5 กลยุทธ์จัดการเพื่อนร่วมงาน Toxic ให้อยู่หมัด
เคยรู้สึกไหมว่าพลังงานการทำงานในออฟฟิศถูกดูดไปจนหมด เพียงเพราะมีเพื่อนร่วมงานที่ชอบบ่น นินทา หรือมองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ เหตุนี้ทำให้มีการสำรวจจาก FlexJobs ที่ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า พนักงานกว่า 84% เคยเจอประสบการณ์เพื่อนร่วมงาน Toxic และเกือบ 1 ใน 4 ถึงกับยอมลาออก
เพื่อนร่วมงาน Toxic เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของทีมโดยตรง และอาจถึงขั้นทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้ แล้วทางแก้คืออะไร เนื้อหานี้มีคำตอบกับ “5 กลยุทธ์จัดการเพื่อนร่วมงาน Toxic ให้อยู่หมัด” ที่จะช่วยให้คุณปกป้องพลังงานและรักษาบรรยากาศการทำงานเชิงบวกเอาไว้ได้
วิธีที่ 1: สื่อสารอย่างมืออาชีพด้วยกลยุทธ์เหนือชั้น
การสื่อสาร คือ กุญแจสำคัญในการรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นพิษด้วย “การสื่อสารที่ชาญฉลาด” ที่ยังคงความเป็นมืออาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ของคุณได้อย่างเต็มที่
กรณีเมื่อถูกแย่งผลงาน แทนที่จะโวยวาย ให้ใช้วิธีสร้างความเป็นเจ้าของแบบนุ่มนวล เช่น "ผมอยากติดตามความคืบหน้าของโครงการที่เราคุยกันเมื่อวานนี้ครับ อย่างที่ผมเคยแจ้งในอีเมลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผมพัฒนากลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ผมตื่นเต้นมากที่จะนำเสนอคำแนะนำสุดท้ายต่อทีมผู้นำในวันอังคารหน้า" วิธีนี้ช่วยยืนยันการมีส่วนร่วมของคุณโดยไม่สร้างความขัดแย้ง
เมื่อเจอคนชอบบ่นให้เปลี่ยนประเด็นไปสู่การหาทางออกเสมอ เช่น "เพื่อยืนยันการพูดคุยของเรา คุณจะทำการวิเคราะห์งบประมาณให้เสร็จภายในวันพฤหัสบดี เวลา 14.00 น. และผมจะส่งคำติชมจากลูกค้าให้คุณภายในเช้าวันพุธ ผมจะส่งอีเมลติดตามผลเพื่อสรุปกำหนดเวลาเหล่านี้ เพื่อให้เราทั้งคู่ได้รับทราบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกรอบเวลา" เน้นที่การแก้ปัญหาและสรุปข้อตกลงให้ชัดเจน
วิธีที่ 2: สร้างขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อปกป้องตัวเอง
การกำหนดขอบเขตในการทำงานไม่ใช่เรื่องของการไม่เป็นมิตร แต่เป็นการ รักษาสมาธิและพลังงาน ของตัวเองไว้เพื่อสิ่งสำคัญจริงๆ
เมื่อถูกชวนนินทาปฏิเสธอย่างสุภาพแต่หนักแน่น เช่น "ไม่อยากพูดถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ รวมถึงการเปลี่ยนทิศทางการสนทนาไปสู่เรื่องสร้างสรรค์
เมื่อถูกขัดจังหวะบ่อยๆ ให้กำหนดช่องทางการสื่อสารให้ชัดเจน เป็นการรักษามารยาทแต่ก็ยังคงประสิทธิภาพการทำงาน หรือเมื่อถูกโยนงาน ให้ตอบกลับอย่างมืออาชีพ เช่น "ฉันเข้าใจว่าคุณรู้สึกหนักใจ แต่ฉันทุ่มเทอย่างเต็มที่กับโครงการปัจจุบัน คุณอาจต้องการปรึกษาเรื่องลำดับความสำคัญของภาระงานกับผู้จัดการ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด" เป็นการยอมรับสถานการณ์ของอีกฝ่าย แต่ก็รักษาสิทธิ์ของตัวเอง
วิธีที่ 3: ปลูกฝังพลังบวก สร้างบรรยากาศทีมที่ดี
นอกเหนือจากการรับมือรายบุคคลแล้ว สิ่งสำคัญคือการ สร้างบรรยากาศเชิงบวกในทีม ซึ่งจะทำให้พฤติกรรม Toxic มีอิทธิพลน้อยลง
ชื่นชมเพื่อนร่วมงาน เมื่อเห็นใครทำดี จงกล่าวชมเชย การให้คำชมเชยช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมที่ดี รวมถึงการเปลี่ยนบทสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น ในที่ประชุม หากเริ่มออกนอกลู่นอกทาง ให้เบี่ยงเบนกลับไปที่ประเด็นที่น่าสนใจ และเนื้อหางานที่ต้องโฟกัส ชวนมาระดมความคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เป็นการนำการสนทนากลับมาสู่การแก้ปัญหา
วิธีที่ 4: รับมือการเมืองในที่ทำงานอย่างชาญฉลาด
การปกป้องขวัญกำลังใจของทีมอาจต้องอาศัยการสื่อสารเชิงกลยุทธ์กับผู้นำ เน้นที่ผลกระทบต่อทีม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และเมื่อพฤติกรรม Toxic ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ แทนที่จะบ่นเรื่องส่วนตัว ให้เน้นที่ผลกระทบต่อโครงการ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนยังคงทำงานให้สอดคล้องกับผลงานและกำหนดเวลา เป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม หรือเมื่อต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานโดยตรง ให้พูดถึงประสิทธิภาพของทีม แทนที่จะกล่าวโทษ เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเน้นการทำงานร่วมกัน
วิธีที่ 5: ปกป้องพลังใจและสมาธิของคุณเป็นอันดับแรก
สิ่งสำคัญที่สุดคือการ ดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ของตนเอง เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นได้ แต่คุณควบคุมการตอบสนองของคุณได้ เช่น
- ฝึกฝนการตอบสนอง: เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ Toxic ที่พบบ่อย จะช่วยให้คุณไม่ถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว
- สร้างขอบเขตทางจิตใจ: แยกเรื่องงานออกจากชีวิตส่วนตัว เพื่อไม่ให้ปัญหาในที่ทำงานมาบั่นทอนความสุขของคุณ
- สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก: คบหากับเพื่อนร่วมงานที่มีทัศนคติที่ดีและมุ่งมั่นสู่ความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกับคุณ
- จดจำความรับผิดชอบหลัก: ให้ความสำคัญกับคุณภาพงานและการเติบโตในอาชีพของคุณเอง ไม่ใช่การเข้าไปแก้ไขพฤติกรรมของผู้อื่น
ท้ายที่สุดแล้ว เพื่อนร่วมงาน Toxic มักจะเผยตัวตนออกมาเมื่อเวลาผ่านไป และองค์กรที่ดีจะจัดการปัญหาเหล่านี้เอง หน้าที่ของคุณคือ รักษาความเป็นมืออาชีพ ปกป้องผลงานของคุณ และส่งมอบผลงานที่ยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะเป็นอย่างไร ทุกปฏิสัมพันธ์คือโอกาสที่คุณจะได้เป็นแบบอย่างของวัฒนธรรมองค์กรที่คุณอยากให้เป็น การเลือกใช้ความเป็นมืออาชีพ การคิดหาวิธีแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องคุณจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นพิษเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจของทีมอีกด้วย เพราะการป้องกันที่ดีที่สุดจาก Toxic ในที่ทำงาน คือการสร้างสิ่งที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่
ข้อมูล: Forbes
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 5 กลยุทธ์จัดการเพื่อนร่วมงาน Toxic ให้อยู่หมัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 กลยุทธ์จัดการเพื่อนร่วมงาน Toxic ให้อยู่หมัด
- เปลี่ยนความเบื่อหน่ายเป็นพลังขับเคลื่อน จุดไฟให้หน้าที่การงานอีกครั้ง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath