คลื่นความร้อนถล่มจีนทำสถิติใหม่ ดันพลังงาน-ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่ง
คลื่นความร้อนในจีนทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับยอดขายเครื่องปรับอากาศและพัดลมมือถือที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีนระบุว่า จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้
กรมอุตุนิยมวิทยาระบุเมื่อวันพุธว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาระดับชาติของจีนจำนวน 152 แห่ง ได้บันทึกอุณหภูมิที่เกิน 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งคำเตือนไปยังอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ ให้ดำเนินมาตรการตอบสนองอย่างทันท่วงทีเพื่อรับมือกับการใช้พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนหันมาใช้เครื่องปรับอากาศและพัดลมเพื่อคลายความร้อน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อากาศที่ร้อนระอุแผ่ขยายตั้งแต่เมืองฉงชิ่งที่มีประชากรหนาแน่นทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ไปจนถึงเมืองกวางโจวที่อยู่ชายฝั่ง ครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 200 ล้านคน
บางพื้นที่ในมณฑลหูเป่ยและหูนาน ซึ่งมีขนาดพื้นที่เท่ากับประเทศอิตาลีและสหราชอาณาจักร อุณหภูมิที่รู้สึกได้ (apparent temperature) ซึ่งเป็นการวัดอุณหภูมิที่รวมผลของความร้อน ความชื้น และลม ที่มีผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ มีการพยากรณ์ว่าจะพุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอย่างมณฑลเจียงซีและกวางตุ้ง ซึ่งมีประชากรรวมกันเทียบเท่ากับประชากรของสเปนและเม็กซิโก ก็มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่รู้สึกได้จะอยู่ในระดับเดียวกัน
ฤดูซานฝูของจีน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ตามเกษตรกรรมที่แสดงถึงช่วงพีคของฤดูร้อน และเชื่อกันว่ามีการใช้มานานกว่าสองพันปี โดยทั่วไปจะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดปลายเดือนสิงหาคม สำหรับปีนี้ คาดว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 19 สิงหาคม
นอกจากจะสร้างความไม่สบายให้กับผู้คนแล้ว ความร้อนที่แผดเผายังส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก ทำให้รายได้จากการเกษตรลดลงในจีน อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงยังสามารถกระทบต่อศูนย์กลางการผลิตและขัดขวางการดำเนินงานของท่าเรือสำคัญ รวมถึงสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีภาระหนักอยู่แล้ว
ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก จีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกต่อปี นับตั้งแต่แซงหน้าสหรัฐอเมริกาในปี 2006
อย่างไรก็ตาม จีนก็เป็นผู้นำระดับโลกด้านพลังงานหมุนเวียน และตั้งเป้าที่จะทำให้เศรษฐกิจขนาดมหึมาของตนปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกในการควบคุมผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ