โลกแข่งขันสะสม "อาวุธนิวเคลียร์" หายนะปรมาณูยิ่งใกล้ บทเรียน 80 ปี ฮิโรชิมะ-นางาซากิ ไร้ความหมาย?
จำระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกที่ถูกทิ้งใส่ฮิโรชิมะ และนางาซากิ ของญี่ปุ่นได้ไหม
มันทำให้โลกตื่นตัวถึงพลังทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ ที่ไม่ควรถูกใช้กับประเทศใดอีก
แต่โลกที่ยังเต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง กลับทำให้การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ กลับดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก
สองลูกที่ญี่ปุ่น
6 สิงหาคม 1945 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฮิโรชิมะของญี่ปุ่น
9 สิงหาคม 1945 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดอีกลูกที่นางาซากิ นั่นถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ระเบิดนิวเคลียร์ถูกจุดชนวนขึ้นบนโลก
พลังทำลายล้างของมันสังหารประชาชนกว่า 200,000 คน รวมถึงเด็ก 38,000 คน
โศกนาฏรรมในห้วงสงครามครั้งนั้น ก่อให้เกิด Nuclear Taboo คือ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทางศีลธรรม
ชีวิตนับแสนที่สูญเสีย ไม่พอยับยั้งการพัฒนาและสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
ความเสี่ยงต่อหายนะนิวเคลียร์เอง ในทางภูมิรัฐศาสตร์ มันก็เป็นการป้องปราม ไม่ให้ประเทศผู้ถือครอง ทำสงครามด้วยเช่นกัน
แต่นั่นไม่ได้ทำให้คำว่า อาวุธนิวเคลียร์ หายไป
รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์?
ช่วงปี 2022 ตอนที่ รัสเซียรุกรานยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์หลายครั้ง เสมือนคำขู่ให้ชาติตะวันตก อย่าเข้ามาแทรกแซงในสงครามครั้งนี้
"เงื่อนไขที่รัสเซียจะเปลี่ยนไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ถูกกำหนดไว้แล้ว เราจะพิจารณาตัวเลือกนี้ หากพบว่า มีการโจมตีเข้ามาใส่เรา" วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าว
รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก 5,459 ลูก สหรัฐฯ มี 5,177 ลูก รวมแล้วคิดเป็น 90% ของคลังแสงนิวเคลียร์โลก
ทั้งที่ โลกมีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ที่ลงนามในปี 1988 แต่นั่นก็ไม่ได้ยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เลย
ยกตัวอย่าง ในปี 1988 มีชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ 5 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อดีตสหภาพโซเวียต จีน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร แต่ปัจจุบัน กลับเพิ่มเป็น 9 ประเทศ รวมถึงอินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ และปากีสถาน
นั่นทำให้เลขาธิการสหประชาชาติเตือนว่า สงครามนิวเคลียร์มันใกล้เข้ามามากกว่าที่คิด นาฬิกาวันสิ้นโลกมันเริ่มดังชัดขึ้นเรื่อย ๆ
โลกไม่ได้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ 2017 แต่ความหวาดกลัว ยังไม่จางหายไป อิสราเอลหวั่นมาตลอดว่า อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว และสุ่มเสี่ยงจะถูกใช้ นำมาสู่การโจมตีแหล่งพัฒนานิวเคลียร์ทั่วอิหร่าน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2025 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามนาน 12 วัน มีผู้เสียชีวิตทั่วอิหร่านกว่าพันคน และ 28 คนในอิสราเอล
"ยังมีหนทางทางการทูตอยู่และเราต้องใช้มัน มิเช่นนั้น ความรุนแรงและการทำลายล้าง จะพุ่งถึงจุดที่คาดไม่ถึง ทำให้ระบบการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ ที่เป็นเสาหลักความมั่นคงโลก มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ล่มสลายลงได้" ราฟาเอล กรอสซี เลขาธิการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
ยุคแห่งการแข่งขันสะสมหัวรบ
นับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น มหาอำนาจปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์ในอัตราที่เร่งขึ้น และเร็วกว่าการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ๆ
แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โลกจะเห็นอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความแคลงใจต่อนานาชาติว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นพันธมิตรที่จะมายืนหยัดเคียงข้าง ในยามสงครามอีกต่อไปแล้ว
ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีแนวโน้มจะพยายามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อรับมือภัยจากเกาหลีเหนือ
นายกรัฐมนตรีโปแลนด์เอง ก็ไม่ปิดประตูการที่ประเทศจะมีอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อป้องปรามภัยจากรัสเซีย
และเมื่อดูตัวเลขจาก ICAN จะพบว่า โลกลงทุนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2024 เป็นเงินมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2023 ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์
ขณะที่จีนเอง ได้เพิ่มคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยหัวรบใหม่ 100 ลูก ระหว่างปี 2023 ถึง 2024 ด้วย
"เรากำลังเห็นสัญญาณถึง การแข่งขันสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ มันไม่ใช่แค่ปริมาณหัวรบ หรือปริมาณขีปนาวุธ แต่มันเป็นการแข่งขันสั่งสมอาวุธ ที่ยังล้ำสมัยด้านเทคโนโลยีด้วย" แดน สมิธ ผอ.สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เยอรมนีค้นพบ "โรงงานไขมัน" โบราณโดยมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 125,000 ปีก่อน
- IAEA เผยอิหร่านอาจกลับมาพัฒนานิวเคลียร์อีกไม่นาน
- IAEA เผย อิหร่านอาจกลับมาผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะได้อีกครั้งเร็ว ๆ นี้
- ญี่ปุ่นไม่พอใจทรัมป์ จากคำพูดเปรียบเทียบ โจมตีอิหร่านเหมือนทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฮิโรชิมา-นางาซากิ
- รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเผย ยังไม่มีแผนคุยกับสหรัฐฯ อีกครั้ง