ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 16 ก.ค.68 ‘อ่อนค่า‘ เฟดไม่เร่งลดดอกเบี้ย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45- 32.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมาเงินบาท(USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 32.39-32.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด จากเดิมผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง ในปีนี้ เป็น เฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ที่ออกมาสูงขึ้นสู่ระดับ 2.7% (+0.3%m/m) สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 2.6% (+0.1%m/m) ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจยังไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้แน่ชัด ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
นอกจากนี้ การปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดยังได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.50% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงและเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
แนวโน้มค่าเงินบาท
แนวโน้มค่าเงินบาท แม้เราจะยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ตามจังหวะการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัดก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะรับรู้ในช่วงวันพฤหัสฯ นี้ และเรามองว่า หากจะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม จากโอกาสราว 74% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ เหลือ 50% หรือต่ำกว่า อาจจะต้องเห็นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใสและดีกว่าคาดชัดเจน ซึ่งจะเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคมมากกว่าในช่วงนี้
ทำให้เรามองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้มากนัก (ขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามั่นใจว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ได้ หากข้อมูลออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้)
นอกจากนี้ เรามองว่า ราคาทองคำยังมีโอกาสทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น ซึ่งหากราคาทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้โดยรวมเงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวต้าน 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เราถึงจะกลับมามั่นใจว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following
เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มุมมองการลงทุนทั่วโลก
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเฟดอาจยิ่งไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่างก็ออกมาผสมผสาน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของ Nvidia +4.0% หลังทางการสหรัฐฯ ได้แจ้งกับทางบริษัทว่าจะออกใบอนุญาตให้ส่งออกชิป AI ประสิทธิภาพสูงให้กับจีน ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.40%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.37% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน หากสุดท้ายไม่มีข้อตกลงการค้าเกิดขึ้น จากการวิเคราะห์ของทาง ZEW ล่าสุด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +2.7% ก่อนรับรู้ผลประกอบการ และสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีมดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.50% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อ (%m/m) อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ได้ทำให้บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น และเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโซน 4.50% ขึ้นไป สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะอ่อนค่าทดสอบโซน 149 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่ทยอยกว้างขึ้น และความกังวลต่อแนวโน้มสถานการณ์การเมืองของญี่ปุ่น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.9-98.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ปรับตัวลดลงราว -1% ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด ทำให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวแถวโซน 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว 2 ครั้ง ในปีนี้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BI อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.25% เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนในช่วงราว 6.50 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ของญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนมิถุนายน ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยสะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนมิถุนายน พร้อมกับ รอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานสรุปสภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาประเทศไทย