‘ผยง ศรีวณิช’ ชี้ต้องก้าวข้ามกับดักประเทศ เร่งสร้าง Trust-Confident ‘กระตุก-ประคอง-ปฏิรูป’ ปัญหาโครงสร้างไทย
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “iBusiness Forum Decode 2025: The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า ภาคการเงินการธนาคาร เป็นตัวสะท้อนความเป็น Macro Position ของประเทศไทย เป็นแบบจำลองโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะระบบการเงินการธนาคารคือตัวกลางในการหมุนเวียนแปรผันทรัพยากรทางการเงิน เหมือนเป็นเลือดในการหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหรือกลไกทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
แต่วันนี้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยโดนท้าทายด้วย Trump Tariffs จะเห็นว่าความไม่แน่นอนสูง เราจะพูดถึงภาษี 10% หรือ 36% หากตกลงกันได้ 20% จะปรับเปลี่ยนไปอีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญกับระบบเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าดูตัวเลขที่ IMF ประมาณการบนพื้นฐานของ 36% มองไป 5 ปีข้างหน้า Growth Rate ของประเทศไทยก็ยังท้าทาย
แต่ในมุมของภาคการเงินการธนาคาร เรามีเม็ดเงินที่ดูจากตัวเลข 2 ตัว ก็คือ เงินลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จะเห็นว่าวันนี้มีกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่เงินลงทุนออกไปผ่าน FIF Fund แปลว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนลบกว่า 10% ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ บวกถึง 9% กว่า แน่นอนว่าเม็ดเงินสภาพคล่องเหมือนกับน้ำที่วิ่งไหลไปตามกลไกตลาดโลก และประเทศไทยอยู่ในระบบตลาดทุนนิยม เราฝืนกลไกนี้ไม่ได้
ส่วนภาคเอกชนที่ไปลงทุนต่างประเทศ ตัวเลขรวมในช่วงปีที่ผ่านมาก็กว่า 7 ล้านล้านบาท แปลว่าเรามีสภาพคล่อง แต่ถ้าดูโครงสร้างตลาดทุนในประเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) ค่าเฉลี่ยทั้งตลาดเพียง 1.1 ขณะที่ 70% ของบริษัทจดทะเบียนมี Price to Book ต่ำกว่า 1% สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจประเทศ
เศรษฐกิจนอกระบบไทยมีขนาดใหญ่ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง
นอกจากนี้ส่วนที่เหลือของระบบเศรษฐกิจคือโครงสร้างเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 48% แปลว่าจะนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่ง 48% ถือว่าสูงที่สุดในโลกระดับท็อปเลย นำไปสู่แรงงานนอกระบบถึง 51% นำไปสู่ผู้ที่อยู่ในระบบเสียภาษีเงินได้ของประเทศเพียง 4 ล้านคน ในขณะที่ทุกคนเรียกร้องถึงสวัสดิการของรัฐอีกกว่า 68 ล้านคน บวกกับนิติบุคคลที่เป็นรายเล็กจดทะเบียนเพียง 26% และจากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จะเห็นว่า 34% ของครัวเรือนไทยต้องอาศัยหนี้นอกระบบ หนึ่งครัวเรือนมีหนี้นอกระบบประมาณ 13% ซึ่งเมื่อบวกกับหนี้ในระบบ 91.4.% แล้ว รวมหนี้นอกระบบประมาณ 104%
“แต่ถ้าเราดู Gross debt หนี้นอกระบบ ตัว Total จะขึ้นไปถึง 117% ซึ่งเกิดขึ้นจากคนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ เป็นเจ้าหนี้นอกระบบไปพร้อมๆ กัน หรือเป็นลูกหนี้ในระบบไปพร้อมๆ กัน ผลวิจัยฉบับนี้ชี้ว่า หนี้นอกระบบ Gross ขากู้ยืม 25% ของ GDP ขณะเดียวกันถ้าเราบอกว่าเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ ขาให้ยืม 13% แปลว่า Net เหลือ 12%”
“ถ้าดูวิจัยลงไปอีกพบว่า 40% ของลูกหนี้นอกระบบ เป็นเจ้าหนี้นอกระบบด้วยในขณะเดียวกัน แปลว่าเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นลูกหนี้ในระบบ 30% เป็นเจ้าหนี้นอกระบบด้วย สะท้อนว่าสุดท้ายที่ไปชายขอบหรือเศรษฐกิจตามกล้ามเนื้อต่างๆ ของประเทศไทย ต้องอาศัยกลไกนอกระบบ กลไกในระบบไปไม่ถึงนี่คือภาพที่สะท้อนเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศ“
ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่ตามมาพร้อมเศรษฐกิจนอกระบบ จากที่ธนาคารโลกได้ระบุไว้ 6 ข้อ ก็คือ 1.รายได้ต่ำ 2.ผลิตภาพต่ำ 3.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง 4.Resilience ต่อแรงกระแทกของระบบเศรษฐกิจต่ำ 5.หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ต่ำ แปลว่าคอร์รัปชันสูง และ 6.การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปได้อย่างช้าๆ
“จะเห็นตัวอย่างได้จากน้ำท่วม น้ำแล้ง ในประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา แล้วทุกครั้งที่เกิดเหตุ ก็ต้องมีการชดเชย เยียวยา ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งหมดเป็นการ Drain ทรัพยากรสาธารณะไปสู่การเยียวยาช่วยเหลืออย่างมาก ต่อเนื่อง และเป็นเวลายาวนาน แปลว่าประชากรส่วนหนึ่งของเราไม่มีความสามารถที่จะยืดหยุ่นทนทานกับภัยธรรมชาติ หรือความเปราะบางในเชิงของสังคมและเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจนอกระบบสูง คอร์รัปชันยิ่งสูง กระทบค่าเงินบาท
นายผยงกล่าวว่า เมื่อกลับไปดูในเชิง Corruption Index จะเห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจนอกระบบกับคอร์รัปชันอยู่ในอัตราที่สูง จะเห็นว่าประเทศไทยในขณะที่มีเศรษฐกิจนอกระบบสูง อัตราคอร์รัปชันก็ยิ่งสูงด้วย โดยเศรษฐกิจนอกระบบถูก Facilitate ด้วยคริปโตและทองคำ ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้มีข้อกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในการที่จะสนับสนุนการส่งออก เป็นความท้าทายที่เพิ่มเติมจาก Trump Tariffs
ถ้าไปดูความเชื่อมโยงในเรื่องการรายงาน Balance of Payment ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบสัญญาณของเศรษฐกิจนอกระบบในการเคลื่อนย้ายเงินทุน เราจะเห็นบรรทัดหนึ่งที่เป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นผลจากส่วนที่อธิบายไม่ได้ หรือ “Error and Omission” เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของเงินทุนผ่านสินทรัพย์อย่างทองคำและคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือจับต้องในระบบเศรษฐกิจจริงได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg จะเห็น Correlation การแข็งของค่าเงินบาทกับราคาทองคำอย่างเกาะกันแน่นถึงประมาณ 65% ส่วนข้อมูลจากธนาคารไทยธนชาติ (TTB) จะเห็นภาพลักษณะเดียวกันว่า Very High Correlation แปลว่าสิ่งที่เราพูดถึงเรื่อง Transshipment เป็นพาหะหมุนเวียนของกลไกที่อยู่นอกระบบ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูง และยังไปกระทบกับ Real Sector อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านกลไกค่าเงินบาท
นอกจากนี้ กลับไปดูตัวเลขของ IMD ที่ความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยก็ลดลง เทียบเคียงกับประเทศมาเลเซีย เขาขึ้น เราลง แม้ Economic Performance เราเหมือนจะดูดี แต่มันเกิดจากการส่งออกด้วยโครงสร้างเดิม คือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฐานค่าแรงต่ำ รวมไปจนถึง Transshipment ที่เอาเข้ามาผ่านประเทศไทย แต่ตรงนั้นมันคือ Sunset เป็นเครื่องยนต์ที่ชะลอไปเรื่อยๆ
เมื่อกลับมาดูโครงสร้างอื่นๆ อย่าง Government Efficiency ในเรื่องของ Business Efficiency คะแนนไม่ดีเลย ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน คะแนนไม่ดีเลย โครงสร้างพื้นฐานเป็นอะไรที่น่าสนใจ เราทำได้ดีเรื่องสะพาน ถนน โครงสร้างทางอินเทอร์เน็ต แต่เราทำไม่ได้ดีเลยในเรื่องของการศึกษาหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม
เร่งสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ
นายผยงมองว่า ในสถานการณ์ดังกล่าว เราควรจะใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสหรือไม่ เร่งปฏิรูปไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ในสภาวะที่เราติดกับดักแบบนี้ คงต้องเดิน 3 ส่วนไปพร้อมๆ กัน คือ 1.มาตรการกระตุก โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ SME 2.การประคองกลุ่มที่ยังพอช่วยตัวเองได้ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจาก Trump Tariffs และ 3. ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
“เราต้องแยกแยะกลุ่มให้ชัดเจน เพราะทรัพยากรไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด กลุ่มจมน้ำ กลุ่มปริ่มน้ำ กลุ่มพ้นน้ำ แต่ละอันต้องการวิตามินหรือยาแต่ละประเภท เราอย่าเหมาเข่ง อย่าเหมารวม และใช้ทรัพยากรสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด กลุ่มเป้าหมายที่เราอยากจะช่วย ภาคอุตสาหกรรมที่เราอยากจะสนับสนุน ทักษะหรือแรงงานของประเทศไทย ที่คนไทยต้องมี และในเรื่องการจ้างงานที่มีรายได้ นำไปสู่ให้รัฐมีรายได้ ตอบโจทย์ในเรื่อง Future Economy และยังจำเป็นจะต้องช่วยชีวิตคนที่กำลังจมน้ำ ประคองคนที่ปริ่มน้ำ และเร่งสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน”
โดยกล่าวว่าถ้ากลับไปดูในเรื่องวิกฤติที่ผ่านมา เราจะเห็นหลุมกับดักทางเศรษฐกิจ เราโตในศักยภาพต่ำอยู่แล้ว แต่เรายังโดนกดไปด้วยโควิดและฟื้นช้า ตอนนี้เรากำลังโดนกดด้วย Trump Tariffs ทุกครั้งที่โดนกด มันจะใช้ทรัพยากรสาธารณะจำนวนมาก และถ้าเราใช้อย่างไม่ระมัดระวังและไม่ได้ประโยชน์ตลอด Value Chain ของระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรเราก็จะหมดไปอย่างน่าเสียดาย
ในส่วนมาตรการกระตุกระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ก็พยายามผลักดันเรื่องของ “คุณสู้เราช่วย” ทั้งเฟส 1 และ 2 หวังว่าจำนวนลูกหนี้เหล่านี้จะสามารถเข้ามาเร่งใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อจะลดหนี้ ปลดหนี้ แต่สิ่งที่ท้าทายคือ โครงสร้างทรัพยากรที่ถูกออกแบบนี้ จะเน้นไปในคนที่มีหนี้ในระบบ ไม่รวมแม้กระทั่งหนี้ของ Non- Bank ที่อยู่นอกระบบ NCB แต่โครงสร้างประเทศมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก ไม่รวมถึงหนี้สหกรณ์
เพราะฉะนั้นการมีข้อมูลที่เชื่อมโยงและเป็นข้อเท็จจริงที่เราสามารถขบคิดและออกนโยบายสาธารณะได้อย่างเชื่อมโยงถูกจุด และไม่ short-term เยียวยา ประคับประคองเพียงอย่างเดียว แต่เร่งสร้างในสิ่งที่ต้องปฏิรูปโครงสร้าง เป็นสิ่งที่สำคัญ
ทั้งนี้ การที่คนเป็นหนี้นอกระบบ อาจจะเกิดจากรถชน ไม่สบาย ลูกเข้าโรงเรียน ผิดพลาดทางธุรกิจ ฯลฯ แปลว่า Safety net ของประเทศต้องมีตั้งแต่เกิด วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ วันนี้เราก้าวสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าอีกหลายประเทศ ถ้ามองไปข้างหน้าอีก 20 ปี จะเป็นจุดที่ท้าทายมากถึงแรงงานที่สามารถสร้าง Economic Value ให้กับระบบเศรษฐกิจได้
กลับไปดู Corporate responsibility พบว่า 65% ของ GDP เกิดจากผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่การจ้างงานไม่ได้เยอะ แปลว่าเราควรจะต้องเร่งมีกลไกในระบบเศรษฐกิจให้ส่งผ่านประโยช์ที่สามารถสร้างได้โดยกลุ่มบริษัทของประเทศไทย ส่งผ่านให้ได้อย่างทั่วถึงผ่านกลไกของรัฐ แต่วันนี้ภาคเอกชนรายใหญ่ก็มีความท้าทายเช่นเดียวกันจาก Trump Tariffs
ส่วนในเรื่องของการที่จะยกระดับรายได้และเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตและรื้อฟื้นทางเศรษฐกิจ อันแรกคือจะต้องเร่งเสริมสร้างทักษะ สามารถที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบการศึกษาที่นำไปสู่การจ้างงาน ไม่ใช่การศึกษาที่นำไปสู่การตกงาน การศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยกลไก กยศ. สามารถทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวัยทำงานหรือไม่
ในขณะเดียวกัน นโยบายในการสนับสนุนการลงทุน ต้องปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียม ตัวช่วยของรัฐต้องไปช่วยให้ถูกจุด ต้องมี Incentive ให้อย่างเหมาะสม การที่ไปให้สิทธิประโยชน์ BOI ผ่าน Transshipment activities ควรจะต้องมีการทบทวนอย่างเร่งด่วน และการเร่งให้ตัวช่วยกับผู้ประกอบการในประเทศใช้ทรัพยากรในประเทศ จ้างแรงงานในประเทศ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้การผลักดันในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ PPP หรือในการตั้งกองทุน จะต้องเป็น Mission Oriented SWF ในการสร้างให้เกิดนวัตกรรมในประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความสามารถในการนำมาใช้ทั้งเทคโนโลยีและข้อมูลที่จำเป็น
ส่วนในเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) การลงทุนประเทศไทยถ้ามองไปในปี 2030 ในเรื่อง Net Zero Pathway เราต้องลงทุนอีกกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้ากลับไปดูปี 2024 ที่ผ่านมา การลงทุนของภาคเอกชนอยู่เพียง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น Gap มีมากมายในการลงทุนที่เน้นไปทาง ESG ขณะเดียวกัน กลับไปดูเพดานหนี้สาธารณะ วันนี้เราอยู่ที่ระดับ 65% เพดานอยู่ที่ 70% ถ้าเรายอมรับความจริง ต้องปรับเพดานของหนี้สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเอาไปทำอะไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องมาช่วยกันทบทวน
“ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถม แปลว่าในช่วงนี้มันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการที่จะเร่งสร้าง Trust & Confident ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขของ Boston Consulting ก็คอนเฟิร์มว่าทุกครั้งที่มีวิกฤติ มันจะเป็นโอกาสในการเติบโตเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น Financial Crisis ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Eurozone Crisis หรือล่าสุดของหลายประเทศคือเรื่องของโควิด-19 แต่ประเทศไทยไม่ได้ใช้โอกาสเหล่านั้นเลย”
ปฏิรูปการลงทุน R&D – เชื่อมข้อมูลให้ตรงจุด สร้าง Economic Value
นายผยงกล่าวด้วยว่า ถ้ากลับไปดูตัวเลขของ UNDP ในการที่จะเร่งผลักดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ในระบบ สรุปสั้นๆ ได้ว่า 1.ในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดทุนต้องเน้นเรื่อง Incentive based 2.ต้องทำให้กลไกภาครัฐเอื้อให้เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วเป็น One Stop Service 3.ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีเพื่อเป็นกลไกในการแปรผันทรัพยากรไปสู่จุดที่ควรจะเร่งสร้างกล้ามเนื้อ และวิธีการสนับสนุนควรจะเร่งมองในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ได้ประโยชน์กับทรัพยากรในประเทศ และบุคลากรในประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ และ 4. Rule of Law หรือการบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่บนหลักนิติธรรม
ในขณะเดียวกัน OECD ก็เน้นย้ำว่า การออกกฎหมายประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น อาจจะมีความท้าทายในเรื่องของความซับซ้อน แต่ที่หนักที่สุดคือ การบังคับใช้ไม่เป็นไปอย่างที่มุ่งหวัง อันนี้ก็เป็นจุดที่ต้องลดการใช้ดุลพินิจของภาครัฐ เร่งการใช้ Data และนำเทคโนโลยีมาใช้
ส่วนเรื่องของการลงทุน R&D ก็คือการเร่งลงทุนหรือดึงการวิจัยจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาเราพึ่งภาครถยนต์ ภาคอิเล็กทรอนิกส์ แต่ใช้ทรัพยากรในประเทศ ค่าแรงงานต่ำ แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นเลย อันนั้นก็เป็นตัวอย่างที่ซึมลึกมานาน ซึ่งวันนี้เราต้องเร่งสร้าง เพราะเป็นตัวฉุดรั้งในเรื่องของการเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพของประเทศ
ถัดมาเป็นการสะท้อนให้เห็นประชากรของประเทศว่า ระดับการศึกษาหรือระดับความรู้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีความท้าทายมาก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ในเรื่องของทักษะการใช้เทคโนโลยี เรามีสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 91% แต่คนที่ใช้ ChatGPT มีเพียง 6% สะท้อนว่าเรามี Infrastructure แต่ไม่สามารถมีทักษะเข้ามาใช้ Infrastructure นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้าง Economic Value ให้กับประเทศ
ทั้งหมดนี้ เราต้องเร่งให้เกิดการนำ Data ขึ้นมาให้เกิดการถกเถียงในเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมได้อย่างมีรูปธรรม เราไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งในการที่จะไปดึงข้อมูลมากอง แต่ข้อมูลทุกภาคส่วนควรจะต้องมีท่อในการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
จะเห็นได้จากเหตุการณ์ Trump Tariffs ว่าการที่จะต่อเส้นจากเซ็กเตอร์ไหนได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การจ้างงานหรือทรัพยากรในประเทศอย่างแท้จริง เป็นจุดที่ยังมีความท้าทายและสับสนอยู่ในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายผยงสรุปว่า ถ้าจะมองเรื่อง 3 แกนที่บอกว่าต้องมีทั้งกระตุก ประคองและกระตุ้น รวมถึงการปฏิรูป ทั้งหมดนี้ มาตรการใดๆ ก็ตาม ต้องมีเป้าหมายมากๆ และเชื่อมโยงในเชิงห่วงโซ่อุปทานให้ได้ และมาตรการเหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เงิน ต้องกลับไปทบทวนงบประมาณปี 2569 หรือไม่ในเรื่องของการใช้ และเพดานหนี้สาธารณะควรจะต้องถูกปรับยกและนำทรัพยากรตรงนั้นมาใช้อย่างไร
การมีกลไกต่างๆ ช่วยเหลือเป็นเรื่องดี เช่น มาตรา 28 (พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ) แต่ทั้งหมดถ้าเอาเงินมากองเป็นทรัพยากรสาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนี้โดยตรงหรือหนี้โดยอ้อม ทั้งหมดมันคือ Subsidy ที่เกิดจากทรัพยากรสาธารณะทั้งสิ้น ถ้ารัฐไม่รับเป็นรายได้ในเรื่องของตัว Income ของประเทศ แต่รัฐให้การช่วยเหลือก่อนที่จะส่งเข้าไปเป็นรายได้ของรัฐ นั่นก็คือทรัพยากรของประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเราทุกคน ทุกภาคส่วน เราคงฝากไว้กับภาครัฐอย่างเดียวคงไม่แฟร์ แต่ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน ก็คงต้องลุกขึ้นมาเติมเต็มในสิ่งที่เราเห็นภาพและสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ