เอกชนลุ้นภาษีสหรัฐจบที่ 20% ลดเสียเปรียบเวียดนาม ส่งออกไทยสูญ 6 แสนล้าน
หลังจากสหรัฐอเมริกาและเวียดนามบรรลุข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่ โดยสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามในอัตรา 20% (จากเดิมที่กำหนดไว้สูงถึง 46%) และกำหนดภาษี 40% สำหรับสินค้าที่ส่งผ่านแดนเวียดนามมายังสหรัฐ ขณะที่เวียดนามตอบรับด้วยการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0%
ความคืบหน้าดังกล่าวส่งแรงกดดันต่อทีมเจรจาการค้าของไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างเร่งหารือกับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายมาตรการภาษีนำเข้าใหม่ โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่าข้อตกลงเวียดนาม-สหรัฐฯ อาจกลายเป็น “แรงเปรียบเทียบ” ที่ทำให้ไทยต้องเร่งบรรลุข้อตกลงที่ไม่น้อยหน้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกสหรัฐ
โอกาสสูงไทยถูกเก็บภาษี 15-20%
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากวิเคราะห์ตามแบบจำลองผลการเจรจาของเวียดนามกับสหรัฐ ที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 20% มีโอกาสที่การเจรจาภาษีที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากไทยจากเดิม 36% (ที่ชะลอการจัดเก็บ 90 วัน ครบกำหนด 9 ก.ค. 2568) จะลดลงมาอยู่ในอัตรา 15-20%
โดยคิดตามสูตรการคำนวณภาษีของสหรัฐที่เดิมจะเรียกเก็บสินค้าจากเวียดนามที่ 46% จากในปีที่ผ่านมาเวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2567 ไทยส่งออกไปสหรัฐ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าต่างประเทศ(ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีน)ที่มาใช้ไทยเป็นจุดพักสินค้า และสวมสิทธิ์ส่งออก(transshipment)ไปยังตลาดสหรัฐรวมถึงตลาดอื่น ๆ คิดเป็น 20% ของการส่งออก มีผลให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐในปีที่ผ่านมา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ(เป็นตัวเลขการเกินดุลการค้าที่สหรัฐใช้คำนวณอัตราภาษีตอบโต้ไทยตัวเลข 36%)
“ภายใต้แบบจำลองของเวียดนามที่เกินดุลการค้าสหรัฐที่เกินดุลการค้าสหรัฐในปีที่แล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้เวียดนามจะเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ แต่ก็ยังถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 20% ขณะที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกินดุลการค้าสหรัฐน้อยกว่าเวียดนาม
ดังนั้นหากคิดคำนวณตามสูตรนี้ไทยมีโอกาสสูงที่จะถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 15-20% อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงไทยอาจจะถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้มากกว่า 20% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันว่าจะสร้างความพึงพอใจและให้ผลประโยชน์สหรัฐมากน้อยแค่ไหน”
จับตายอดส่งออกได้ดุลการค้าวูบ
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า มีโอกาสสูงเช่นกัน ที่ไทยอาจจะถูกสหรัฐกดดันต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% เช่นเดียวกับเวียดนาม เพื่อแลกกับอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่จะเรียกเก็บจากไทยในอัตราต่ำ เพื่อทำให้ยังคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ เพราะไม่เช่นนั้นสินค้าไทยที่มีสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 จะเสียเปรียบสินค้าจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐมากขึ้น รวมถึงสินค้าต่างประเทศที่มา transshipment หรือสวมสิทธ์สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐก็มีโอกาสที่จะถูกสหรัฐเก็บภาษีในอัตรา 40% เช่นเดียวกับเวียดนาม
อย่างไรก็ดีหากไทยบรรลุผลการเจรจาและถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้ที่ 20% คาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทางตรง รวมถึงสินค้าที่มา transshipment ในไทยไปสหรัฐ โดยคาดจะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐในครึ่งหลังของปีนี้ จะหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 6 แสนล้านในรูปเงินบาท และการเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐในปีนี้จะลดลงเหลือประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับกรณีที่ไทยต้องลดภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐเป็น 0%(ตามโมเดลเวียดนาม) ที่มองว่าจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศ คือในสินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวจะทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรที่สหรัฐมีศักยภาพสูงในการส่งออกมาไทย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี คงไม่กระทบมาก เพราะเป็นสินค้าที่ไทยมีการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ แต่ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาครัฐคงต้องหามาตรการลดผลกระทบ
สินค้าเกษตรแข่งเดือดเวียดนาม
ขณะเดียวกันสินค้าเกษตรที่ไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามในตลาดสหรัฐ เช่น ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ขนุน แก้วมังกร เป็นต้น ซึ่งโดยภาพรวมสินค้าจากเวียดนามมีความได้เปรียบไทยด้านต้นทุนการผลิต ส่วนในสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าหลายรายการที่เวียดนามมีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่าสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน(ไอโฟนมีโรงงานผลิตในเวียดนาม) ที่มีนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม
“สหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุด และเป็นตลาดอันดับ 1 ของสินค้าจากเวียดนาม เช่นเดียวกับสินค้าจากประเทศไทยที่มีสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกไปสหรัฐมูลค่ากว่า 1.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เวียดนามส่งออกไปสหรัฐมากกว่าไทยเท่าตัว เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงยอมลดภาษีให้สินค้าจากสหรัฐเป็น 0% โดยเวลานี้เวียดนามมีศูนย์กระจายสินค้าทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในสหรัฐจำนวนมาก บางแห่งมีขนาดใหญ่เท่าห้างแม็คโครบ้านเรา โดย 80% ของสินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าจากเวียดนาม”
บิ๊กสภาอุตฯ ลุ้นภาษีเหลือ 20%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลการเจรจาระหว่างสหรัฐและเวียดนาม ที่ได้ข้อสรุปสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าโดยตรงจากเวียดนามที่ 20% จากเดิมที่จะเก็บ 46% ถือเป็นเค้าลางว่าการเจรจาของไทยกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นวันนี้ (3 ก.ค. 68) ซึ่งตรงกับเวลาในประเทศไทยประมาณ 21.00 น. กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) แบบตัวต่อตัวน่าจะมีแนวทางที่คล้ายกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากหากคิดตามการประกาศเก็บภาษีนำเข้าที่ 46% จากเวียดนามของสหรัฐฯในเบื้องต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์มีการระบุว่าภาษีจะอยู่ในกรอบประมาณ 15-20% ที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บจากเวียดนาม ส่วนรายละเอียดยังไม่มีการเปิดเผย จนกระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศชัดเจนว่าบรรลุข้อตกลงกับเวียดนามเป็นประเทศที่ 3 โดยผลที่ออกมาก็คือจากเดิมเรียกเก็บภาษีนำเข้า 46% จะถูกปรับลดเหลือ 20% ส่วนกรณีสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์โดยผ่านเวียดนามจะถูกเรียกเก็บที่ 40% ส่วนเวียดนามยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเป็น 0%
ในเรื่องภาษี 0% สินค้านำเข้าจากสหรัฐในทุกรายการ ไทยก็อาจจะถูกตั้งเงื่อนไขแบบเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยังไม่นับรวมอีกหลายเงื่อนไขที่อาจถูกพ่วงมาด้วย โดยเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถเจรจาหรือเปิดเผยทางสาธารณชนได้
อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนจะเป็นอย่างไร คงต้องลุ้นกันคืนนี้ที่ทีมเจรจาของไทยจะได้หารือกับ USTR อย่างเป็นทางการนัดแรก เพราะกำหนดเดดไลน์การผ่อนปรนมาตรการการเก็บภาษีนำเข้าคือวันที่ 9 ก.ค. 68 ซึ่งยังไม่รู้ว่าไทยจะเจรจาได้ทันหรือไม่ โดยสหรัฐฯอาจจะใช้แนวทางเดียวกับเวียดนามกับประเทศในแถบนี้ แค่รายละเอียดในแต่ละประเทศที่อาจจะแตกต่างกัน แต่หากไม่ทันกำหนดก็ต้องดูว่าสหรัฐฯจะยืดเวลาออกไปอีกเท่าไหร่
“ลองนึกภาพดูว่า หากสหรัฐยืดเวลาเจรจาให้กับไทย หลังจากที่เดดไลน์ครบแล้ว ไทยก็ยังได้รับสิทธิ์เสียภาษีนำเข้า 10% (ภาษีพื้นฐาน)อยู่ ก็จะได้เปรียบเวียดนาม แต่หากไม่มีการยืดเวลาไทยจะเสียภาษีที่ 36% ขณะที่เวียดนามเสียแค่ 20% ไทยก็จะเสียเปรียบ”
สรท.ห่วงส่งออกกระทบสวมสิทธิ์
ด้าน นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เผยว่า กรณีที่เวียดนามมีการเจรจาอัตราภาษีตอบโต้กับสหรัฐ โดยล่าสุดสินค้าส่งออกจากเวียดนามไปสหรัฐจะลดลงเหลือ 20% ขณะที่สหรัฐส่งออกมาเวียดนามภาษีเหลือเป็น 0% นั้น การเจรจาของไทยกับสหรัฐ อาจได้รับลดภาษีเหลือ 20% เช่นกัน
ขณะเดียวกันหากสินค้าส่งออกของไทยถูกตรวจพบว่ามีการสวมสิทธิ์จากสินค้าต่างประเทศจะถูกสหรัฐเก็บภาษีในส่วนนี้ถึง 40% อาจส่งผลกระทบรุนแรงในกลุ่ม เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เนื่องจากไทยส่งออกกลุ่มนี้มากไปยังสหรัฐ
“ไทยเรามีความเสี่ยงที่โดนภาษีหนักกว่าเวียดนามเพราะทีมเจรจาไม่ได้ยอมหมดแบบเวียดนาม อย่างไรก็ตามไทยมีการนำเสนอการควบคุม Transshipment ก็อาจได้รับการพิจารณาพิเศษได้ เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการสร้างความน่าเชื่อใจให้กับสหรัฐว่าเราจะควบคุม Transshipment ได้จริงไม่ให้ประเทศเป็นเครื่องมือของจีนได้สำเร็จ”