ผลสอบเครื่องบิน "แอร์อินเดีย" ตก พบเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ถูกตัด
วันนี้ (12 ก.ค.2568) สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยานอินเดีย เผยแพร่รายงาน การสอบสวนเบื้องต้น ความยาว 15 หน้า ซึ่งระบุว่า เครื่องบินของสายการบิน แอร์ อินเดีย ตกเพียงไม่กี่วินาที หลังจากปุ่มควบคุมเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ทั้ง 2 เครื่อง ถูกปิด ทำให้ไม่มีการจ่ายเชื้อเพลิงไปยังเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นเหตุให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นแทบจะทันที หลังจากเครื่องบินทำความเร็วสูงสุด ขณะบินขึ้นจากสนามบินในอาห์เมดาบัด ซึ่งจากข้อมูลในเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน ชี้ว่าขณะเกิดเหตุ นักบินคนที่ 1 ถาม นักบินอีกคน ถึงสาเหตุของการปิดการจ่ายเชื้อเพลิง แต่นักบินคนดังกล่าว ตอบว่า ไม่ได้เป็นคนทำ
ขณะที่ ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา ปุ่มควบคุมเชื้อเพลิง กลับมาอยู่ในตำแหน่งจ่ายเชื้อเพลิงอีกครั้ง ก่อนที่นักบิน จะแจ้งขอความช่วยเหลือ จากศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศ แต่เครื่องบินก็ชนเข้ากับอาคารใกล้สนามบิน ก่อนที่นักบินจะให้ข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้น
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เหตุการณ์นี้ เป็นผลมาจากความผิดพลาดทางเทคนิค ระบบซอฟต์แวร์มีปัญหา หรือเป็นความผิดพลาดของนักบิน โดยต้องรอผลการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่า อาจใช้เวลานานหลายเดือน
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบินพลเรือนอินเดียระบุว่า ไม่ควรด่วนสรุปและควรรอจนกว่าจะมีรายงานฉบับสมบูรณ์ออกมา พร้อมทั้งระบุว่าความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น
ด้านสายการบินแอร์ อินเดีย ระบุว่า รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว และจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนต่อไป ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งจากเหตุเครื่องบินตก เรียกร้องให้ผู้สืบสวนเป็นกลางและนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้มาลงโทษ
ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยหลังเผยผลสอบ "แอร์ อินเดีย" ตก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินต่างออกมาตั้งข้อสงสัย โดยบางส่วนระบุว่า ปุ่มควบคุมเชื้อเพลิงไม่สามารถปิดได้ง่ายๆ โดยหากจะเปลี่ยนตำแหน่งปุ่ม จะต้องยกปุ่มขึ้นก่อน จึงจะสามารถเปลี่ยนจากตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งได้
นอกจากนี้ มีรายงานว่าเมื่อปี 2018 สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ออกประกาศข้อมูลความสมควรเดินอากาศพิเศษ ระบุว่า มีปุ่มควบคุมเชื้อเพลิงของเครื่องบินโบอิง 737 บางลำที่ติดตั้งโดยที่กลไกล็อกปุ่มถูกปลดออก แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นถูกจัดว่าเป็นสภาพที่ไม่ปลอดภัย จนต้องออกคำสั่งแก้ไข
ปุ่มรุ่นเดียวกันนี้ถูกใช้ในเครื่องบินโบอิง 787-8 รวมถึงเครื่องบินของสายการบินแอร์ อินเดียที่ประสบเหตุตกด้วย และเนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ ไม่ใช่ข้อบังคับ แอร์ อินเดียจึงไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบตามที่แนะนำไว้
อ่านข่าว :