โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

ไทยเทหมดหน้าตักลดภาษี 0% หลายพันรายการให้สหรัฐเอาใจทรัมป์

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ไทยได้ส่งข้อเสนอแบบ “เทหมดหน้าตัก” ลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ 0% หลายพันรายการให้สหรัฐพิจารณา หวังให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลดอัตราภาษีตอบโต้จาก 36% ที่ขู่จะเรียกเก็บ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองภาพไม่สดใส เตือนไทยต้องแข่งขันกับอีกเกือบ 100 ประเทศ ที่ต่างก็ยื่นข้อเสนอแบบ “ชุดใหญ่ไฟกระพริบ” เพื่อหาดีลที่ดีที่สุดกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ส่งข้อเสนอใหม่ให้กับสหรัฐแล้ว โดยลดภาษีนำเข้า 0% หลายพันรายการ ให้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นภาษีนำเข้า 0% รายการเดียวกับหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยด้วย

“เราได้มอบหมายให้ทุกกลุ่มกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดูรายการสินค้าต่างๆ ที่อ่อนไหวว่ามีส่วนใดติดขัดหรือไม่ โดยสหรัฐก็ขอดูข้อมูลจากเราอย่างละเอียด ให้เราส่งเป็นไฟล์รายการสินค้าไป ซึ่งข้อเสนอครั้งที่ 2 ที่เราส่งไปยังไม่ได้ตอบกลับมา แต่เชื่อว่าผลจะเป็นไปในทิศทางบวก” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ มั่นใจว่าไทยจะไม่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 36% แน่นอน โดยจะใช้ระยะเวลาช่วงที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด “การเจรจาไม่จำเป็นต้องจบเร็ว ถ้าเราเร่งรัดอาจจะได้ดีลที่ไม่ดี อย่างกรณีเวียดนามที่ยกเว้นภาษีนำเข้าให้สหรัฐทุกรายการ แต่ยังโดนภาษี 20% คิดว่าประเทศไทยจะไม่แย่กว่าเวียดนาม ซึ่งระหว่างนี้ยังเจรจากันได้ ต้องรอดูฟีดแบคจากสหรัฐ” นายลวรณ กล่าวทิ้งท้าย

รัฐบาลเตรียมงบ 5 หมื่นล้านรองรับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กันวงเงินไว้สำหรับดูแลผู้ประกอบการส่วนแรกคืองบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงสร้างภาษีใหม่ อีกส่วนยังมีเงินจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท ไว้รองรับในกรณีที่หากเกิดปัญหาให้ตรงจุด ทั้งภาคเอกชนและประชาชน ส่วนการจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ก็ต้องรอดูผลของการพิจารณาภาษีเสร็จสิ้นก่อนว่าสุดท้ายแล้วไทยจะถูกเก็บภาษีเท่าใด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาของไทย ได้ชี้แจงต่อครม.ถึงกลไกต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งผลการเดินทางไปหารือกับทางสหรัฐฯ ซึ่งเห็นว่า สหรัฐฯ ตอบรับกับข้อเสนอที่ไทยได้เสนอไป แต่การเจรจาลักษณะนี้ไม่ได้จบเพียงครั้งเดียว

ภาษี 36%ทุบส่งออกไทย9แสนล้าน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท

“แม้ว่าข้อเสนอแรกของไทยจะถูกส่งไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมและมีการลงนามในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ซึ่งอาจสวนทางกับประกาศของสหรัฐฯ ที่แจ้งมา ขณะนี้ ไทยได้ส่งข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปนั้น ยังไม่มีการตอบกลับมา แต่เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ได้พิจารณาอีกครั้งในข้อเสนอเพิ่มเติมใหม่นี้ น่าจะมีผลไปในทิศทางบวก” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม

สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ส.อ.ท. จึงจะมีการประชุมเร่งด่วนภายในร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ก่อน เพื่อประเมินผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และจัดทำมาตรการรองรับที่เหมาะสม หลังจากนั้น ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะรีบเร่งประชุมร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการตั้งรับต่อไป

การแข่งขัน “เทหมดหน้าตัก” กับ 100 ประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน มองว่า โอกาสที่สหรัฐจะลดภาษีให้ไทยลงตํ่ากว่า 36% ณ เวลานี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากขณะนี้ข้อเสนอและการเจรจาของไทยยังต้องไปแข่งขันกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐอีกนับ 100 ประเทศ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

“ขณะนี้แต่ละประเทศต้องทำงานแข่งกับเวลา เปรียบเสมือนการวิ่ง 100 เมตร และแต่ละประเทศต่างก็ยื่นข้อเสนอให้กับสหรัฐแบบ ‘เทหมดหน้าตัก’ หรือแบบจัด ‘ชุดใหญ่ไฟกระพริบ’ เพื่อให้ได้ข้อตกลงหรือดีลการค้าที่ดีที่สุด ทำให้สหรัฐอาจไม่สนใจไทยหากข้อเสนอไม่จูงใจพอ และในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง” ดร.อัทธ์ วิเคราะห์

การเจรจาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของภาษีเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเจรจาไทย-สหรัฐไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนเส้นตาย ได้แก่

1. การเข้าร่วม BRICs การที่ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่ม BRICs ซึ่งแม้ไทยจะยังไม่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการก็ตาม โดยล่าสุดสหรัฐประกาศจะเก็บภาษีกับกลุ่ม BRICs เพิ่มอีก 10% จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐเรียกเก็บ

2. สงครามชิปปัญญาประดิษฐ์ ไทยเข้าไปอยู่ในสงครามชิป AI ของสหรัฐ-จีน โดยมีบริษัทไทยและมาเลเซีย นำเข้าชิปรุ่นที่ดีที่สุดของสหรัฐ (ของ Nvidia) ส่งผ่านไปให้กับจีน (ตามรายงานของสหรัฐ) ทำให้สหรัฐเพ่งเล็งและอาจใช้มาตรการด้านภาษีหรือมาตรการด้านอื่นเพิ่มเติมกับไทย

3. มาตรการกีดกันการค้า (NTBs) สหรัฐระบุว่า ไทยมีการกีดกันสินค้าเกษตรจากสหรัฐโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ปลอม โดยระบุสินค้าจากสหรัฐมีสารที่เป็นอันตราย บริโภคไม่ปลอดภัย

เสียเปรียบเวียดนามกระทบ FDI

สำหรับอัตราภาษีที่ไทยได้รับ 36% ในครั้งนี้ ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามที่ได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐเพียง 20% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ได้รับอัตราภาษีที่ตํ่ากว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียได้รับอัตราภาษี 25% อินโดนีเซีย 32%

ดร.อัทธ์ ชี้ว่า จากอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยเจอ 36% ขณะที่เวียดนามได้ภาษีเพียง 20% หากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีลงจาก 36% ได้ ยังจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ (FDI) รวมถึงการลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศไทยในช่วงนับจากนี้จะปรับตัวลดลง เพราะอัตราภาษีที่ไทยได้รับจะทำให้การลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสหรัฐเสียเปรียบในการแข่งขันด้านภาษี

ข้อมูลสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐ ในปี 2567 ล่าสุด มีมูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วนประมาณ 80% โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ และสัดส่วนอีก 20% เป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป

ภาคเอกชนปรับกลยุทธ์รับมือ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 สถานการณ์การส่งออกสินค้าต่างๆ ของไทยค่อนข้างดี ผู้ซื้อจากฝั่งสหรัฐที่เป็นตลาดใหญ่เร่งนำเข้าและสต็อกสินค้าเป็นจำนวนมากเพราะเห็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้า อัตราการเติบโตด้านการส่งออกของไทยจึงสูงถึง 27%

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ยอดส่งออกในครึ่งปีหลังว่าจะลดลงอย่างแน่นอน โดยผู้ประกอบการไทยกำลังพยายามหาตลาดใหม่อยู่ ทั้งร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ที่เริ่มให้ความช่วยเหลือในการจับคู่ทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อเริ่มหาวิธีจับคู่ค้าใหม่กับประเทศใหม่ๆ ให้มากขึ้น

“ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยก็กำลังพยายามหาตลาดใหม่อยู่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวังสูงสุดในการขาย โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ การขายจะเป็นในรูปแบบระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยง โดยต้องเปิด LC (Letter of Credit) หรือจ่ายมัดจำก่อนและชำระส่วนที่เหลือเมื่อสินค้าลงเรือพร้อมมีเอกสารยืนยัน” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ผลกระทบภาษีสหรัฐฯ

ผู้เชี่ยวชาญคาดส่งออกติดลบ 10%

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า การจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐต่อไทยในอัตรา 36% เป็นความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างเร็ว เพราะอัตราภาษีนำเข้าที่ 36% แตกต่างกับหลายประเทศ

“คิดว่าในระยะสั้นการสั่งซื้อสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าที่ทดแทนกันได้ ก็คงจะมีการกลับไปสั่งซื้อกับประเทศที่มีอัตราภาษีตํ่ากว่าไทยที่สามารถทดแทนกันได้ ดังนั้น การส่งออกเดิมคาดว่าจะหดตัวในช่วงที่เหลือของปี แต่เมื่อไทยโดนภาษีนำเข้าทรัมป์ในอัตรา 36% จึงซํ้าเติมภาคส่งออกไทยในครึ่งปีหลังอาจจะติดลบประมาณ 10%” ดร.พชรพจน์ คาดการณ์

สำหรับครึ่งแรกการส่งออกมีการเร่งตัวไปแล้ว ครึ่งปีหลังที่ประเมินว่าจะหดตัว แต่ถูกซํ้าเติมจากอัตราภาษีนำเข้าทรัมป์ โดยไตรมาส 3 ฝุ่นตลบ ประมาณไตรมาส 4 หรือปลายปี อาจจะเห็นผู้สั่งซื้อไปเลือกซื้อสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้กับประเทศที่มีอัตราภาษีตํ่ากว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรือประเทศที่อยู่ใกล้สหรัฐอย่างเม็กซิโก แคนาดา

กนอ.เตือนกระทบการลงทุน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ผลกระทบต่อไทยจะพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน เป็นภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

“สหรัฐอเมริกายืนยันเก็บภาษีนำเข้าประเทศไทย 36% เท่ากับรอบแรก เป็นคำเตือนว่าที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจ ยังไม่ใช่ Good Deal ต้องทำการบ้านเพิ่ม แล้วกลับมาต่อรองอีกรอบ สำหรับไทย ถ้าเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ 10-16% จะมีนัยยะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก ทำไมจะซื้อจากไทย ถ้าซื้อจากคู่แข่งถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น มีนัยยะกับคนที่คิดจะมาลงทุน จะมาสร้างโรงงานทำไม เพราะถ้าสร้างเสร็จแล้ว ต้นทุนภาษีแพงกว่าคู่แข่ง ส่งไปก็สู้ไม่ได้ ไปสร้างที่เวียดนามเลยดีกว่าไหม” นายยุทธศักดิ์ วิเคราะห์

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาทางออกโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาค้าขายไทยกับสหรัฐ หรือกับประเทศอื่นๆ

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ฐานเศรษฐกิจ

‘กรณ์ จาติกวณิช’ ชี้ทางออกไทยโดนภาษีทรัมป์ 36% ผนึกอาเซียนเสริมแกร่ง

9 นาทีที่แล้ว

สบส. MOU สภากาชาดไทย ร่วมปฏิบัติการลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวาน

10 นาทีที่แล้ว

EnCo - Amata U รุกเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะ มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก 30%

20 นาทีที่แล้ว

“พอร์ตดีมีที่เรียนกับบีแอลซีพี” จุดประกายฝันเยาวชนระยอง สู่รั้วมหาวิทยาลัย

21 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสังคมอื่นๆ

ดราม่านายจ้าง! หลังโพสต์ปรึกษา ควรรับพนักงานที่ไม่ส่งเสียเงินให้พ่อแม่ดีไหม?

สยามนิวส์

ผู้ว่าอุบล ฯ เผย รอสัญญาณจากทหาร อพยพ ปชช. - มั่นใจ เตรียมพร้อมอพยพ

THE ROOM 44 CHANNEL

แม่ทัพภาคที่ 2 ฝากความถึง พ่อลูก ฮุน เซน-ฮุน มาเนต

สยามนิวส์

เจ้าพระยา (10/7/68)

สยามรัฐ

‘เอกนัฏ’ ส่งทีมสุดซอย จับโรงงานเถื่อนลอบนำเข้าเศษยาง ‘กัมพูชา’ แปรรูปส่งตปท.!

THE POINT

“คปท.-กองทัพธรรม” บุกสภา จี้ ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.กาสิโน-นิรโทษกรรม

THE ROOM 44 CHANNEL

เงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม 2568 อัตราใหม่เพิ่มเป็น 1,000 บาท

ฐานเศรษฐกิจ

จับตา โควิดสายพันธุ์ "XFG" แพร่กระจายได้เร็ว-หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี

Thai PBS

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...