กระทรวงยุติธรรม ลุยแก้หนี้ ปีที่ 2 ช่วยเหลือประชาชน
ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายศิวะ ธมิกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด - 19 บางคนตกงาน,บางคนถูกลดเงินเดือน, ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภค มีราคาแพงขึ้น ราคาน้ำมันก็พุ่งสูง ซึ่งเกิดจากสภาวะของโลก จนทำให้เกิดหนี้สินเป็นจำนวนมาก บ้างก็ค้างค่างวดส่งสถาบันการเงิน บ้างก็ถูกยึดบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย รัฐบาลปัจจุบันจึงกำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน ในฐานะรัฐบาลจะไม่นิ่งเฉย จะดำเนินการช่วยคลายหนี้ให้กับทุกคนเท่าที่จะทำได้ จากสถานการณ์ภาวะหนี้ของประเทศไทย กระทรวงยุติธรรมได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย สร้างการตระหนักรู้และเข้าใจ เพื่อเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในการยุติข้อพิพาททางแพ่งและข้อพิพาททางอาญา ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้องตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และหลังศาลมีคำพิพากษาตามระเบียบกรมบังคับคดี ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์ฟ้องหรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ถือได้ว่ามีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยเชื่อมโยงประชาชนให้เข้าถึงสิทธิ เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายและได้รับคำปรึกษาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะในประเด็น “หนี้สิน” ที่เป็นปัญหาสำคัญของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเวทีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเวทีแห่งความหวัง และจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 1 มาแล้วทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 89 ครั้ง ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ จำนวน 132,303 ราย จำนวนทุนทรัพย์ 23,901.84 ล้านบาท แยกเป็น ลูกหนี้ก่อนฟ้อง ช่วยเหลือได้ 66,172 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 11,217.04 ล้านบาท และ ลูกหนี้หลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน 66,131 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 12,684.8 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ กยศ. ครั้งที่ผ่านมามีการคำนวนยอดหนี้ใหม่ 3.65 ล้านบัญชีเสร็จแล้ว ผู้กู้ 2.98 ล้านราย ได้รับประโยชน์ ช่วยลดหนี้ผู้กู้เป็นเงินกว่า 56,326 ล้านบาท,ปลดภาระผู้ค้ำได้ 2.8 ล้านราย
สำหรับการจัดงานในจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้กำหนดจัดงาน ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2568 จำนวน 2 วัน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมบังคับคดี, สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมบูรณาการ กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและสถาบันการเงิน, ธนาคารพาณิชย์, หน่วยงานภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ได้เชิญชวนลูกหนี้ เข้าร่วมงานทั้ง 2 วัน จำนวน 3,000 กว่าราย ทุนทรัพย์รวมกว่า 182 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าร่วมจัดการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบด้วย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด, บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ จำกัด, บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิชเซ็ส จำกัด (มหาชน), กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน, สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารกรุงเทพและบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด
ทั้งนี้งานประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา และ 2. การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์และให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จากส่วนราชการ, สถาบันการเงินเครือข่ายในพื้นที่, การให้ความรู้การสร้างวินัยทางการเงิน จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและ กคส. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ ยกระดับมาตราฐานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในการเข้ารับบริการด้วย ซึ่้งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ ในกรณีก่อนฟ้อง คือ การผ่อนผันการชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับลดดอกเบี้ย, ลดค่างวดรายเดือนงดฟ้องดำเนินคดีและรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน สำหรับในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับ, ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้, งดยึดทรัพย์, งดขายทอดตลาด, ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดีและยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย