อพยพรพ.ชายแดนโซนสีแดง สั่งสำรองเลือด 20 เปอร์เซ็นต์
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพื้นที่เสี่ยงระดับสีแดงในรัศมี 40-50 กิโลเมตร (กม.) เขตชายแดนที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งหมดออกไปยัง รพ.ในเมือง รพ.ในเขตปลอดภัยแล้ว จ.อุบลราชธานี มี รพ.น้ำยืน จ.ศรีสะเกษ รพ.กันทรลักษ์ จ.สุรินทร์ รพ.กาบเชิง รพ.พนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.บุรีรัมย์ รพ.บ้านกรวด ส่วน รพ.เสี่ยงที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมแผนอพยพ จ.อุบลราชธานี รพ.น้ำขุ่น รพ.นาจะหลวย จ.ศรีสะเกษ รพ.ขุนหาญ รพ.ภูสิงห์ รพ.ขุขันธ์ จ.สุรินทร์ รพ.บัวเชด รพ.สังขะ จ.บุรีรัมย์ รพ.ละหานทราย
นพ.วรตม์ กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ใกล้เคียงชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อสำรวจความต้องการจากส่วนกลาง พบว่ายังอยู่ในการบริหารจัดการได้ จึงยังไม่ได้เรียกร้องอะไรจากส่วนกลางเพิ่มเติม แต่ถ้าต้องการอะไรเพิ่มเติม เช่น เวชภัณฑ์ ยา ครุภัณฑ์ ก็สามารถประสานมาได้ ทั้งนี้มีการสำรองโลหิตไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับการดำเนินการต่างๆ ขณะเดียวกัน กรมสุขภาพจิตได้เตรียมทีม MCATT ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี 60–70 ทีม แต่สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือปัญหาทางกายของพี่น้องประชาชน และต้องมีการเยียวยาอีกหลายส่วน ทั้งผู้เสียชีวิต รวมถึงบุคลากรในสถานพยาบาลต่างๆ
เมื่อถามว่าการดำเนินการทางกฎหมายกรณีที่มีการโจมตีสถานพยาบาล นพ.วรตม์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องประสานไปกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกัมพูชาเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา จึงต้องประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อถามถึงกรณีมีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ด้วยความโกรธ หรือเกลียดชังในโลกออนไลน์ นพ.วรตม์ กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสารที่เยอะมาก ทำให้คนรู้สึกกังวล กลัว เศร้า อารมณ์โกรธที่มีการรุกรานอธิปไตยของไทย เราจึงต้องมีสติรู้เท่าทันตัวเอง เช่น วันนี้บางคนยังไม่ทำอะไรเลย เฝ้าตามข่าวตลอดวัน ในระยะสั้นอาจยังไม่กระทบ แต่ถ้าต่อเนื่องหลายวันก็จะเกิดความเครียดได้ ฉะนั้นต้องจัดการอารมณ์ตัวเอง แบ่งเวลาในการรับข่าวสาร ถ้าเป็นประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ติดตามข่าวเป็นเวลา เพื่อลดความเครียด ลดอารมณ์ร่วมด้วย นอกจากนั้น ก็ขอย้ำเตือนไม่ส่งภาพความรุนแรง เพื่อไม่ให้เป็นการส่งต่อความรุนแรงออกไป เราต้องนึกถึงบุคคลที่ยังไม่พร้อมรับมือเรื่องนี้ หรือคนที่มีความโกรธแค้น ก็จะรุนแรงมากขึ้น
“ใครรู้สึกไม่ไหวตอนนี้ อย่าไปอ่านคอมเมนต์เยอะ เพราะตอนนี้มีอารมณ์เข้ามาร่วมด้วยเยอะ บางทีไม่ใช่คนไทยอย่างเดียว มีคอมเมนต์ชาวต่างชาติด้วย ก็ขอให้ระมัดระวัง เรื่องนี้ยังคงดำเนินการไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้พร้อมต่อเหตุการณ์ต่างๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก” นพ.วรตม์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ขอเตือนเรื่องของการบริจาคเงินให้กับหน่วยงานต่างๆ ขอให้ระวังเรื่องของมิจฉาชีพ ซึ่งขอให้ประชาชนตรวจสอบให้ดีว่าเป็นหน่วยงานจริงๆ หรือเลือกบริจาคให้กับหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เพราะมิจฉาชีพมักจะใช้ช่องทางแบบนี้มาหลอกลวงประชาชน.