“ภาษีทรัมป์” ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ไทยต้องลุ้น
ระทึกไปตาม ๆ กันหลังจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "นายพิชัย ชุณหวชิร" ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ยังไม่สามารถปิดดีลกันได้ โดยไทยจำเป็นจะต้องเร่งปรับข้อเสนอใหม่ก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนภาษี ในระดับที่สหรัฐฯเคยประกาศไว้เมื่อ 2 เม.ย. ที่ 36%
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า การที่ไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้นั้น อาจจะอยู่ที่การกดดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อหมู ที่สหรัฐฯ พยายามกดดันไทยมาหลายปี แม้การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มจะช่วยหักล้างผลของการเปิดตลาดเนื้อสัตว์
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอใหม่ที่ทางฝ่ายไทยยื่นไปยังสหรัฐฯนั้น นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ คาดว่าจะช่วยเปิดตลาดสินค้าของสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มการซื้อก๊าซ LNG, ถ่านหิน, สินค้าเกษตร, เครื่องบิน Boeing และตั้งเป้าลดดุลการค้ากับสหรัฐฯ จากเดิมที่ไทยได้ดุลราว 4.6 หมื่นล้านเหรียญต่อปี ให้ลดลง 70 % ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อหวังให้สหรัฐฯปรับลดภาษีนำเข้าลงสู่ระดับ 10–20%
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในมุมของฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มองว่า เมื่อพิจารณาผลกระทบต่ออัตราภาษี เฉลี่ยที่ไทยต้องเผชิญ หากไม่มีข้อตกลงหรือการขยายเวลาเกิดขึ้นภายใน วันที่ 9 ก.ค. นี้ พบว่า หลัก ๆ จะมี SHOCK ที่เกิดขึ้นกับภาษีกลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน, เหล็กและอลูมิเนียม, บวกกับภาษีตอบโต้ส่วนเพิ่ม โดยรวมอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย อาจเพิ่ม DOWNSIDE RISK ต่อ GDP ไทยได้
ขณะที่ รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลทรัมป์ต้องการนำรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าโดยเฉพาะภาษีตอบโต้ทางการค้ามาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หากการเจรจาภาษีตอบโต้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯยังไม่มีข้อสรุปตามกรอบเวลาเส้นตายและสหรัฐไม่ยืดเส้นตาย
อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งปีหลังเสี่ยงสูงมาก คาดการว่างงานเพิ่มสูงในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก หากมีข้อสรุปและไทยสามารถปรับลดภาษีได้ต่ำกว่า 20% หรือได้รับการยืดเส้นตาย ภาคส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หากอัตราภาษีตอบโต้ถูกเรียกเก็บในอัตราสูงกว่า 20% ภาคส่งออกจะได้รับผลกระทบและชะลอตัวโดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ไทยต้องแข่งขันกับเวียดนาม ข้อเสนอในการเจรจาทางการค้าของไทยนั้น มีตั้งแต่
1. เพิ่มช่องทางเปิดรับสินค้าสหรัฐฯ ไทยเสนอยอม ลดอัตราภาษีไทย บางรายการเพื่อเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มีแผนขยายโควต้าการนำเข้าในสินค้าหลายประเภท เพื่อสร้างสมดุลดุลการค้า
2. ป้องกันการลักลอบส่งออกผ่านประเทศที่สาม โดยไทยให้คำมั่นว่าจะ ปราบปรามการลักลอบ Re-Export โดยเฉพาะผ่านจีนหรือเอเชียอื่น ๆ มีการเสนอมาตรการตรวจสอบและเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการส่งออก
3. ช่วยส่งเสริมนโยบายสร้างงานในสหรัฐฯ เสนอให้ไทย ลงทุนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการที่สร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ รูปแบบที่เสนอรวมถึงการสร้างโรงงานหรือโรงแรมในรัฐที่มีคนว่างงานสูง
4. ลดภาระภาษีไทยเพื่อแลกกับภาษี 10% ไทยยืนยันจะยอมให้ลดภาษีให้มากที่สุดเพื่อขอแลก เป็นอัตราภาษี 10% เท่านั้น หากเปรียบเทียบข้อเสนอของไทยกับเวียดนามแล้ว เวียดนามให้ข้อเสนอที่สหรัฐอเมริกาพึงพอใจมากกว่าโดยเฉพาะการเปิดเสรีให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยไม่มีกำแพงภาษี
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามผลการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯอย่างใกล้ชิด หลังจากไทย ได้มีการปรับปรุงและยื่นข้อเสนอใหม่ให้กับสหรัฐฯ ซึ่งต้องติดตามว่าสหรัฐฯจะมีการตอบรับอย่างไร เพราะทุกการขยับ ทุกการขับเคลื่อน ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews