โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส’ กับประเด็นสำคัญของธนาคารกลางในโลกดิจิทัล

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 25 ตามที่กระทรวงการคลังโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

กระบวนการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2568 ไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะ ต้องห้ามของผู้สมัคร การเลือกผู้สมัครเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ การแสดงวิสัยทัศน์ และการเสนอชื่อต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีผู้ยื่นสมัคร ทั้งหมด 7 ราย แต่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย 2 ราย คือ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

แม้ว่าครม.มีมติเป็นที่เรียบร้อยแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ยังต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าการฯคนใหม่ ‘ไทยพับลิก้า’ ชวนทำความรู้จักดร.รุ่งให้มากขึ้นผ่านประสบการณ์การทำงานที่สะท้อนแนวคิด โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องดร.รุ่งมาจากหลายแหล่งทั้งจากการสอบถามจากคนในธปท. และจากบทความที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สถาบัน องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ อาทิ BIS, World Bank และสื่อของธปท.ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ดร.รุ่งไว้ในช่วงที่ผ่านมา

เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อมูล ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้ว่า ดร.รุ่ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)

ดร.รุ่ง ทำงานที่ ธปท. มานานกว่า 20 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการบริหารองค์กร โดยดร.รุ่งเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการวางกลยุทธ์ของ ธปท. ผ่านมาตรการตลาดการเงินและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ ดร.รุ่ง มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน “ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย” ซึ่งมุ่งสร้างภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนของไทย และนำไปสู่การพัฒนาโครงการ Your Data การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) รวมถึงการยกระดับกลไกการค้ำประกันเครดิต (NaCGA) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของไทย นอกจากนี้ นางรุ่ง มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดัน “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” และขับเคลื่อนมาตรการแก้หนี้ต่าง ๆ เช่น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” และยังผลักดันการยกระดับมาตรฐานในการดูแลภัยทุจริตทางการเงินและกวาดล้างบัญชีม้า

ดร.รุ่ง ยังมีบทบาทในภาคการเงินผ่านการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต (กปช.) คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย (กปว) คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กรรมการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business and Strategy บมจ. ธนาคารกรุงไทยในช่วงปี 2560-2562

ทั้งหมดนี้เป็นประวัติสั้นของดร.รุ่งที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 57 ปี

อันที่จริง ด้านประวัติการศึกษาที่ระบุเพียงแค่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ดร.รุ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง (Magna Cum Laude)

ดร.รุ่งยังร่วมเข้าการอบรม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 64 วิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่น 34 และDirector Certification Program สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ด้านการทำงาน ภายในธปท. ดร.รุ่ง ยังเคยดำรงตำแหน่ง โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDDF) นอกเหนือจากตำแหน่งที่ ธปท.ระบุบนเว็บไซต์

ในปลายปี 2560 ขณะที่มีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ดร.รุ่งลาออกจากธปท.ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สายงาน Global Business Development and Strategy

ต่อมาในปี 2562 ดร.รุ่งได้กลับมาร่วมงานกับธปท.อีกครั้ง โดยคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

ผู้กำกับนโยบายต้องเข้าใจและรอบรู้

พจเฟซบุ๊ค ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่บทสัมภาษณ์ดร.รุ่ง ในพระสยามถึงบทบาท รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สายงาน Global Business Development and Strategy ซึ่งเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแลมาเป็นผู้เล่น ดร.รุ่งบอกว่าเป็นบทบาทได้ทำให้เห็นโลกการเงินในอีกมุมหนึ่ง

ดร.รุ่งบอกว่า “ถ้าคนที่เป็น ผู้กำกับ เป็นผู้ที่ออกนโยบาย ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศ กับสนามเล่นจริง ๆ ก็จะทำให้เป็นผู้กำกับที่ทั้งเข้าใจ รอบรู้ และออกนโยบายได้ครบเครื่องยิ่งขึ้น “

ดร.รุ่งเป็นคนธนาคารกลางที่ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งจากกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน ที่ส่งผลต่อภาคการเงินไทยและการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงผลต่อ stakeholder ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการแนวคิดที่นำเสนอผ่านการร่วมเสวนา การอบรมและการให้สัมภาษณ์

ประเด็นสำคัญที่ธนาคารกลางต้องรับมือ

ในงาน Leading Change ที่จัดโดย The SEACEN Center ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม 2567 ที่กรุงเทพ ดร.รุ่ง ได้สรุปประเด็นสำคัญของธนาคารกลางไว้ว่า

“Today’s financial world is dynamic, complex and constantly shifting.
Digital Transformation, ESG considerations and
paradigm shifts impact our daily work.
As leaders, we must adapt swiftly and strategically.”

“โลกการเงินในปัจจุบันมีพลวัต ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การให้ความสำคัญกับ ESG และการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ล้วนส่งผลกระทบต่อการทำงานประจำวันของเรา ในฐานะผู้นำ เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีกลยุทธ์”

ดร.รุ่ง ได้ตั้งคำถามต่อผู้นำธนาคารกลางระดับกลาง 45 คนจาก 14 ประเทศ บรูไน กัมพูชา ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี ลาว เมียนมา เนปาล ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม ที่เข้าร่วมงาน เพื่อชวนให้คิดว่าจะรับมือกับสิ่งสำคัญนี้อย่างไร และควรปรับปรุงอะไรบ้าง

ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยที่ทุกคนมีแนวทางเดินร่วมกัน

สำหรับการขับเคลื่อน “ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย” ดร.รุ่งซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์พระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – มีนาคม 2565 ถึง“จินตภาพ” ของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ตลอดจนเป้าหมายและแนวทางการกำกับดูแลภาคการเงินไทย

ดร.รุ่งกล่าวว่า นอกจากเพื่อสื่อสารหลักการและทิศทางที่ธปท. อยากเห็นในภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยแล้ว เอกสารฯ นี้ยังเป็นเสมือน “กลไก” สู่การเปิดกว้างรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นกับ “ผู้เกี่ยวข้อง” ในทุกมิติ เพื่อให้ทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม

ดร.รุ่งชี้ว่า เรื่องที่สำคัญสูงสุดและเป็นการเปลี่ยนแปลงกระแสหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ความท้าทายทั้ง 2 ด้านผลักดันให้ ธปท.ต้องปรับตัวในแง่ของการกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่น เท่าทัน กับโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

“ทั้ง 3 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหลักที่เราอยากหารือกับทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์และแนวทางเดินร่วมกัน” ดร.รุ่งกล่าว

ดร.รุ่งบอกด้วยว่า ธปท. มีการปรับตัวในอีกหลากหลายด้านเพื่อให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน อาทิ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวสูงขึ้น และการปฏิวัติความคิด โดยเฉพาะเรื่อง “การฟังมากกว่าบอก” ให้มากขึ้น

ดร.รุ่งกล่าวว่า “ถนนสายนี้ยังอีกยาวไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืน ซึ่งลำพัง ธปท.ไม่อาจทำได้สำเร็จ แต่เราก็มีความหวังที่อยากเห็นภาคการเงินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจการเงินและในการพัฒนาประเทศ”

การสร้างคนจากประสบการณ์และวิธีคิด

ดร.รุ่งยังให้ความสำคัญกับ “คน” โดยเห็นว่า การรับมือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก เทคโนโลยี และภูมิทัศน์การเงินใหม่ที่ส่งผลต่อการทำงานของธนาคารกลางทั่วโลกได้ ต้องเริ่มต้นที่ “คน”

พระสยาม BOT MAGAZINE อีกฉบับ ดร.รุ่ง ขณะที่ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการ ด้านบริหารของ ธปท. พูดถึงภารกิจดูแล “คน ธปท.” บอกว่า โลก VUCA ซึ่งเป็นโลกที่มีความผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) ที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงาน กำลังเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า BANI คนมีความเปราะบาง (Brittle) ความวิตกกังวลและท้อแท้ (Anxious) ความไม่เป็นเส้นตรง (Nonlinear) ความไม่เข้าใจ (Incomprehensible)

ดร.รุ่งกล่าวว่า งาน ธปท. เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางระดับหนึ่ง คน ธปท. จึงเก่งเชิงเทคนิคกันค่อนข้างมาก ทุกวันนี้เรื่องเทคนิคยังคงสำคัญ แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องให้น้ำหนักเรื่อง “คน” มากขึ้นด้วย

ดร.รุ่งกล่าวว่า การสร้างคนในโลก BANI จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธี ธปท.ได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานในโลกใหม่ รวมทั้งกระตุ้นให้คนธปท.ออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก เพราะการที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จะกระตุ้นให้มีศักยภาพในการทำงานสูงขึ้น

ธปท. กำลังสร้างกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องเก่งขึ้น เก่งทั้งคนและงาน มีการทำงานที่ผสมผสานกันระหว่างคนหลากหลายรุ่น ซึ่งพื้นฐานเป็นคนเก่งอยู่แล้ว ถ้าได้รับการดูแลอย่างดีก็จะสามารถเติบโตในเส้นทางอาชีพของตนเองได้แบบเต็มศักยภาพ โดยมีการตีโจทย์ร่วมกัน ทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ได้มองว่าเป็นงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลฝ่ายเดียว

สำหรับการสรรหาบุคลากร ธปท. ต้องพยายามทำให้ตัวเองยังดึงดูดและแข่งขันในตลาดได้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นธรรมชาติของ “สงครามแย่งคนเก่ง (talent war)”

ดร.รุ่งตอบคำถามเรื่องประสบการณ์และวิธีคิดแบบนักวิชาการกับการทำงานด้านคน ว่า มีสองด้าน ในด้านดีได้ใช้ตรรกะและเหตุผลว่า “เราทำงานไปเพื่ออะไร” ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับคน สิ่งเหล่านี้ก็ยังสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงบางอย่างกระทบคนจำนวนมาก เราต้องถามตัวเองเสมอว่า เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์และนำไปสู่เป้าหมายได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ทำให้คนรู้สึกพอใจ

แต่ในแง่ข้อจำกัด เราต้องไม่ให้วิธีคิดแบบการทำนโยบายครอบงำจนเกินไป ต้องมาดูด้วยว่าอยู่บนเงื่อนไขอะไร มีบริบทอย่างอื่นไหม ความเป็นไปได้และความหลากหลายของสิ่งที่อาจเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราต้องระมัดระวัง ต้องใช้จุดดีจากในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางจุดเราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวสุนทรพจน์ “From Open Finance to an Inclusive Digital Society” ที่กล่าวในงาน Money20/20 ที่มาภาพ:https://www.bot.or.th/th/news-and-media/speeches.html

สร้างระบบนิเวศทางการเงินที่บุคคล-ธุรกิจในภูมิภาคเติบโตได้ในยุคดิจิทัล

ดร.รุ่ง ยังเน้นย้ำถึงการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เชื่อมโยง สร้างสรรค์ และครอบคลุม โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และชุมชนที่ไม่ได้รับบริการเพียงพอ

ในสุนทรพจน์ “From Open Finance to an Inclusive Digital Society” ที่กล่าวในงาน Money20/20 ที่จัดขึ้นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เดือนเมษายน 2568 ซึ่งเว็บไซต์ BIS นำไปเผยแพร่ต่อ และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยอมรับว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ต้องอ่านสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นในเทคโนโลยีทางการเงิน การเข้าถึงดิจิทัล และอนาคตของการเงินในเอเชียนั้น

ดร.รุ่งชึ้ถึงโอกาสและความท้าทายของอาเซียนที่มีประชากรกว่า 650 ล้านคน เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู แต่กว่า 60% ยังไม่มีบัญชีธนาคารหรือยังไม่ใช่บริการทางการเงินอย่างเต็มที่ แม้มีความเหลื่อมล้ำ แต่มีโอกาสมหาศาลในการพัฒนาฟินเทค (FinTech)

สำหรับธปท.ได้กำหนดนโยบาย “3 Open” ขึ้นประกอบด้วย

  • Open Infrastructure: ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างระบบต่างๆ เพื่อการทำธุรกรรมที่มีประสิทธิภาพ
  • Open Data: ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างบริการทางการเงินให้เป็นแบบเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น
  • Open Competition: ส่งเสริมการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมและทางเลือกแก่
    ผู้บริโภค

“Open Data ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอีกด้วย”

แต่ที่สำคัญ ดร.รุ่งชี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแล ธนาคาร สถาบันการเงิน ฟินเทค และผู้ริเริ่มด้านเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกัน แบ่งปันความรู้ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน ซึ่งจะทำให้สามารถร่วมกันสร้างระบบฟินเทคอาเซียนที่พร้อมรับอนาคต ซึ่งไม่เพียงแต่มีนวัตกรรมและประสิทธิภาพ แต่ยังครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อให้บุคคลและธุรกิจในภูมิภาคที่หลากหลายสามารถเติบโตได้ในยุคดิจิทัล

ปรับโครงสร้างความท้าทายที่แท้จริงของประเทศไทย

ด้านมุมมองทางเศรษฐกิจ ดร.รุ่งได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยมาตั้งแต่สิบปีที่ผ่านมา โดยในเวทีสาธารณะที่จัดโดย สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies:ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “Moving Up the Global Value Chain: Thailand’s Upgrading and Growth Imperatives” วันที่ 18 มิ.ย. 2558

ดร.รุ่ง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างเป็นความท้าทายที่แท้จริงของประเทศไทยเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา GDP เติบโตเฉลี่ยเพียง 2-3% ต่อปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ลดลงเช่นกัน และเปลี่ยนจากภาคการผลิตมาเป็นภาคการเงิน

นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในปัจจุบันกำลังเติบโต แต่ไทยมีการส่งออกในภาคส่วนนี้เติบโตเพียง 1.8% ขณะที่ฟิลิปปินส์มีการเติบโต 12.2% ซึ่งหมายความว่าไทยมีความเชี่ยวชาญน้อยลงในกระแสโลกใหม่

สำหรับแนวทางแก้ไข ดร.รุ่ง ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี การศึกษาระดับสูง สถาบันและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมให้มากขึ้น

ช่วงเศรษฐกิจผันผวน นโยบายควรยืดหยุ่น

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความผันผวนความท้าทายรอบด้านทั้งมาตรการการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐ ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงพอสมควรมาที่ประมาณ 1.6% จากเดิม 2.3% ที่ประเมินไว้ จากการส่งออกที่ลดลง การลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการบริโภคจะชะลอตัวแรงขึ้น การทำงานของดร.รุ่งในบทบาทผู้ว่าการ ธปท.ย่อมเป็นที่จับตาและได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย

ในปี 2556 ดร.รุ่ง ซึ่งเป็นโฆษก ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน นโยบายก็ควรต้องยืดหยุ่น หมายถึงความยืดหยุ่นทางความคิดต้องพร้อมปรับนโยบายได้ และเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่นอาจทำให้ดูเหมือนนโยบายสวิงไปสวิงมา แต่เรื่องนี้ต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ทั้งสองด้านให้ดี คือไม่ใช่ปรับจนคนงงไปหมด

เราถึงต้องมีการประมาณการและมองไปข้างหน้า ประเด็นคือ ต้องเผื่อใจว่าอาจมีเหตุการณ์ที่ผลิกผันไม่ได้คาดหมาย ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับได้

ดร.รุ่งกล่าวว่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับตัวเลขจีดีพี เพราะเป็นตัวสะท้อนกิจกรรมโดยรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องดูให้ละเอียดมากขึ้น

โดยเฉพาะเรื่อง“ความเสี่ยง” ถ้าเริ่มเห็นรำไรๆ ว่ามีความเสี่ยงไปด้านใดด้านหนึ่ง เราก็ต้องปรับเองได้ว่ามันจะเสี่ยงด้านไหนมากขึ้น หรือเราก็ไปทอนหรือไปเพิ่มเอาเองในระดับหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลประมาณการของหน่วยงานทางการดูเป็นแนวโน้มเท่านั้น

นอกจากนี้ในงานเสวนา เรื่อง“อนาคตนโยบายการเงินไทยจะไปทางไหน?” (Monetary Policy at Crossroad?) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่ให้สังคมหันมาสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.

“ดร.รุ่ง” พูดถึงสิ่งที่นโยบายการเงินต้องการก่อนว่าคืออะไร และคำถามยอดนิยมที่ ธปท. ถูกตั้งคำถามมากที่สุดมีอะไรบ้าง

ดร.รุ่งกล่าวว่า นโยบายการเงินต้องการ “เติบโต” พร้อมกับบอกว่า “ไม่เคยบอกว่าไม่โต” แต่ต้องเป็นการโตเต็มความสามารถของเศรษฐกิจโดยไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อเหมือน “ปรอท”

ดร. รุ่ง ได้ยกคำถาม “ยอดนิยม” มา 5 ข้อ และพยายามตอบคำถามเหล่านี้ว่าจริงหรือไม่

1 ธปท. “บ้าเงินเฟ้อ” มากกว่าธนาคารกลางชาติอื่นๆ หรือไม่ ทุกคนยอมรับได้ว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญแต่บ้ามากใช่ใหม?

2. เศรษฐกิจไทย“เล็ก” และ “เปิด” เป็น price take (ราคาถูกกำหนดโดยตลาดโลก) ดูแลเงินเฟ้อในประเทศไม่ได้

3. มาตรการคุมราคาสินค้าของรัฐบาลมีผลต่อเงินเฟ้อมากกว่านโยบายการเงิน ใช่ไหม

4. กรอบเงินเฟ้อก็ดูแต่เงินเฟ้อใช่ไหม ทำให้ธนาคารกลางไม่สนใจอย่างอื่นนอกเหนือจากเงินเฟ้อ

5 กรอบเงินเฟ้อทำให้ธนคารกลางใช้แต่เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนเท่าที่ควร

ท้ายสุดก็คือ ถามว่า นโยบายการเงินจะไปทางไหน

“ดิฉันคิดว่า โดยพันธกิจไม่ควรจะเปลี่ยน คือเราต้องดูเสถียรภาพ แต่การทบทวนกรอบ บางคนเลือกแบบหนึ่ง บางคนเลือกอีกแบบหนึ่ง การกลับมาทบทวนกรอบเป็นสิ่งที่ควรทำ และควรทำสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำไปแล้วหยุดไปอีก 10 ปี ไม่ใช่ เพราะบริบทเศรษฐกิจเปลี่ยน” ดร.รุ่งกล่าว

และย้ำว่า การทบทวนว่าจะใช้เครื่องมือบางอันมากขึ้นได้ไหม ควรจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นได้ไหม ของแบบนี้ควรถาม

“แต่คำถามที่ไม่ควรถามคือ นโยบายการเงินควรดูแลอะไร อันนั้นเป็นคำถามที่ไม่ควรถาม และควรหยุดเลิกถามได้แล้ว หรือว่าถ้าจะปรับปรุงควรปรับปรุงอะไร อันนี้เป็นคำถามที่ควรถาม” ดร.รุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมคือทางรอด

ด้านการขับเคลื่อนความยั่งยืน ESG ดร.รุ่งกล่าวในคลิปงานสัมมนาThailand Taxonomy 2.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ว่า “ธปท. อยากเห็นการอ้างอิง Taxonomy ที่เพิ่มขึ้น ถูกนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นพื้นฐานช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้อย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”

ดร.รุ่งกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Sustainability Forum 2025 หัวข้อ “Climate Finance toward SDGs” วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Finance

“เงินทุนเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” โดยาข้อมูลจากรายงาน Global Landscape of Climate Finance 2024 ซึ่งจัดทำโดย Climate Policy Initiative ทำให้เห็นได้ว่า Climate Finance เป็นประเด็นที่ท้าทายมากในระดับโลก และยังคงต้องหาทางจัดการกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาของประเทศไทย เนื่องจากยังมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในบริบทของไทยจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการปรับตัวไปสู่ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ กับการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอย่างฉับพลัน ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งจังหวะเวลาและความเร็ว

ดร.รุ่งเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคใดภาคหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาคการเงิน จะต้องมีกลไกความร่วมมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร

เพราะ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก”

งานธปท.คิดรอบด้านอธิบายได้

ในด้านธรรมาภิบาล จากการหารืออย่างละเอียดกับคณะทำงานด้านคุณธรรมจริยธรรมของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดร.รุ่ง แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยึดมั่นในหลักการธรรมาภิบาลที่ดีในฐานะหน่วยงานที่เป็นกลางของไทย

ดร.รุ่งกล่าวว่า ธปท.ในฐานะธนาคารกลางของประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจและการเงินโดยรวมของประเทศให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยรากฐานการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับภารกิจ ได้แก่ การมีหลักการ การยึดมั่นในความถูกต้อง และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรมีคุณธรรมและธรรมาภิบาล

“เราไม่ทำงานเพื่อเอาใจใครหรือต้องได้รับความนิยม ธปท. ต้องอธิบายความคิดและความเห็นของเราให้สาธารณชนเข้าใจอย่างชัดเจน เราจะไม่ทำอะไรที่ไม่สามารถอธิบายต่อสังคมได้ ทุกสิ่งที่เราทำหรือคิด เราต้องสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงทำหรือคิดเช่นนั้น”

นอกจากจะมีหลักการทำงานที่ตรงไปตรงมาแล้ว งานของธปท. ยังต้องผ่านกระบวนการ “คิดรอบด้านและสามารถอธิบายได้” เพื่อให้สามารถหาทางเลือกและพิจารณาได้อย่างเหมาะสม ครอบคลุม และสามารถตอบคำถามของสาธารณชนได้
หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธปท. ได้ใช้การตัดสินใจร่วมกันเพื่อป้องกันการคิดแบบติดกลุ่ม(group thinking) มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)

คณะกรรมการแต่ละชุดมีสัดส่วนของกรรมการจากภายนอกสูงกว่าเจ้าหน้าที่ธปทย ทำให้มั่นใจได้ว่าความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ธปท.จะไม่มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจเชิงนโยบาย การตัดสินใจมีความโปร่งใสเพราะมีระบบการจัดเก็บและสื่อสารข้อมูลที่สามารถติดตามตรวจสอบได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุม กนง. จะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมต่อสาธารณะ หลังการประชุมทุกครั้ง จะมีการตอบคำถามและชี้แจงข้อสงสัย

สื่อสารและร่วมมือกับรัฐบาลให้มากขึ้น

การแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท.ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก เพราะไม่เป็นเพียงการเลือกผู้นำในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาของความท้าทายที่สำคัญ ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้า และปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังรวมถึงการประสานงานกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

จากบทความและบทสัมภาษณ์สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการปฏิรูป การส่งผ่านทางการเงินและเสริมสร้างการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การมีบทบาทกับลำดับความสำคัญระดับชาติ เช่น การจัดตั้งVirtual Bank และการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดจนมีภาพลักษณ์ระดับนานาชาติ

ประกอบกับประสบการณ์ของดร.รุ่งในฐานะผู้บริหารของภาคสาธารณะและภาคเอกชน เชื่อว่าทำให้ดร.รุ่ง มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำที่มีพลังในการนำพาธนาคารกลางที่มีความมุ่งมั่นใหม่ต่อเสถียรภาพทางการเงิน นโยบายการเงินที่มั่นคง และความแขงแกร่งทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่มีความท้าทายสำคัญ ตลอดจนประสานงานเพื่อให้วาระทางเศรษฐกิจของรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ

ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อต้นเดือน ที่ผ่านมา ดร.รุ่งย้ำว่า ธปท. และรัฐบาลควรมีการพูดตั้งแต่แรกเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันทางนโยบาย

ดร.รุ่งกล่าวว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องสื่อสารและร่วมมือกับรัฐบาลให้ลึกมากขึ้น

“เมื่อคุณพูดคุยกันตั้งแต่เนิ่นๆ หลายๆ เรื่องก็สามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะถึงจุดที่กลายเป็นการเผชิญหน้ากันมากขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว
“ดิฉันหวังว่าจะสามารถเบี่ยงเบนการเผชิญหน้าได้มาก”

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลที่ยืนกรานและผลักดันให้ธนาคารกลางปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล ดร.รุ่งย้ำถึงความจำเป็นของการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

“การที่สามารถบอกถึงข้อกังวล และแชร์สิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ ดิฉันคิดว่านั่นคือความเป็นอิสระ” ดร.รุ่งกล่าว

“มันไม่ใช่เรื่องการไปคนละทาง”

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

‘วิทัย รัตนากร’ มือพลิกฟื้นจากนกแอร์-ไอแบงก์-กบข.-ออมสิน สู่ผู้ว่า ธปท.คนที่ 25

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘ผยง ศรีวณิช’ ชี้ต้องก้าวข้ามกับดักประเทศ เร่งสร้าง Trust-Confident ‘กระตุก-ประคอง-ปฏิรูป’ ปัญหาโครงสร้างไทย

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

โคคา-โคล่า เตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ใช้น้ำตาลอ้อย ตามการผลักดันของทรัมป์

JS100

อุบัติเหตุรถพ่วงชนรถตู้รับส่งนักเรียน มีผู้บาดเจ็บหลายราย จ.นครศรีธรรมราช

สวพ.FM91

ทลายเครือข่ายค้ายา ไอ้มุ้ย มือบงการอุ้มฆ่าดีเจเตเต้ ยึดทรัพย์ 408 ล้านบาท

Khaosod

รถนั่งส่วนบุคคลชนกับรถบรรทุกน้ำ ถนนบรมราชชนนี ก่อนถึงต่างระดับฉิมพลี อาสากู้ภัยเร่งนำผู้บาดเจ็บส่ง รพ.

สวพ.FM91

หลายเมืองในฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวสำหรับเด็กๆ ป้องกันความรุนแรงจากยาเสพติด

JS100

อเมริกาอ้างเน้นคุณภาพ-ไม่รีบปิดดีลการค้า ถึงแม้ใกล้เส้นตาย1ส.ค.แต่เจรจาหลายปท.ไม่คืบ

Manager Online

สภาพอากาศวันนี้ -28 ก.ค.ไทยฝนตกหนักหลายพื้นที่ ลมแรง คลื่นสูง

ฐานเศรษฐกิจ

ประท้วง! นักเรียนเรียกร้องความยุติธรรม หลังเครื่องบินฝึกกองทัพบังกลาเทศตกใส่โรงเรียน ตายอย่างน้อย31คน ส่วนใหญ่เป็น นร.

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...