มุมมองผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิต เมื่อ ‘Digital literacy’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ทักษะการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล (Digital literacy) กลายเป็นอีกหนึ่งสกิลที่คนไทยในทุกช่วงวัยต้องมี เพื่อรับมือกับโลกออนไลน์ที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะใช้เป็นเกราะในการช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่เด็ก และเยาวชน เพื่อไม่ให้เกิดอาการ ‘เด็กติดจอ’ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยตรง
‘หมอแน็ต’ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกจากกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการวัดข้อมูลสุขภาวะทางด้านดิจิทัลของคนไทยว่า ในความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะวัดเพียงครั้งเดียวได้ จะต้องดูไปข้างหน้า เมื่อมีสิ่งนี้จะทำให้เรารู้สถานการณ์ของคนไทย และนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy Advocacy) ของภาครัฐ
“เราไม่สามารถรออย่างเดียวได้ โดยที่เราเป็นคนทำคนเดียว การที่มีภาคเอกชน ภาคมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรวบรวมข้อมูล ทำงานไปพร้อมๆ กัน และนำข้อมูลมาให้ภาครัฐดัดแปลงนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้”
โดยที่ผ่านมา เริ่มมีการเก็บข้อมูล ดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทย (Thailand Cyber Wellness Index - TCWI) โดย AIS มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเป็นการวัดระดับ Digital Literacy หรือความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีและโลกไซเบอร์ของคนไทย แม้ว่าภาพรวมของคนไทยในปี 2024 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางถึงดี แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ต้องเฝ้าระวัง
ประเมินพฤติกรรมออนไลน์ผ่าน Digital Health Check
เบื้องต้น สำหรับผู้ที่สนใจการทดสอบวัดสุขภาวะดิจิทัลรู้ทันภัยไซเบอร์ (Digital Health Check) จากโครงการอุ่นใจไซเบอร์ สามารถเข้าไปร่วมทดสอบกันได้ที่ https://aunjaicheck.ais.th/th/home โดยผลที่ได้จะมีการแบ่งระดับการชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ออกเป็น 3 ระดับได้แก่
- ระดับสูง (Advanced) - ผู้ที่มีความรู้และทักษะสูงในการใช้เทคโนโลยีและโลกไซเบอร์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างสรรค์ รวมถึงมีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)
- ระดับพื้นฐาน (Basic) - ผู้ที่มีความรู้และทักษะพื้นฐานสำหรับการใช้งานโลกดิจิทัลและไซเบอร์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์
- ระดับที่ต้องพัฒนา (Improvement) - ผู้ที่ยังมีทักษะพื้นฐานและต้องการการพัฒนาเพิ่มเติมในด้านการใช้เทคโนโลยีและโลกไซเบอร์ให้ถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์
‘หมอแน็ต’ ชี้ให้เห็นว่า ความรู้ กับทักษะของความรอบรู้ทางดิจิทัลนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีความรู้บางอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนเลยคือทักษะในการได้มาซึ่งความรู้ ผ่านทักษะ 4 อย่างคือ
1.Access (เข้าถึง) - รู้ว่าจะหาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้จากที่ไหน
2.Acquire (เข้าใจ) - เมื่อเข้าถึงข้อมูลแล้ว สามารถทำความเข้าใจเนื้อหานั้นได้อย่างถูกต้อง
3.Appraise (วิเคราะห์และประเมิน) - สามารถตั้งคำถาม วิเคราะห์ และประเมินได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นความจริงหรือข่าวปลอม
4.Apply (นำไปใช้) - สามารถนำความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น เมื่อได้รับลิงก์แปลกปลอม ก็ไม่กดเข้าไป และสามารถเตือนคนในครอบครัว
พร้อมยกกรณีตัวอย่าง เช่นถ้าวันหนึ่งเด็กมี Digital Literacy ที่ไม่ดีลดน้อยลง กรมสุขภาพจิตก็จะเข้าไปทำงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการนำทักษะดิจิทัลเข้าไปในหลักสูตร พัฒนาบุคลากรครูให้สามารถเรียนรู้ และนำไปสู่การปรับวิทยฐานะได้ด้วย หรือในอนาคตถ้าผู้สูงอายุยังมีปัญหาอยู่ก็ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันปรับแก้ไขได้
“เราควรจะดีใจถ้าเกิดมีใครสักคนบอกว่าช่องว่างทาง Digital Literacy ของคุณคืออะไร แล้วก็นำช่องว่างนั้นพัฒนาไปสู่จุดที่จะเติมให้เต็ม ทำให้เราเป็นคนที่มีความรอบรู้ครบถ้วนทุกด้านของ Digital Literacy”
ขาด Digital Literacy เด็กถูกล่วงละเมิดออนไลน์ - ติดจอ
ข้อมูลจาก UNICEF (โครงการ Disrupting Harm) พบว่าในช่วงโควิด-19 เด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ (OCSAE) ถึง 9% เช่น ถูกชักชวนให้ไปพบเจอ, ถูกขอให้ส่งภาพลับ หรือการข่มขู่ทางเพศ แต่มีเด็กไม่ถึง 10% ที่กล้าบอกพ่อแม่
โดยจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจ โดยทำให้เกิดความวิตกกังวล ไม่ไว้ใจผู้อื่น รับมือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ไม่ได้ และอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง ส่งผลกระทบต่อการเรียน และอนาคตของประเทศในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ปัญหาการ ‘ติดจอ’ ที่กลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามในการแก้ไข โดยทางกรมสุขภาพจิตสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาก่อนที่เด็กจะเกิดอาการติดจอ
‘หมอแน็ต’ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า หัวใจสำคัญในการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาคือ พ่อแม่ควรทำข้อตกลงกับลูกตั้งแต่แรก จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
“สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจแอปพลิเคชัน หรือเนื้อหาก่อนที่จะให้ลูกเข้าถึง มีการกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย กำหนดระยะเวลาในการเล่นที่ชัดเจนระหว่างวันธรรมดา และวันหยุด รวมถึงตกลงในเรื่องของพฤติกรรมแบบไหนที่รับได้ และแบบไหนที่ไม่ควร”
ส่วนครอบครัวที่ลูกติดจอแล้วการแก้ไขจะทำได้ยากกว่า บนหลักการสำคัญคือ ‘มีสิ่งอื่นมาทดแทน’ ไม่ว่าจะเป็นการหาเวลาและกิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยเฉพาะการให้เวลากับลูกๆ เพราะการลงทุนเวลาในวันนี้ ดีกว่าต้องใช้เวลา และทรัพยากรมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต
"ไม่มีทางเลยที่พ่อแม่บอกว่า 'หยุดเล่น' แล้วพ่อแม่ไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วลูกจะเลิกเล่น โอกาสนั้นเป็นศูนย์"
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน หรือจำกัดการส่งข้อความ หรือคอมเมนต์ต่างๆ ซึ่งพ่อแม่ควรที่จะศึกษาและทำความเข้าใจก่อนนำมาให้ลูกใช้
‘หมอแน็ต’ ยังทิ้งท้ายว่า ความรอบรู้ทางด้านดิจิทัลเป็นหนึ่งในความรอบรู้ที่สำคัญ และเชื่อมโยงไปยังทุกความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) และสุขภาวะในทุกๆ ด้าน ถ้าเรามี Digital Literacy ที่ดี ก็จะมีสุขภาพกาย จิต และสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO