สมศักดิ์ เดือด สั่ง อย. สสจ. เร่งตรวจสอบสินค้ากัญชาเสี่ยง ปกป้องสังคม
วันที่ 6 กรกฎาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี เด็กหญิงอายุ 2 ขวบ 6 เดือน กินเยลลี่หมีที่มีส่วนผสมกัญชา จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยนายสมศักดิ์ระบุว่า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงฯ ห่วงใยมาโดยตลอด เพราะที่ผ่านมามีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงกัญชาของเยาวชนที่อาจก่อผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
หลังจากทราบข่าวดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการไปยัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินการกวาดล้างและตรวจสอบผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาทำเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรือสินค้าอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดไป โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ มีอำนาจเต็มในการจับ ปรับ และส่งผู้กระทำผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที หากพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสารสกัดกัญชาเกินกว่ากฎหมายกำหนด
สำหรับโทษของผู้ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือไม่แสดงฉลาก มีโทษตั้งแต่ปรับไม่เกิน 30,000 บาท ไปจนถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าพบว่ามีการผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ขออนุญาต หรือมีสาร THC ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงมาตรการตรวจสอบร้านค้ากัญชา ว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ โดยร้านค้าที่ขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกดำเนินคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่แม้ได้รับอนุญาตแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข อาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
สำหรับประชาชน หากมีข้อสงสัยหรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการบริโภค สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรมการแพทย์แผนไทยฯ
นายสมศักดิ์กล่าวย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแจ้งเบาะแสเพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป โดยสิ่งที่ตนเองห่วงใยที่สุดคือการที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ได้อ้างอิงข้อมูลจาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้สำรวจปัญหาการใช้สารเสพติดในปี พ.ศ. 2565 พบว่าการใช้กัญชาแบบสูบในกลุ่มเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า จากเดิม 1-2% ในปี 2563 เป็น 9.7% ในปี 2565
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไทยจำเป็นต้องเดินหน้าให้กัญชาใช้เพื่อทางการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อลดผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคมโดยรวมต่อไป.