นักวิชาการสหรัฐ เผยความขัดแย้งไทย–กัมพูชา มาจากการเมืองภายในกัมพูชาที่หวังสร้างชื่อให้ผู้นำ
วันนี้ 28 ก.ค.68 ทาง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) เผย นักวิชาการต่างประเทศ วิเคราะห์ปฐมเหตุที่มาความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ว่า มาจากการเมืองภายในกัมพูชาที่หวังสร้างชื่อให้ผู้นำกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ใช้สถานการณ์ความตึงเครียดเพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเข้มแข็งและรวบอำนาจทางการเมือง
โดยศาสตราจารย์ซาคารี อาบูซา (Dr. Zachary M. Abuza) นักวิชาการด้านความมั่นคงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National Defense University กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กองทัพไทยมีความเหนือชั้นอย่างชัดเจนด้านยุทโธปกรณ์และงบประมาณ และการใช้เครื่องบินรบ F-16 ตอบโต้ในสถานการณ์ล่าสุด ถือเป็นการดำเนินการที่แม่นยำ โดยมุ่งเป้าเฉพาะหน่วยยิง BM-21 ของฝ่ายกัมพูชาที่กระทำการโจมตีพื้นที่พลเรือนในฝั่งไทย จนมีผู้เสียชีวิตและโรงพยาบาลเสียหาย ไทยยังยึดหลักการใช้กำลังอย่างจำกัดและสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม ต่างจากฝ่ายกัมพูชาที่กระทำการโจมตีแบบสุ่ม ไม่มีการจำแนกเป้าหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตพลเรือนอย่างยิ่ง
ศาสตราจารย์อาบูซา ยังได้วิเคราะห์ว่าความขัดแย้งบริเวณชายแดนในครั้งนี้มีรากเหง้าจากข้อพิพาทเขตแดนในยุคอาณานิคม รวมถึงคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร และประเด็นพื้นที่พิพาท เช่น “สามเหลี่ยมมรกต” ซึ่งแม้จะเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็น เครื่องมือทางการเมืองภายในของผู้นำกัมพูชา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ที่พยายามใช้สถานการณ์ความตึงเครียดเพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเข้มแข็งและรวบอำนาจทางการเมือง
ที่สำคัญนักวิชาการสหรัฐฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์และบ่อนพนันในกัมพูชา เป็นแหล่งรายได้หลักของเครือข่ายชนชั้นนำกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลไทย ทั้งในด้านกฎหมายคาสิโน และการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การจับกุมก๊กอานผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฮุน มาเน็ต ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และสะท้อนจุดยืนของไทยในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ บทวิเคราะห์นี้ ตรงไปตรงมา มีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน และสะท้อนความเป็น กลางทางวิชาการ ยืนยันว่า ไทยไม่ต้องการความรุนแรง แต่หากจำเป็นต้องตอบโต้ ก็จะกระทำด้วยความรับผิดชอบ มีเป้าหมายจำเพาะ ยึดหลักมนุษยธรรม และความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเดินหน้าทางการทูตอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และรักษาสันติภาพในภูมิภาค