‘ภูมิธรรม’สั่งติดตาม‘พายุวิภา’เตือนภัยผ่าน ‘Cell Broadcast’-ครม.ชง กมธ.เพิ่มงบปี’69 อีก 1.26 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
- สั่งทุกหน่วยติดตาม ‘พายุวิภา’ แจ้งเตือนภัยผ่าน ‘Cell Broadcast’
- ชู ‘Traffy Fondue’ ต้นแบบรับแจ้งเหตุด่วน-เหตุร้าย
- รณรงค์ใส่เสื้อเหลือง – แสดงความจงรักภักดี 28 ก.ค.-1 ส.ค.นี้
- เลื่อนประชุม ครม. สัปดาห์หน้าเป็น 13.00 น.
- มติ ครม.ไฟเขียวชง กมธ.เพิ่มงบปี’69 อีก 1.26 แสนล้านบาท
- กมธ.แนะเก็บภาษีบุหรี่ 3 อัตรา แก้ปัญหายาสูบเจ๊ง
- ขยายเวลาช่วยแรงงานกัมพูชา 7 จว.ชายแดน ทำงานได้ 6 เดือน
- ประเมิน ‘ITA’ หน่วยงานรัฐ ผ่านเกณฑ์ 7,696 แห่ง ไม่ผ่าน 629 แห่ง
- โยก ‘กุลยา’ คุมกรมศุลฯ ‘พรชัย’ นั่งสรรพสามิต
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.มีดังนี้
รณรงค์ใส่เสื้อเหลือง – แสดงความจงรักภักดี 28 ก.ค.-1 ส.ค.นี้
นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ และการสื่อสารของประชาชนในยุคดิจิทัลว่า ปัจจุบันสื่อ social media มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ทำให้การรับทราบปัญหา เหตุด่วนเหตุร้ายดำเนินด้วยความรวดเร็วทันการณ์ แต่อีกด้านหนึ่งข่าวสารที่เผยแพร่อย่างรวดเร็ว อาจขาดการตรวจสอบกลั่นกรอง ดังนั้น ในฐานะที่หน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นผู้ตอบสนองแก้ไขปัญหา จึงขอให้ปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
ที่ประชุม ครม. จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายต่างๆ เพื่อให้แก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ อย่างทันการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ระบุสถานที่ เหตุการณ์ ผู้แจ้งให้ชัดเจน แก้ไขทันเวลา สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการพิจารณาใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ที่ กทม. และหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานใช้อย่างได้ผลมาแล้ว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ส่วนการแจ้งเบาะแสอาชญากรรม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ คอรัปชั่น เป็นต้น ต้องให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้แจ้งเบาะแสให้ดีที่สุด ส่วนการปล่อยข่าวเท็จ และข่าวลือ ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดใน social media และเร่งการแก้ไขชี้แจงให้ทันเวลา ก่อนที่จะแพร่ออกไปจนสร้างความสับสนในสังคม สำหรับการประชาสัมพันธ์ผลงานตามนโยบายของรัฐบาล
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ชัดเจน และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และขอให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับโฆษกประจำสำนักนายกฯ ประสานหน่วยงานภาครัฐดำเนินการเชิงรุก กระชับการดำเนินงานเรื่องการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ด้วย
สั่งทุกหน่วยติดตาม ‘พายุวิภา’ แจ้งเตือนภัยผ่าน ‘Cell Broadcast’
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ในช่วงหน้าฝนจะมีสถานการณ์ น้ำท่วมและอุบัติภัย โดยสัปดาห์นี้ เกิดพายุวิภา และมรสุมตะวันตก ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาทิ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย จึงขอสั่งการให้กรมอุตุฯ กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยราชการในพื้นที่ ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเน้นการเตือนภัย และเร่งช่วยเหลือแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ การปรับเตือนภัยเฉพาะพื้นที่ด้วย cell broadcast และสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป
เลื่อนประชุม ครม. สัปดาห์หน้าเป็น 13.00 น.
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ในการประชุมสัปดาห์หน้า (29 ก.ค.) เลื่อนไปเป็นเวลา 13.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 5 เนื่องจากในวันดังกล่าวจะจัดงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล
มติ ครม.มีดังนี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ขยายเวลาช่วยแรงงานกัมพูชา 7 จว.ชายแดน ทำงานได้ 6 เดือน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทยและกัมพูชา และได้มีมาตรการควบคุมการผ่านแดน ส่งผลให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ที่เข้ามาทำงาน ในจังหวัดต่างๆตามชายแดน ไทย กัมพูชา ที่ใช้ บัตรผ่านแดน( Border Pass ) ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม ม.64 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวๆ ที่อายุการทำงานหรือระยะเวลาการอนุญาตให้พำนักได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจะต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย เพื่อเดินทางกลับเข้ามาใหม่นั้น ไม่สามารถเดินทางเข้า – ออกได้ ทำให้อยู่ในประเทศไทย เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) และมีสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ที่ครบระยะเวลาการจ้างงานหรือระยะเวลาการอนุญาตให้พำนักได้รับอนุญาตสิ้นสุด มีจำนวน 47,348 คน (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2568) ทั้งนี้ บางส่วนใบอนุญาตการทำงานจะทยอยหมดอายุไปจนถึงปลายเดือน กันยายน 2568
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงาน ตามชายแดน ได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศ มท. มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2568 เหตุผลเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่เริ่มใช้มาตรการควบคุมการผ่านแดนฯ หรือจนกว่ามาตรการควบคุมการผ่านแดนฯ กลับสู่ภาวะปกติ (สามารถเดินทางเข้า – ออก บริเวณ จุดผ่านแดนถาวรของทั้งสองประเทศได้ตามปกติเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1เดือน) และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวกรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด
โดยให้คนต่างด้าวยื่นคำขออนุญาตทำงานได้ทั้งไป ยื่นด้วยตัวเอง หรือ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งเอกสารและหลักฐานตามที่กรมการจัดหางานกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นขอ (100 บาท) และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (225 บาท) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นขอให้คนต่างด้าวไปดำเนินการตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลของรัฐ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนสำหรับคนต่างด้าวซึ่งทำงานในกิจการหรือเป็นลูกจ้างที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เช่น คนรับใช้ในบ้าน ทำงานเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ซึ่งไม่ได้จ้างตลอดทั้งปี หรือทำงานเป็นครั้งคราว หรือตามฤดูกาล จะต้องทำประกันสุขภาพตามประกาศ สธ. ว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ไม่สามารถทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนได้) เมื่อดำเนินการครบถ้วนตามที่กำหนดแล้วให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานครั้งละ 3 เดือน และหากคนต่างด้าวประสงค์จะทำงานในราชอาณาจักรต่อไปให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน พร้อมทั้งเอกสารและหลักฐาน และชำระค่าธรรมเนียม ตามที่กำหนดไว้ข้างต้น นายจิรายุกล่าว
ไฟเขียวชง กมธ.เพิ่มงบปี’69 อีก 1.26 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ และมอบหมายให้สำนักงบประมาณนำเรื่องการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้
เดิมที่ประชุม ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ แผนและขั้นตอนการเสนิอขอเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงงบฯปี 2568 โดยกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณ เสนอขอเพิ่มงบฯ เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และให้หน่วยรับงบฯ ส่งรายการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีที่กำกับ หรือ รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้สำนักงบประมาณ พิจารณา และนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568
ปัจจุบันมีหน่วยรับงบประมาณเสนอขอเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ต่อสำนักงบประมาณแล้ว 598 หน่วยรับงบประมาณ วงเงินรวม 248,670.75 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณาตามแนวทางที่กำหนดไว้ในมติ ครม.วันที่ 24 มิถุนายน 2568 แล้ว สรุปได้ดังนี้
1. กรณีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปี 2569 วงเงิน 126,528.47 ล้านบาท : ส่วนใหญ่จะเป็นรายการเฉพาะที่มีความจำเป็นเร่งด่วน , สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ , นโยบายสำคัญของรัฐบาล และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงที่ไม่อยู่ในคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2569 มียอดเงินคงเหลือทั้งสิ้น แบ่งเป็น
รายจ่ายที่ดำเนินการ ตามข้อผูกพันที่เกิดจากกฎหมายสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ วงเงินทั้งสิ้น 90,690.4563 ล้านบาท และ
รายจ่ายเพื่อการพัฒนา หรือ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งรายจ่ายเพื่อป้องกัน และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือ รายจ่ายที่ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง ตลอดจนรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาทางการปฏิบัติงานของหน่วยรับงบประมาณ วงเงินทั้งสิ้น 35,838.01 ล้านบาท
สำหรับคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ที่ ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอวงเงินรวม 126,528.47 ล้านบาท จำแนกตามกระทรวงได้ดังนี้ (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย)
1. กระทรวงการคลัง 36,852 ล้านบาท
2. งบกลาง 34,321 ล้านบาท
3. ทุนหมุนเวียน 30,914 ล้านบาท
4. รัฐวิสาหกิจ 14,523 ล้านบาท
5. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5,364 ล้านบาท
6. กระทรวงแรงงาน 2,981.12 ล้านบาท
7. กระทรวงสาธารณสุข 630.12 ล้านบาท
8. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 280 ล้านบาท
9. กระทรวงพัฒนาสังคม 258.55 ล้านบาท
10. กระทรวงยุติธรรม 214 ล้านบาท
11. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 57.20 ล้านบาท
12. กระทรวงศึกษาธิการ 54.78 ล้านบาท
13. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 45.84 ล้านบาท
14. กระทรวงพลังงาน 17.97 ล้านบาท
15. สำนักนายกรัฐมนตรี 13.19 ล้านบาท
2. กรณีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2569 มีรายละเอียดดังนี้
- เสนอขอลดงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และขอเพิ่มงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) วงเงิน 114.53 ล้านบาท
- เสนอขอลดงบประมาณ สำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และขอเพิ่มงบประมาณของ อปท.วงเงิน 70.72 ล้านบาท
ผ่านแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘แก้ฝุ่นพิษ’ ฉบับที่ 2
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ.2568-2570 และระยะ 5 ปี ต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองฯ) พร้อมได้มอบหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดกิจกรรมโครงการ และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดมลพิษต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
ทั้งนี้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองฯ ตั้งแต่ปี 2562-2567 โดยหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตามแผนดังกล่าว และได้ดำเนินการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหา โดยได้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปปรับปรุงแก้ไข ในการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ฉบับที่ 2
โดยแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองฯ ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยมีการใช้กลไกต่างๆ เช่น เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และ พื้นที่เกษตรกรรม และการจัดการมลพิษข้ามแดน
รับทราบรายงานงบการเงิน กฟผ.ปี’67
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ รายงานผู้สอบบัญชีและงบการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยทางกระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนอรายงานผู้สอบบัญชีและงบการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาติได้ตรวจสอบเห็นว่า งบการเงินดังกล่าวเป็นการแสดงฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสด สำหรับปีที่สิ้นสุดวันเดียวกัน โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และคณะกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ กฟผ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2568 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ได้มีมติรับทราบแล้ว
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 51 ที่บัญญัติให้ผู้สอบบัญชีจะต้องทำรายงานผลสอบบัญชี เสนอต่อคณะกรรมการ กฟผ. ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีบัญชี ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องแสดงถึง งบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว
กมธ.แนะเก็บภาษีบุหรี่ 3 อัตรา แก้ปัญหายาสูบเจ๊ง
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ของคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ เพื่อดำเนินการ โดย กค. ได้ดำเนินการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปผลการพิจารณา จำนวนรวม 4 ประเด็น ดังนี้
1) การลดต้นทุนเพิ่มรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการผลิต ควบคุม และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยได้มีการนำยาสูบมาผลิตเป็นซิการ์เพื่อจำหน่าย ปรับขึ้นราคา รับซื้อใบยาสูบให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบทุกสายพันธุ์ และรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรเกินโควตาที่กำหนด เพื่อส่งออกใบยาสูบให้เอกชนและต่างประเทศ
2) การปรับโครงสร้างภาษียาสูบ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมในทุกมิติอย่างรอบด้าน โดย ยสท. เห็นว่าอัตราภาษี 3 อัตรา สามารถลดช่องว่างระหว่างบุหรี่ถูกกฎหมายและบุหรี่ผิดกฎหมาย โดยเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย หรือ บริโภคบุหรี่ผิดกฎหมาย และรัฐยังคงรักษารายได้ใกล้เคียงกับรายได้เดิม รวมถึงเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบภายในประเทศขายใบสูบให้มากขึ้น
3) การป้องกันและปราบปราม กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรได้จัดทำแผนแนวทางปฏิบัติร่วม ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ประเทศไทย โดยกรมสรรพสามิต ได้เสริมศักยภาพในด้านการป้องกันการกระทำผิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า โดยมีศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์เฝ้าติดตาม และแกะรอยพฤติกรรมการกระทำผิดโดยเฉพาะ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
4) การปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ หรือ การประกอบอาชีพอื่น กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพามิตได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบและการปรับเปลี่ยนอาชีพสำหรับชาวไร่ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ/คณะทำงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในกรณีที่ภาครัฐกำหนดนโยบายลดอัตราการสูบบุหรี่
ประเมิน ‘ITA’ หน่วยงานรัฐ ผ่านเกณฑ์ 7,696 แห่ง ไม่ผ่าน 629 แห่ง
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ โดยรับทราบผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส่ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) (การประเมิน ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเห็นชอบรายงานผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งเน้นย้ำและกำชับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ให้มีหน้าที่กำกับติดตามและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้ดำเนินการสนับสนับสนุน ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานภาครัฐที่ยังมีผลการประเมิน ITA ไม่ผ่าน ตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ให้สามารถยกระดับผลการดำเนินงานให้ผ่านค่าเป้าหมาย ตามที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือหนึ่งของการยกระดับ และพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยในปี 2566-2570 ได้กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินจะต้องมีค่าคะแนน ITA 89 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และในส่วนแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินจะต้องมีค่าคะแนน ITA 85 คะแนนขึ้นไป เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ซึ่งการประเมิน ITA ถือเป็นมาตรการด้านการป้องกันการทุจริตที่จะส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุง พัฒนา แก้ไข และต่อยอดให้หน่วยงานมีความโปร่งใส และมีการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เจ้าที่ของรัฐและประชาชนได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นไปยังหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการที่โปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลต่อไปในอนาคต
โดยผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 2.86 คะแนน มีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ จำนวน 7,696 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 92.44 จากทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน (สูงกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 11.50) แต่ยังไม่สามารถบรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ (ร้อยละ 100) โดยมีผลการจัดระดับผลการประเมินเป็นดังนี้
- ระดับ ผ่านดีเยี่ยม จำนวน 1,196 หน่วยงาน ร้อยละ 14.37
- ระดับ ผ่านดี จำนวน 3,638 หน่วยงาน ร้อยละ 43.70
- ระดับ ผ่าน จำนวน 2,862 หน่วยงาน ร้อยละ 34.38
- ระดับ ต้องปรับปรุง จำนวน 555 หน่วยงาน ร้อยละ 6.67
- ระดับ ต้องปรับปรุงโดยด่วน จำนวน 74 หน่วยงาน ร้อยละ 0.89
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ITA จำนวน 8,325 หน่วยงานทั่วประเทศ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมิน ITA (integrity and Transparency Assessment System: ITAS) (ระบบ ITAS) ที่เว็บไซต์ https://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และได้ประกาศผลการประเมินเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยครอบคลุมทุกประเภทของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ และ อปท. โดยมีผู้มีส่วนร่วมในการประเมิน ITA ได้แก่ (1) บุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 1 ปี (2) บุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่เคยมารับบริการหรือมาติดต่อตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ และ (3) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางใดทางหนึ่งหรือได้รับผลกระทบจากการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติหน้าที่ หรือ การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน รวมจำนวน 1,369,235 คน
กำหนดมาตรฐานกลาง – วิธีการคำนวณค่าเวนคืนที่ดิน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้
1. วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น ตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564
2. ให้หน่วยงานของรัฐนำวิธีการคำนวณดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดเงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายอนุกูล กล่าวว่า วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งดีขึ้น หรือใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรืออื่นๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาสูงขึ้นจากราคาที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น
- ที่ดินก่อนถูกเวนคืนไม่ติดถนน หรือคลองชลประทาน แต่หลังจากการเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้นติดถนน หรือคลองชลประทาน
- ที่ดินก่อนถูกเวนคืนติดถนนขนาดเล็ก แต่หลังจากเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้น ติดถนนขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
- กรณีอื่น
2. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งด้อยลงหรือใช้ประโยชน์ได้ลดลง หรืออื่นๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาลดลงจากราคา ที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น
- ที่ดินถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟหรือทางพิเศษหรือทางหลวงพิเศษที่ห้ามเชื่อมทาง
- ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณที่รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ หรือ อยู่บริเวณคอสะพาน หรือ ทางขึ้นลงสะพาน
- ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแยกออกเป็น 2 ส่วน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวไม่ได้รับประโยชน์จากการเวนคืน
- ภายหลังการเวนคืนรูปแปลงของที่ดินเปลี่ยนแปลงจากสี่เหลี่ยมเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมู หลายเหลี่ยม หรือเสียรูปทรง
- ที่ดินส่วนที่เหลือมีรูปแปลงแคบหรือมีความลึกลดลงหรือเนื้อที่ลดลงจนใช้ประโยชน์ได้จำกัดลง
- ที่ดินเปลี่ยนสภาพจากที่ดินติดถนนสายหลักเป็นติดถนนสายรอง หรือถนนซอย หรือเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก หรือการเข้าออกไม่สะดวกดังเดิม
- ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณระยะมองเห็น (Sight Distance)
- กรณีอื่น เช่น ก่อสร้างสาธารณูปการ หรือมีข้อจำกัดโดยกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ
3. กำหนดให้ “ราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน” หมายถึง ผลต่างของราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงหนึ่งแปลงใด ระหว่างราคาที่ดิน ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนกับราคาหลังจากการเวนคืน ทั้งนี้ ให้คำนวณราคาที่ดินในวันที่ได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้นในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน หรือในวันที่ได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนในกรณีที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนโดยไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน
4. กำหนดวิธีการคำนวณราคาสูงขึ้น หรือ ลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวรคืน ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
- ราคาที่ดินก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนให้ถือเอาราคาที่คณะกรรมการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 กำหนดไว้
- ราคาที่ดินหลังจากการเวนคืน ให้คำนวณโดยใช้แนวทางวิธีการตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ของที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือบริเวณเดียวกับที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีรูปแปลง ลักษณะ หรือขนาดคล้ายคลึงกัน และมีทำเลที่ตั้งใกล้เคียง กับที่ดินที่ถูกเวนคืนหากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ ในกรณีที่ไม่มีที่ดินในลักษณะดังกล่าว ให้ใช้ที่ดินอื่นที่มีลักษณะ รูปแปลง ขนาดคล้ายคลึงกัน และมีสภาพทำเลใกล้เคียงกัน นำมาเปรียบเทียบปรับลดหรือเพิ่มราคาที่ดิน ตามแนวทางการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์หรือหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านประเมินทรัพย์สิน หรือตามแนวทาง ที่หน่วยงานของรัฐที่มีการเวนคืนในลักษณะเดียวกัน
5. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทน สำหรับราคาที่ลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงนั้นด้วย
6. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาสูงขึ้น ให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้น หักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดจะหักเกินร้อยละ 50ของเงินค่าทดแทนที่ดินมิได้
7. ในกรณีที่เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่เรียกเก็บ สำหรับที่ดินแปลงนั้นจากการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น มิให้นำราคาที่สูงขึ้นของที่ดิน ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน
“ประโยชน์และผลกระทบ วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับ หรือ ที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือ เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะเป็นหลักเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืนแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการปรับปรุงแนวทางหรือคู่มือการปฏิบัติงานเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้น” นายอนุกูล กล่าว
ทบทวนแนวทางประเมินผลงานผู้บริหารภาครัฐ
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการทบทวนแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เรื่อง แนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ) ตามที่ สำนักงาน ก.พ เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เรื่อง แนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทการปฏิบัติราชการในปัจจุบันต่อไป มีดังนี้
1. การประเมินผลการปฏิบัติราชการตั้งแต่รอบการประเมินที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – วันที่ 31 มีนาคม 2568) เป็นต้นไป กำหนดให้การประเมินในตมิติด้านผลสัมฤทธิ์ ข. การดำเนินการในวาระเร่งด่วนหรือภารกิจที่ถูกมอบหมายเป็นพิเศษ (Urgency/assigned Tasks) ประกอบด้วยตัวชี้วัดไม่เกิน 2 ตัวชี้วัด ดังนี้
- ตัวชี้วัด “การเบิกจ่ายงบประมาณ” ค่าน้ำหนักร้อยละ 10 (ตัวชี้วัดบังคับ) สำหรับรายละเอียดและเกณฑ์การประเมินให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด
- ตัวชี้วัด “การดำเนินการในวาระเร่งด่วนหรือภารกิจที่ถูกมอบหมายเป็นพิเศษ (Urgency/assigned Tasks)” ตามที่ผู้รับการประเมินและผู้รับประเมินตกลงร่วมกัน ค่าน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 20 (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากไม่มีตัวชี้วัด หรือมีแต่กำหนดค่าน้ำหนักไม่ถึงร้อยละ 20 สามารถเกลี่ยค่าน้ำหนักไปยังตัวชี้วัดในมิติด้านผลสัมฤทธิ์ ก. การดำเนินนโยบายของรัฐบาล (Agenda) และภารกิจประจำส่วนราชการ (Function) ได้
2. มอบหมายให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้พิจารณากำหนด หรือ ปรับปรุงแนวทางการประเมินผลกรปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า หัวหน้าส่วนราชกรระดับกรมหรือเทียบเท่า และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีความเหมาะสมได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
โยก ‘กุลยา’ คุมกรมศุลฯ ‘พรชัย’ นั่งสรรพสามิต
นายอนุกูล กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ตำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายพัฒพงศ์ พงษ์สกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพลศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนออนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
1.1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร)
1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คณะรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพลจักร นิ่มวัฒนา ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งข้าราชการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายพีรวัส สมวงศ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)
2. จ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)]
7. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
1. นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร
2. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต
3. นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
4. นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6. นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
8. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ตำแหน่ง ดังนี้
1. นางสาวสกาวใจ พูนสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
2. นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
9. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้
1. นายณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์
2. นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3. นายสราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
10. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติเป็นข้าราชการการเมือง ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
11. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้
1. พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์
2. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
3. นางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
12. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์นพพร ลีปรีชานนท์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แทน พลเอก กนิษฐ์ ชาญปรีชญา กรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว
13. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เพิ่มเติม