กทม.เสนอ จ้างเอกชนเก็บขยะปี 69 ลดภาระ จนท. แก้ปัญหากำลังขาด 400 อัตรา ไร้ผู้สมัคร
วันที่ 18 ก.ค.68 นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยปัญหาเจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอยไม่เพียงพอและแนวทางแก้ไขว่า ปัญหาขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอยส่วนใหญ่อยู่ในสำนักงานเขต แต่เขตยังไม่มีการเกลี่ยกำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมกับปริมาณขยะและขนาดพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร โดยแต่ละเขตให้เหตุผลว่า ปริมาณงานภายในเขตมีจำนวนมากเช่นกัน
แนวทางแก้ไขคือ ต้องเกลี่ยกำลังเจ้าหน้าที่ให้ตรงกับจำนวนงานที่มี ปัจจุบัน กทม.เริ่มมีการเกลี่ยเจ้าหน้าที่แล้ว เช่น กระจายเจ้าหน้าที่จากเขตบางรักบางส่วน ไปช่วยที่เขตสายไหม เป็นการเกลี่ยกำลังคนจากเขตเล็กไปช่วยเขตใหญ่ซึ่งมีภาระงานมาก
ส่วนเรื่องปริมาณงานมากหรือน้อย ใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิด เช่น ปริมาณขยะ ขนาดพื้นที่ รอบจัดเก็บ จำนวนเจ้าหน้าที่และจำนวนรถ เพื่อนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับอัตรากำลังที่มีอยู่ทั้งหมด และเกลี่ยให้เหมาะสมในแต่ละเขต ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ และให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลส่วนนี้อย่างมาก ดังนั้นภาระงานมากหรือน้อย ใช้ข้อมูลบ่งชี้เป็นหลัก
ขณะเดียวกัน รถขยะขนาดต่าง ๆ ที่หมดสัญญาและจัดเช่าใหม่ จะติดตั้ง GPS ติดตามการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งในสัญญาจัดเช่ารถขยะรอบใหม่ด้วย ปัจจุบันเริ่มมีการติดตั้ง GPS ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบทั้งหมด เนื่องจากต้องจัดทำระบบเน็ตเวิร์ก หรือเครือข่ายบันทึก จัดเก็บ ประมวลผลและรายงานข้อมูลควบคู่กัน
ส่วนปัญหาที่เขตสายไหม เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมาก ที่ผ่านมา กทม.จึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปสมทบจำนวนมากเช่นกัน แต่อุปสรรคของการจัดรอบเก็บขยะในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบทำได้ยาก เพราะยังไม่เห็นภาพรวมทั้งหมดอย่างชัดเจน อยู่ระหว่างจัดทำผังรวมพื้นที่ทั้งหมด
"การเกลี่ยกำลังคนลงไปในแต่ละเขต อยู่ในกำกับดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ เข้าใจว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากไปพื้นที่ไกล ๆ เพราะต้องเดินทางไกลมากขึ้น แนวทางแก้ไขขณะนี้คือ กทม.มีแผนจ้างเอกชนเพิ่มประมาณ 15% เพื่อจัดเก็บขยะในบางพื้นที่ที่มีปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะ รวมถึงจัดเก็บในพื้นที่ชุมชนที่รถขยะเข้าถึงยาก ตั้งเป้านำร่องในกลุ่มเขตตะวันออก ที่ผ่านมาเคยเสนอโครงการจ้างเอกชนจัดเก็บขยะไปแล้ว แต่โครงการถูกตัดออก อย่างไรก็ตาม จะมีการทบทวนและเสนอโครงการอีกครั้ง" นายต่อศักดิ์ กล่าว
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ว่า กทม.มีกรอบอัตรากำลังในการเก็บขนมูลฝอย จำนวน 10,376 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 2,568 อัตรา พนักงานเก็บขนมูลฝอย 7,808 อัตรา ในส่วนพนักงานขับรถและรถขยะมีเพียงพอ แต่พนักงานเก็บขนไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้ามาสมัครทำงานไม่ครบตามกรอบอัตราที่มี สาเหตุสำคัญคือค่าตอบแทนน้อยกว่าภาคเอกชนหรือการขับรถส่งของผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมถึงกรณีมีผู้สมัครสอบผ่านแล้ว แต่ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญกรรม จึงไม่สามารถเข้าทำงานได้ และกรณีเข้ามาทำงานระยะสั้นแล้วลาออกไปทำงานอื่นที่เบากว่า รายได้มากกว่าทดแทน ในส่วนสำนักงานเขต พบว่ามีขยะอันตรายที่ต้องจัดเก็บมากขึ้น ทำให้อัตรากำลังที่มีอยู่ มีภาระงานมากขึ้น เกิดปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ส่งผลให้รอบจัดเก็บลดลง กระทบต่อการบริการประชาชน
ด้านนายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาปริมาณขยะเกินกำลังเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2562 ขณะนั้นมีจำนวนขยะประมาณ 10,700 ตัน/ปี ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 9,200 ตัน/ปี ซึ่งแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ดำเนินการทั้งระบบ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะนโยบายแยกขยะ ลดค่าธรรมเนียม ส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ หากได้ผลดี นอกจากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว จะช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่เก็บขน และสามารถเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ได้ในอนาคต ดังนั้น ต้องดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อน ว่าสัดส่วนค่าธรรมเนียม ปริมาณขยะ ภาระงานและบุคลากรที่มี เป็นอย่างไร ปัจจุบันมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้พนักงานเก็บขนแล้วเดือนละ 1,000-2,000 บาท ตามการทำหน้าที่
ส่วนเรื่องอัตรากำลัง ปัจจุบันมีตำแหน่งว่าง 400 อัตรา ไม่มีผู้สมัคร เข้าใจว่าคนไทยไม่สนใจทำงานด้านนี้แล้วในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นงานหนักและเปื้อน การเกลี่ยอัตรากำลังมีทั้งเกลี่ยตำแหน่งที่ว่างอยู่ เกลี่ยเจ้าหน้าที่เก็บขนไปช่วยเขตที่กำลังคนและรถไม่พอ รวมถึงขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นไปช่วย เช่น เจ้าหน้าที่กวาด เจ้าหน้าที่สวน เป็นต้น เนื่องจากมีความจำเป็น โดยเฉพาะเขตสายไหม มีการเกลี่ยคนและเพิ่มรถเก็บขน 5-6 คัน
ส่วนโครงการจ้างเอกชนจัดเก็บมูลฝอย อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณ โดยเสนอแปรญัตติโครงการดังกล่าว ปรับลดจากเดิมจ้างเอกชนเก็บขนวันละ 1,000 ตัน (10%) เหลือวันละ 500 ตัน เริ่มทำหน้าที่ในเขตลาดกระบัง สายไหม คลองสามวา ทวีวัฒนา เป็นต้น หากงบประมาณโครงการผ่าน จะเริ่มจ้างในปี 2569 แต่หากงบประมาณไม่ผ่าน ก็ต้องใช้วิธีกระจายกำลังคนจากสำนักสิ่งแวดล้อมไปช่วย และคำนวณผลลัพธ์จากนโยบายแยกขยะ ลดค่าธรรมเนียม เพื่อปันส่วนเพิ่มค่าตอบแทนแก่พนักงานดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนเรื่องจำนวนรถเก็บขน มีเพียงพอแล้ว ใช้วิธีวิ่ง 2 รอบ/คัน/วัน โดยเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ใหม่ทุกรอบ ไม่ให้เหนื่อยล้าเกินไป
ขณะที่ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ ในฐานะประฐานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สนับสนุนเรื่องการจ้างเอกชนมาช่วยจัดเก็บขยะมาตั้งแต่การของบประมาณโครงการครั้งที่แล้ว เพราะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพในระยะยาวและค่าตอบแทน ทำให้ไม่มีผู้สมัครเข้าทำงานตามที่ กทม.เปิดรับ ปัจจุบันเห็นแล้วว่ามีการเสนอโครงการเข้ามาอีกครั้ง แต่ต้องดูรายละเอียดให้แน่ชัดก่อน เพราะปัญหาการเสนอของบโครงการที่พบคือ การชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดในเอกสารมักไม่ตรงกัน รวมถึงต้องดูสัญญาการจัดจ้างให้ถี่ถ้วน เพื่อความคุ้มค่าและป้องกันปัญหาภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2567 คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ตัดงบประมาณโครงการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนมูลฝอยทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินประมาณ 2,372,500,000 บาท ของคณะอนุกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักสิ่งแวดล้อม
โดยให้เหตุผลว่า โครงการดังกล่าวเก็บขยะเฉพาะจุดใหญ่ ไม่ได้เก็บตามซอกซอยชุมชน จึงไม่ได้ลดภาระเจ้าหน้าที่เก็บขยะของเขต ซึ่งท้ายสุดเจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม.ยังมีภาระจัดเก็บขยะเหมือนเดิม จึงเห็นว่า การจ้างเอกชนมาเก็บขยะเป็นการเสียงบประมาณซ้ำซ้อน โดยปกติสำนักงานเขตมีการจัดเก็บขยะตามแผนอยู่แล้ว ไม่มีขยะตกค้าง แต่จะมีที่เขตสายไหม
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯมีการโหวต 2-3 ครั้ง เนื่องจากมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในจำนวนใกล้เคียงกันมาก แต่ท้ายสุดมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย จึงตัดงบโครงการไป โดยมีข้อสังเกตหลักคือ โครงการดังกล่าวควรคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ต้องมีแผนรองรับที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุด รวมถึงโครงการดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหามูลฝอยส่วนเกินในพื้นที่เขตนำร่อง 10 เขต ควรกำหนดเส้นทางการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเส้นทางที่ กทม.ดำเนินการเอง การจ่ายค่าจ้างคิดจากปริมาณมูลฝอยที่เก็บได้ควรมีข้อกำหนดขอบเขตของงานและการตรวจรับที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับจ้างเก็บขนมูลฝอยนอกเส้นทางที่ กทม.กำหนด
อย่างไรก็ตาม การของบโครงการดังกล่าวครั้งใหม่ มีการพิจารณาลดการจ้างเอกชนจาก 5 ปี เหลือ 2-3 ปี ลดการเก็บขยะจาก 1,000 ตัน/วัน เป็น 500 ตัน/วัน ทำให้วงเงินงบประมาณลดลง เพื่อนำร่อง และแก้ปัญหาในเบื้องต้น ต้องติดตามต่อไปว่าโครงการนี้จะผ่านและคุ้มค่าหรือไม่