เกษียณมี 4 ล้าน พอจริงไหม? เมื่อไม่มีเงินเดือนแต่ยังมีรายจ่ายทุกวัน
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ผู้ใช้พันทิปรายหนึ่งได้ตั้งกระทู้หัวข้อ “4 ล้าน พอไหม? เมื่อเกษียณแล้วไม่มีเงินเดือน” พร้อมตั้งข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับภาวะการเงินของผู้สูงวัย โดยชี้ให้เห็นว่า ชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่เพียงแค่ “แก่” แต่ต้อง “มีกิน” ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมรับมือกับชีวิตหลังเกษียณอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระทู้ดังกล่าวระบุว่า 78% ของคนไทยมีเงินออมสำรองไม่ถึง 6 เดือน หลายคนยังต้องฝากความหวังไว้กับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มวัยใกล้เกษียณ (อายุ 51–60 ปี) รวมถึงผู้ที่เกษียณแล้วแต่ไม่เคยวางแผนการเงิน มีอยู่มากถึง 15–21%
ที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือคนที่เคยวางแผนการเงินไว้ แต่เก็บเงินไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยมีสัดส่วนถึง 42–47% ซึ่งหมายความว่าคนเกษียณวันนี้จำนวนมากยังมีเงินไม่พอใช้ตามแผนชีวิต
กระทู้ดังกล่าวยังยกตัวอย่างชวนคิดว่า หากคุณต้องการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท ในช่วงหลังเกษียณที่ยาวนานถึง 20 ปี (หรือประมาณ 240 เดือน) จะต้องมีเงินก้อนอย่างน้อย 4,025,315 บาท เพื่อให้พอใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งรายได้ประจำ ซึ่งยังไม่รวมความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หรือค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งที่สะท้อนจากโพสต์นี้ คือความเชื่อที่ว่า “เดี๋ยวก็เก็บได้” หรือ “ยังมีเวลา” กลายเป็นเพียงคำปลอบใจ เพราะหากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ โอกาสที่จะเป็นผู้สูงวัยที่มั่นคงทางการเงินอาจหายไปทุกที
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า คนส่วนใหญ่มีเวลาเพียง 38 ปี หรือ 456 เดือนในการทำงาน หาเงิน ออม และลงทุน เริ่มตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงานราวอายุ 22 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี เพื่อเตรียมรับมือกับอีก 20 ปีหลังเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้หลักแต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง
ความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่มักพลาด ได้แก่ การใช้เงินหมดไปกับชีวิตประจำวัน การไม่วางแผนเผื่ออนาคต หรือเริ่มรู้ตัวช้าเกินไปจนไม่สามารถเก็บเงินได้ทัน
กระทู้ดังกล่าวจึงไม่เพียงตั้งคำถามถึง “เงิน 4 ล้านพอไหม?” แต่ยังสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย ที่อาจต้องเร่งปรับตัว หากไม่อยากกลายเป็นผู้สูงอายุที่ “แก่แล้วแต่ไม่มีจะกิน” ในอนาคต
ที่มา พันทิป