รัฐ เท พันล้าน 'อุ้มชาวสวนลำไย' จ่ายไร่ละ1,400ชดเชยราคาร่วงหนัก
ในระยะนี้ลำไยในฤดูของภาคเหนือออกสู่ตลาดแล้ว เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีปริมาณการเก็บเกี่ยวรายวันเพิ่มสูงขึ้น โดยมีช่วงพีคในเดือนส.ค.นี้
นายอรรถกร ศิริลัทยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ จัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาสวนลำไยคุณภาพ สนับสนุนเกษตรกรในการทำลำไยคุณภาพ วงเงิน 1,000 ล้านบาท สนับสนุนค่าตัดแต่งทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่ง ช่อดอก ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน และค่าปัจจัยการผลิต วัสดุการเกษตร ไร่ละ 400 บาท เพื่อให้เกษตรกรผลิตลำไย เกรด AA ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อแก้ปัญหาลำไยสู่ความยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อน 3 มาตรการสำคัญ ได่แก่ 1. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ โดยจะเสนอโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อ ลำไยเพื่อแปรรูปอบแห้งปลอดดอกเบี้ย ของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป้าหมายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรแปลงใหญ่ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการจัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการรับซื้อลำไย เช่น การอุดหนุนผู้ประกอบการส่งออก และผู้ประกอบการโรงอบลำไย เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์ลำไยเป็นไปด้วยความคล่องตัว สามารถส่งลำไยผลสดไปยังตลาดต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว ไม่กระจุกตัวในพื้นที่ เพราะหากการกระจายลำไยผลสดเกิดการติดขัดไม่สามารถส่งออกได้
มาตรการกระจายผลผลิต
2. มาตรการกระจายผลผลิต เสนอโครงการกระจายผลผลิต ลำไยสด โดยสหกรณ์การเกษตรกระจายผลผลิต ไปสู่ตลาดต่างๆ ทั้งประสานบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนี้ รวมถึงประสานบริษัทขนส่งในการกระจายผลผลิต การเพิ่มจุดจำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงประสานกระทรวงศึกษาธิการ กระจายผลผลิตในโรงเรียน และสนับสนุนมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการกระจายผลผลิตลำไยต่อไป
3. มาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย โดยจะประสานหน่วยงานความมั่นคง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไย โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน
ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการปักธงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ผ่านการยกระดับคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และวางระบบการตลาดที่ยั่งยืน หากสามารถขับเคลื่อนตามแผนได้ต่อเนื่อง จะไม่เพียงแต่แก้ปัญหาลำไยล้นตลาด แต่ยังสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร และคืนความเชื่อมั่นให้ลำไยไทยในตลาดโลก
แผนยกระดับรับรองคุณภาพสวนลำไย
นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินหน้ายกระดับลำไยคุณภาพ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี คือแนวทางในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน เร่งอบรมและลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกร ตลอดจนผลักดันให้สวนลำไยเข้าสู่ระบบการรับรองอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดคุณภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริหารจัดการผลผลิตเชิงรุก กระจายผลผลิต กระจายตลาด หนึ่งในปัญหาหลักคือผลผลิตกระจุกตัวในช่วงเวลาเดียวกัน
การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นให้เกษตรกรรับรู้แนวโน้มตลาดก่อนการวางแผนปลูกผ่านระบบข้อมูลและการพยากรณ์ล่วงหน้า พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ-พ่อค้าคนกลางในรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ – เกษตรแม่นยำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง และสามารถบริหารจัดการผลผลิตชอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต และช่วยให้สามารถติดตามและควบคุมคุณภาพได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงส่งเสริมการสร้างแบรนด์ “ลำไยคุณภาพ” เจาะตลาดพรีเมียม กระทรวงเกษตรฯ วางแผนสร้างความแตกต่างให้ลำไยไทยในตลาดโลก ด้วยการพัฒนาแบรนด์สินค้า GI (Geographical Indication) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและคุณภาพอาหาร
“แปลงใหญ่”โดยด้วยเหตุผลผลิตล้น
ปัจจุบัน เกษตรกรแปลงใหญ่หรือเกษตรกรที่ผลิตลำไยคุณภาพ จำหน่ายในรูปแบบผลสด มัดช่อ มักจะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว เป็นผู้ประกอบการล้งที่มาตั้งรับซื้อในพื้นที่ ส่งสหกรณ์การเกษตร ห้างModern trade ที่ทำ MOU ซื้อขายล่วงหน้ากันไว้ หรือพ่อค้าที่มารับเหมาสวนเพื่อนำส่งล้งใหญ่ โดยเกษตรกรกลุ่มนี้มักจะไม่มีปัญหาด้านการตลาด แต่ในปีนี้ด้วยปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เกษตรกรจะต้องหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม เช่น การทำตลาดออนไลน์ หรือตลาดอื่น เช่น ผู้ประกอบการผลิตน้ำลำไย ลำไยแช่แข็ง หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตลำไยรูดร่วงเพื่อจำหน่ายเข้าโรงอบแห้ง ต้องดูแลลำไยให้มีคุณภาพ ปลอดโรคและแมลงศัตรูพืช บำรุงให้ผลผลิตได้สัดส่วน เกรด AA มากขึ้น เพราะราคารับซื้อลำไยเกรด AA ต่างกับเกรด A อยู่มาก
นายนิยม ธรรมหมื่นยอง (เกษตรกรผู้ปลูกลำไย) ผู้ใหญ่บ้านร่องช้าง ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ลำไยในจังหวัดลำพูนเริ่มสุกและออกสู่ตลาดก่อนพื้่นที่อื่นเนื่องจากเป็นดินทรายและต้องจำหน่ายในรูปแบบ“ลำไยคัดร่วง” เนื่องจากขาดแรงงานที่จะคัดเกรดและเก็บผลผลิต แทนที่จะจำหน่ายในรูปแบบ “ลำไยมัดช่อ”ซึ่งจะได้ราคาจำหน่ายที่ดีกว่า
ราคาร่วงวันละ 2 บาทห่วงต่ำ10
โดยราคาจำหน่ายหน้าสวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มต้นที่ กิโลกรัม(กก.) 20 บาท และมีราคาลดลงมาวันละ 2 บาท อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (21 ก.ค. 2568) ราคาอยู่ที่กก.ละ 12 บาท หากราคาต่ำกว่ากก.ละ 10 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรจะไม่ได้อะไรเลย เนื่องจาก ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าแรงงานเก็บผลผลิต
“ราคาที่ผมบอกนี้คือ เกรดเอ เอ และบี ขนาดไม่ต่างกันมาก แค่ 3 มิลิเมตร แต่ราคาต่างกัน ขนาดละ 4-5 บาท เท่ากับว่า โดยเฉพาะเเล้ว เกษตรกรจะขายได้เฉพาะเกรด เอ และ เอ เอ เท่านั้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่สูงมากต่อผลผลิตในสวน ทำให้รายได้โดยรวมต่ำมากและเป็นห่วงว่าอาจจะต่ำลงไปอย่างต่อเนื่อง ”
นายนิยม กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้า ผลผลิตลำไย จากจังหวัดแพร่ พะเยา และ น่าน จะออกสู่ตลาดซึ่งจะทำให้ราคาลำไยลดลงไปอีก จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการช่วยเบื้องต้นเห็นว่าเหมาะสมเพราะจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ชดเชยจากรายได้ที่ลดลงจากราคาลำไยในท้องตลาดที่ต่ำมากในปัจจุบัน
สำหรับสาเหตุที่ราคาลดลงอย่างมาก นอกจากปริมาณผลผลิตสูงกว่าปกติแล้วยังมีปัจจัย “ล้ง” ปิดรับซื้อ และบางล้งกำหนดโควตารับซื้อเพียงบางส่วน โดยอ้างว่า เครื่องอบลำไยทำงานไม่ทัน