"ราชทัณฑ์" ยัน "ทักษิณ" ป่วยจริง ต้องใช้ออกซิเจน–ใส่เฝือก รักษาตัวในรพ.ตำรวจ
ไม่ได้ใส่กำไล EM ราชทัณฑ์ ยัน “ทักษิณ” ป่วยจริง ต้องใช้ออกซิเจน–ใส่เฝือก รักษาตัวในรพ.ตำรวจ ตามMOU กรมราชทัณฑ์
วันที่ 8 ก.ค. 2568 ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการนัดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ซึ่งอัยการสูงสุดร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ
ช่วงบ่ายเวลา 13.10 น. ศาลเริ่มการไต่สวนนัดที่3 โดยพิจารณาพยานฝ่ายโจทก์เพิ่มเติมอีก 4 ปาก ประกอบด้วย นักทัณฑวิทยาปฏิบัติการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 1 คน , เจ้าพนักงานราชทัณฑ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 2 คน , และเจ้าพนักงานราชทัณฑ์จากเรือนจำอุตรดิตถ์อีก 1 คน
การไต่สวนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยพยานทั้ง 4 คน ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยในระหว่างการพักรักษาตัวของจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยมีการสังเกตการณ์ที่บริเวณหน้าห้องพักผู้ต้องขังทุก 10–15 นาที เป็นระยะต่อเนื่อง และรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบวันละ 4 ครั้ง
ในประเด็นเรื่องอาหาร พยานระบุว่า จำเลยได้รับอาหารจากโรงพยาบาลตำรวจเช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น ไม่มีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาหารทุกมื้อจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ก่อนนำส่งให้จำเลย ขณะเดียวกัน ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมในห้องพัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมตามระเบียบราชทัณฑ์
พยานให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายของจำเลยในขณะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยระบุว่า จำเลยอยู่ในสภาพอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด ขณะนั้นนอนอยู่บนเตียง ไม่สามารถทรงตัวหรือลุกขึ้นได้ด้วยตนเอง ต้องมีพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
นอกจากนี้ พยานยังให้ข้อมูลว่า จำเลยมีอาการหายใจเหนื่อยและอ่อนแรงเป็นระยะ จึงมีการใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ (ออกซิเจน) อยู่เป็นบางช่วง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์และการประเมินอาการในขณะนั้น โดยจำเลยยังสวมอุปกรณ์พยุงคอ (neck brace) และใส่เฝือกเพื่อประคองอวัยวะที่บาดเจ็บอีกด้วย
เมื่อศาลสอบถามว่าได้มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมตัวจำเลย เช่น กำไลอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ พยานยืนยันว่า ไม่มีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในระหว่างการดูแลจำเลยแต่อย่างใด
ต่อประเด็นที่ว่าทำไมจึงต้องส่งตัวจำเลยไปรักษายังโรงพยาบาลตำรวจ พยานชี้แจงว่า เป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ หากผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และได้รับการประเมินจากพยาบาลเวรว่าเกินศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในการดูแลรักษา จะต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจเป็นลำดับแรก เนื่องจากโรงพยาบาลตำรวจถือเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมราชทัณฑ์
ในช่วงท้าย ศาลได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำ พยานให้การว่า การดำเนินการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแต่ละราย โดยต้องอ้างอิงตามระเบียบราชการและหลักเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการไต่สวนพยานทั้ง 4 คน เสร็จสิ้น ศาลได้สรุปว่าการไต่สวนพยานกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้ง 9 รายได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมนัดพิจารณาครั้งถัดไปในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ตามกำหนดเดิม
นอกจากนี้ ศาลได้เน้นย้ำให้คู่ความและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ