'หวยเกษียณ' ฉลุย มติสภาฯเห็นชอบวาระ3 ส่งวุฒิสภาพิจารณาตราเป็นกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (23 ก.ค.68) นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณา ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.กอช. ซึ่งมีการแก้ไขให้สามารถออกและขายสลากให้แก่ประชาชนได้ หรือ 'หวยเกษยีณ'
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งมีนายเผ่าภูมิ โรจนสุนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจนเสร็จสิ้น
นายเผ่าภูมิได้ชี้แจงระหว่างการเสนอร่างแก้ไขว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้โครงการหวยเกษียณเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยได้แก้ไข 6 ประเด็นสำคัญดังนี้
1. ปรับระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย: การปรับระยะเวลาจากเดิม 90 วันเป็น 60 วัน เพื่อให้ระบบและแอปพลิเคชัน กอช. พร้อมเปิดใช้งานเร็วขึ้น
2. แก้ไขเรื่องเงินรางวัล การกำหนดเงินรางวัลในกฎกระทรวงเพื่อความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนและทำให้โครงการมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ
3. เปิดโอกาสให้ถอนเงินก่อนอายุ 60 ปี การระบุในกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถถอนเงินบางส่วนได้หากมีความจำเป็น
4. เพิ่มจำนวนครั้งในการถอนเงินสำหรับผู้ทุพพลภาพ จากเดิมที่สามารถถอนเงินได้ 1 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง
5. อำนาจหน้าที่ของ กอช. ในการคืนเงินต้น การคืนเงินต้นให้กับประชาชนเมื่ออายุ 60 ปี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและประสิทธิภาพสูงสุด
6. แก้ไขปลีกย่อยต่างๆ เพื่อทำให้โครงการมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในกอช. จะเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมแก่ประชาชน โดยมีหลักการคือการไม่ให้เงินหายไป กลายเป็นเงินออม แทนที่ นอกจากนี้ ตั้งเป้าหมายเปิดขายงวดแรกภายในไตรมาส 4 ปีนี้
ในระหว่างการพิจารณาวาระสอง แม้จะมีบางฝ่ายที่คัดค้านและเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์ แต่ สส. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการออมผ่านหวยเกษียณ ซึ่งมีข้อเสนอให้สามารถถอนเงินบางส่วนก่อนอายุ 60 ปี หรือให้เปลี่ยนเกณฑ์อายุการซื้อจาก 15 ปีเป็น 18 ปี โดยนายเผ่าภูมิได้ชี้แจงว่า "การออมไม่ใช่การพนัน เพราะทุกบาทที่ซื้อคือเงินออม และการเปิดกว้างในเรื่องอายุช่วยให้เยาวชนสามารถเริ่มออมได้ตั้งแต่เร็วที่สุด"
หลังจากการอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระสาม โดยมี 427 เสียงเห็นด้วย, 1 เสียงไม่เห็นด้วย และ 3 คนงดออกเสียง ทำให้พ.ร.บ.กอช. ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ และจะถูกส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป