‘สหไทย สุราษฎร์ธานี’ ปรับแผนรับมือคนไทยรัดเข็มขัด สร้างค้าปลีกมุ่งอันดับหนึ่ง
ส่องค้าปลีกโลคอลไทยจากภาคใต้ โดยกลุ่มสหไทย ห้างค้าปลีก จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองท่องเที่ยวชื่อดังในภาคใต้ และเป็นหนึ่งในทำเลที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากกระแสของภาพยนตร์ ไวท์ โลตัส (White Lotus) ได้เข้ามาถ่ายทำในจังหวัด จึงสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจำนวนมาก แต่ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่คึกคักอยู่ก็ตาม โดยกลุ่มสหไทย ห้างค้าปลีก สุราษฎร์ธานี ไม่ได้เน้นกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัด ยังได้วางแผนทำให้ห้างค้าปลีกยืนหนึ่งในใจของกลุ่มลูกค้าคนไทยได้ในระยะยาว
สลิล ปัญจคุณาธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ห้างสหไทย สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “สหไทย สุราษฎร์ธานี” ได้เปิดดำเนินมายาวนานมาร่วม 42 ปีแล้ว จากรุ่นแรกที่ก่อตั้งคือ ธุรกิจครอบครัว ที่มีทั้งศูนย์การค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของกลุ่มลูกค้าจังหวัด สุราษฎร์ธานี ต่อมาตนเองและน้องชายได้เข้ามาร่วมบริหารค้าปลีกในเครือ จึงมีความท้าทายจากการที่ทำให้แบรนด์อยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่องจากรุ่นแรก
ทั้งนี้บริษัทวางแผนสร้างแบรนด์ค้าปลีกให้มีความแตกต่าง (differentiation) จากค้าปลีกแห่งอื่นๆ โดยใช้กลยุทธ์ในการบริหารงานศูนย์การค้า ทั้งการผสมผสานด้วยรากฐานของกลยุทธ์หลัก 4 P Marketing ด้วยการออกแบบสถานที่ และการรีโนเวทของพื้นที่ค้าปลีกใหม่ โดยเฉพาะโซนของซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ปรับใหม่ให้สอดคล้องกับดีมานด์ของกลุ่มลูกค้า พร้อมขยายพื้นที่ของอาหารสดใหม่ให้มีขนาด 850 ตร.ม. จากในปัจจุบันมีพื้นที่ 450 ตร.ม. รองรับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่มีความต้องการกลุ่มอาหารสดมากขึ้น รวมถึงกำหนดราคาสินค้า ให้อยู่ในระดับราคาที่มีความคุ้มค่าและเป็นราคาที่ไม่สูง แต่ต้องมุ่งคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพดี เพื่อทำให้ทุกคนได้รับความสะดวกและตัดสินใจง่ายในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
“โจทย์ที่ท้าทายการทำธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน มาจากกลุ่มลูกค้าตัดสินใจพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้าแบบคิดมากขึ้น และใช้เวลานานขึ้น ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการเลือกสินค้าเข้ามาทำตลาดจึงต้องเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้ราคาที่มีความเหมาะสม ร่วมกระตุ้นทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้รวดเร็วมากขึ้น”
รวมถึงพื้นที่ในศูนย์การค้าได้ปรับมานำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น เพื่อเพิ่มความหลากหลาย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันที่เข้ามาใช้บริการจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนเพิ่มขึ้น จากทำเลที่อยู่ในเมืองและใกล้กับโรงเรียนหลายแห่ง รวมถึงการขยายทำโซนใหม่ที่มีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ พร้อมการดึงแบรนด์ขนาดใหญ่มาเปิดทั้งแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ร้านอุปกรณ์กีฬา
อีกช่องทางสำคัญในการทำตลาดคือ การขยายผ่านออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้ามากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าคนไทยในการเลือกซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไปภายหลังโควิด หันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้น ทำให้ต้องขยายช่องทางออนไลน์ให้ครอบคลุม และการทำระบบออนไลน์ในการชำระเงินสดให้ลูกค้ามีความสะดวก รวมถึงสร้างมาตรฐานที่มีความปลอดภัยเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มลูกค้า ทั้งหมดจึงสอดคล้องกับการบริหารค้าปลีกที่เข้าสู่การเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ (Omnichannel)
ต่อมาได้มุ่งจัดทำโปรโมชั่นและการทำอีเวนต์สำหรับกลุ่มลูกค้าในชุมชน ร่วมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า และการสร้างความประทับใจ เพื่อร่วมกระตุ้นกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ รวมถึงการเพิ่มความถี่ในการเลือกซื้อสินค้า ซึ่งเป็นการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดรับกับกลุ่มลูกค้าในแต่ละสถานการณ์ที่มีความต้องการแตกต่างกัน อีกทั้งได้ร่วมผนึกกำลังกับผู้ประกอบการในชุมชน นำสินค้าท้องถิ่นที่ยอดนิยม เข้ามาวางจำหน่าย เป็นอีกแม่เหล็กในการดึงกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการ เนื่องจาก ในจังหวัด สุราษฎร์ธานี มีนักท่องเที่ยวหลักมาจากยุโรป
“การทำค้าปลีกแต่มุ่งแข่งขันด้วยราคาอย่างเดียว จะไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน สิ่งสำคัญต้องสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้า และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ด้วยการทำอีเวนต์และการทำโปรโมชั่น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนในพื้นที่”
ทั้งนี้ บริษัทได้วางเป้าหมายในระยะยาวที่จะพัฒนาและยกระดับพื้นที่ค้าปลีกให้แข็งแกร่งมากขึ้น จึงวางแผนทำพื้นที่ไนท์มาร์เก็ต บริเวณใกล้กับศูนย์การค้า จากในปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมมีอยู่ 40 ไร่ แต่ได้ใช้พื้นที่ไปแล้วประมาณ 20 ไร่ จึงสามารถนำมาต่อยอดและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์กร่วมดึงดูดกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการร่วมมือผู้ประกอบการในชุมชนและร้านค้าขนาดเล็ก โดยวางแผนเปิดให้บริการในช่วงปี 2569
อย่างไรก็ตาม จากแผนการตลาดที่วางไว้และการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าและสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าในปีนี้ สร้างการเติบโต 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน