“รมว.นฤมล” นำ 2 รมช.กระทรวงศึกษาธิการ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - พบปะผู้บริหาร ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
“รมว.นฤมล” นำ 2 รมช.กระทรวงศึกษาธิการ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - พบปะผู้บริหาร ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าสักการะสิ่งศักสิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พระพุทธรูปประจำกระทรวงศึกษาธิการ “พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรีสัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์”, ศาลพระภูมิ, พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 , พระพุทธรูป (หน้า สอศ.) และศาลปู่เจียม เพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นเดินทางเข้าห้องทำงานรัฐมนตรี และพบปะผู้บริหาร ศธ. ณ ห้องราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะผู้บริหาร รวมทั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวกับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงหนึ่งว่า ตนเองไม่ต้องการให้ใช้คำว่ามอบนโยบาย แต่วันนี้เรามาคุยกันในสิ่งที่ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีทั้ง 3 คนที่เข้ามาบริหารงานใหม่ ตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอด ผลักดันและช่วยให้งานที่คงค้างอยู่สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ เรื่องต่าง ๆ ที่รัฐมนตรีท่านก่อน ๆ ได้วางเอาไว้ อะไรที่เป็นเรื่องดี เราก็จะนำมาสานต่อ ไม่มีการนำเอาเรื่องการเมืองมาเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน
“อาจารย์ขอให้ทุกท่านสบายใจได้ว่างานต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่จะไม่เกิดปัญหาสะดุดแน่นอน และถือว่าทุกท่านที่อยู่ที่นี่คือ ข้าราชการของในหลวง คือ ข้ารับใช้แผ่นดิน เป็นคนของกระทรวงศึกษาธิการ และเราทั้ง 3 คน จะทำงานร่วมกับข้าราชการประจำ เป็นครอบครัวเดียวกัน จึงไม่ต้องการให้เกิดความกังวลใด ๆ
ก่อนหน้านี้อาจารย์ได้พบกับผู้บริหารนอกรอบหลาย ๆ คนไปแล้ว จึงได้มีการพูดคุยกันเรื่องสวัสดิการของครู และการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรครู เช่น การลดภาระงานต่าง ๆ ให้กับครู รวมไปถึงเรื่องวิทยฐานะ และระบบการโยกย้ายว่า จะทำอย่างไรให้หลักเกณฑ์เป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรครูในการทำหน้าที่ เพราะนอกจากส่วนของนักเรียนแล้ว บุคลากรครูกว่า 500,000 คน เราก็จะต้องทำให้เขามีความสุขด้วย เพราะจะทำให้คุณภาพของเด็กไทยมีศักยภาพมากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์พื้นฐานก่อนไปสู่วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมือง ที่ต้องการยกระดับการเรียนการสอนให้เห็นเป็นรูปธรรมในแบบเรียนที่หลายฝ่ายให้การยอมรับและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคต ซึ่งตนเองก็ต้องการวางรากฐานตรงนี้ไว้ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเข้าใจในรากเหง้าของและหน้าที่ของตัวเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้าน นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ตนเองได้พูดคุยกับท่านรัฐมนตรีว่าการ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องเรามองเห็นปัญหาของครูตรงกัน และมองว่าในหลาย ๆ ปัญหาสามารถนำเทคโนโลยีมาแก้ไขและช่วยลดภาระของครูได้ รวมไปถึงการปรับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษา ที่ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษา ให้เห็นว่าเป็นการศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังเติบโตได้ ไม่ใช่เรียนไปเพื่อไปตีกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ตนเองจะนำไปหารือกับรัฐมนตรีอีก 2 ท่าน และข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปร่วมกัน
ด้านนายเทวัญ กล่าวแสดงความรู้สึกภูมิใจและถือเป็นเกียรติอย่างสูงในชีวิตที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับทุก ๆ คน ในกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่ต้องการเห็นคือ ภาพการศึกษาของเด็กไทยเป็นไปด้วยดี เพราะผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนหรือเด็กนักเรียนได้รับการศึกษาที่ดี เราก็จะได้บุคลากรที่ดี นำไปสู่เศรษฐกิจของประเทศและการขับเคลื่อนของประเทศเป็นไปด้วยดีเช่นกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความเจริญของประเทศ จึงขอฝากว่า หากผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงมีคำแนะนำ สามารถพูดคุยกับตนได้ทันที
กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ