบประมาณส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปในส่วนนั้น ทำให้งบประมาณโดยรวมไม่พอสักที
อย่างปีงบประมาณ 2569 งบบัตรทองรายหัวได้เพิ่ม 12% พวกเราโรงพยาบาลรัฐดีใจ มีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมันน่าจะทำให้พวกเรารู้สึกว่าหายใจได้ดีขึ้น ปรากฏว่าพอมาดูใส้ใน เขาแบ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวกับงบนอกเหมาจ่ายรายหัว งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 9% แต่งบนอกเหมาจ่ายเพิ่มขึ้น 22% อันนี้ถามว่า งบผู้ป่วยใน ซึ่งบอกว่าเป็นบริการหลักๆ สำหรับคนไข้ที่จำเป็นอยู่ในเหมาจ่ายรายหัว พอเขาลงไปดูรายละเอียดของงบเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้น 9% ปรากฏว่างบผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นแค่ 3.5% จาก 12% ของภาพใหญ่
พองบผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นแค่ 3.5% มันตอบได้ไหมว่า ใกล้เคียงต้นทุนหรือยัง ปรากฏว่าต้นทุนของเราเนี่ย มันจะได้รวมเงินเดือนด้วย เงินเดือนก็เพิ่มขึ้นปีละ 3 % อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเงินที่ได้เพิ่มมา มันแค่เงินเดือนข้าราชการก็หมดแล้ว นั่นหมายความว่า ได้เงินเท่าเดิม ไม่ได้สะท้อนต้นุทน แค่เงินเดือนที่ผูกกับบัตรทองได้เพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง แต่พอไปดูบริการนวัตกรรมที่กล่าวมาข้างต้น มันอยู่นอกงบเหมารายจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้น 22% แต่ว่างบนวัตกรรมเพิ่มขึ้น 72% จากปี 2568
อันนี้เป็นวิธีคิดของสปสช.ที่ผมคิดว่า มันไม่ตอบประสิทธิภาพและความต้องการจริง ๆ ของสุขภาพประชาชน มันทำให้การถมเงินเข้าไปเท่าไหร่ ถ้าสปสช.ยังบริหารจัดการอย่างนี้ สุดท้ายมันก็มีปัญหาเหมือนเดิมวิธีการแบบนี้เป็นการทำร้ายระบบสุขภาพประชาชน
“การเอื้ออำนวยความสะดวกตามนโยบายรัฐบาลพอให้สิทธิผลประโยชน์ไปแล้ว โอกาสที่เรียกคืนมันยาก อย่างเช่น ฮอร์โมนการแปลงเพศ อยู่ในสิทธิโยชน์แล้ว สปสช.จะหยิบประเด็นเหล่านี้มาประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าดีๆๆๆ โอ้โห ดีกว่าสิทธิประกันสังคม จนระบบมันรวนไปหมดแล้วแต่ไม่มีใครพูดถึงงบผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลรัฐเราขาดทุนย่ำแย่”
อ่านเพิ่มเติม
- 10 ปี 4,000 ล้าน “สปสช.” ใช้งบ-อำนาจ ‘จัดซื้อจัดจ้าง’ 4,035 โครงการ เน้นก่อสร้าง ซื้อซอฟต์แวร์ พีอาร์
- “อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล” ทวงคืนชีวิตแพทย์ รื้อระบบ 30 บาทสกัดหมอลาออก
- แก้ปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน รายงานผลการศึกษา แนะ “ปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุข” ใหม่
- “หมออรพรรณ์” ตอกย้ำ “สปสช.” ไม่มีอำนาจตาม กม. ทำโครงการพิเศษจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด
……
“เจ๊งแล้ว เจ๊งอีก!”
ขณะที่นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภารองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 โดยระบุว่า “เจ๊งแล้ว เจ๊งอีก!” รพ.รัฐเตรียมคืนเงิน สปสช. 4,000 ล้านบาท เตรียมรับผลกระทบกันดีๆ นะครับคนไข้ในทุกคน!
ประกาศ สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)ฉบับใหม่ อาจทำให้ รพ.ที่ขาดทุนหนักอยู่แล้ว มีโอกาสจะถูกเรียกเงินคืนอีก 4,000 ล้านบาท พวกเราเตรียมรับผลกระทบจากการรักษากันนะครับ!
ประกาศ สปสช. ฉบับ กรกฎาคม 2568 มีวิธีตรวจโรงพยาบาลที่ทำให้หลายแห่งอาจต้อง “เสียเงินงบประมาณ” เพิ่มแบบน่ากังวล
โดย สปสช. จะสุ่มตรวจเวชระเบียนแค่ 3% (Random Sampling) แล้วใช้ผลตรงนั้นไปปรับลดเงินทั้ง 100% ของงานทั้งหมด (extrapolation) พูดง่ายๆ คือ ตรวจนิดเดียว แต่ตัดงบทั้งหมด
ถึงคนไข้จะมานอนโรงพยาบาลจริง ได้รับการรักษาจริง หายจริง
“แต่ถ้าเอกสารไม่ครบ หมอเขียนไม่ละเอียดพอ โรงพยาบาลก็โดนตัดเงินเต็มๆ”
ทั้งที่ความจริงก็คือ หมอและพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ภาระงานล้นมือ จึงอาจเขียนเวชระเบียนไม่ครบตามที่ระบบ(สปสช.)ต้องการ
“ในทางกลับกัน สปสช ขอทำงาน 3% สุ่มตรวจ แต่จะเอาเงินคืน 100%” ผมว่าวิธีคิดนี้แปลกดี“ ถ้าจะแฟร์ๆ ก็ตรวจ 100% ตามจริงเลยครับ แล้วทีนี้อย่าอ้างว่าทำไม่ทันนะครับ
ผลก็คือ โรงพยาบาลรัฐกว่า 955 แห่งทั่วประเทศ อาจจะถูกตัดงบรวมกันมากกว่า 4,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 แม้ สปสช. จะอ้างว่า เงินจะกลับไปที่ Global Budget แต่ผลกระทบคือการลงโทษเกิดกับ รพ.แล้วอย่างไม่ต้องรอ เงินหมุนเวียนใน รพ.หายไปแล้ว และกว่าจะเบิกเงินกลับมาได้ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ประเด็นถัดมาก็ยิ่งน่ากังวลและที่น่าคิดคือ งบค่ารักษาผู้ป่วยใน (IP) ปี 2569 เพิ่มขึ้นแค่ 3.5% ในขณะที่งบด้านอื่น เช่น งบนวัตกรรม เพิ่มขึ้นถึง 72.9% และกรณีงบนวตกรรมที่มีหลักฐานว่าทุจริตจริงๆ เช่น เอาชื่อคนตายมาเบิกงบ หรือไม่มีคนไข้ไปรับบริการเลย กลับตรวจแค่บางส่วน และเรียกเงินคืนเฉพาะที่เจอ ไม่ใช้วิธีขยายผลแบบเดียวกับการรักษาผู้ป่วยใน IP
แถมยังไม่แจ้งความทันที ต้องรอให้คืนเงินไม่ครบก่อน ค่อยดำเนินคดี แบบนี้ถูกต้องแล้วหรือ?
งบลดลง แต่คนไข้ไม่ได้ลดลง บุคลากรต้องทำงานหนักเท่าเดิม หรือหนักกว่าเดิม บางโรงพยาบาลอาจต้องลดบริการ ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ หรือจำกัดจำนวนคนไข้ที่รับได้ ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ไม่รู้นะครับ
ผมจะยื่นกระทู้นี่ต่อท่านรัฐมนตรีแน่นอนครับ บอกการบ้านล่วงหน้า
…………….