CGSI ลดน้ำหนักลงทุน “หุ้นปิโตรเคมี” เซ่นอุปทาน “เอทิลีน” ล้นตลาด
ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า บริษัท Dow Inc. เตรียมปิดโรงงานผลิตเอทิลีน (ethylene cracker) ในเมือง Bohlen ประเทศเยอรมนี มีกำลังการผลิต 560,000 ตันต่อปี อย่างถาวรภายในไตรมาส 4/2570 ซึ่งเมื่อรวมกับโรงงานในภูมิภาคอื่น คาดว่าจะมี cracker ปิดถาวรรวม 6 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2.94 ล้านตันต่อปี ระหว่างปี 2568–2570
อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตที่ปิดถาวรดังกล่าวยังไม่เพียงพอชดเชยกับแผนการขยายกำลังผลิตใหม่ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 17.6 ล้านตันต่อปีในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้มีอุปทานสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 9–13 ล้านตันต่อปีในปี 2569–2571 เทียบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเพียง 6.8–7.3 ล้านตันต่อปี CGSI คาดว่าจำเป็นต้องมีโรงงานขนาดเล็กอีก 5–13 แห่ง ปิดถาวรเพิ่มเติม เพื่อให้ตลาดกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล
ขณะเดียวกัน CMA รายงานว่า สหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกอีเทนไปจีนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ส่งผลให้โรงงานผลิตเอทิลีนในจีนมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตจาก 76% ในเดือนกรกฎาคม เป็น 79% ในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากสามารถเข้าถึงวัตถุดิบได้มากขึ้น ส่วนโรงงานในอาเซียนยังเผชิญข้อจำกัดด้านต้นทุนวัตถุดิบและการหยุดซ่อมบำรุง คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงต่ำกว่า 71%
สำหรับผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ เช่น PET, PE, PP และ PVC นั้น CGSI ระบุว่าได้รับการยกเว้นจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐ หากไทยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากการทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย เนื่องจากจีนเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกจากสหรัฐไปยังประเทศอื่น ข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) พบว่าการส่งออกพอลิเมอร์จากจีนมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 12–103% ระหว่างปี 2563–2567
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันจากจีน และความต้องการที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด CGSI จึงยังคงคำแนะนำ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) สำหรับหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีของไทย โดยมองว่าความเสี่ยงขาลงยังมีอยู่มาก แม้จะมีปัจจัยบวกจากต้นทุนวัตถุดิบที่อาจลดลงหรือราคาสินค้าที่สูงกว่าคาดก็ตาม