คดีฮั้วเลือกส.ว. ยังไม่จบ กกต.ใช้เวลา-ไม่ลัดขั้นตอน "อิทธิพร" ยัน "ไม่อยู่ใต้อาณัติการเมือง"
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการไต่สวนคดี “ฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” ว่า ขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ชุดที่ 26 ได้จัดทำสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่เลขาธิการ กกต. กำลังพิจารณาให้ความเห็น
เมื่อเลขาธิการ กกต. ให้ความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ซึ่งมีหลายคณะ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. โดยระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบ คือ เลขาธิการ กกต. ใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน คณะอนุกรรมการใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กกต. จะต้องพิจารณาภายในอีกไม่เกิน 90 วัน
นายอิทธิพรกล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดของสำนวนถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ และไม่ได้เร่งรัดการพิจารณา โดยยึดกระบวนการตามขั้นตอนที่ชัดเจน และไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ แม้จะมีกระแสข่าวว่าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเพิ่งถอนตัวจากรัฐบาล ได้ยื่นฟ้องร้องคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 ก็ตาม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนผู้ที่อาจถูกดำเนินคดีซึ่งมีรายงานว่ามากถึง 229 ราย นายอิทธิพรระบุว่า ยังไม่ได้รับรายละเอียดในระดับนั้น เพราะสำนวนส่งขึ้นมาตามลำดับ และจะพิจารณาเป็นรายกรณีตามข้อเท็จจริง
ในส่วนของความเห็นที่ว่าผู้ถูกร้องมีข้อกล่าวหาลักษณะเดียวกันและอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม นายอิทธิพรชี้ว่า เป็นความคิดเห็นที่วิพากษ์ได้ตามปกติ แต่ กกต. ยังคงดำเนินการตามขั้นตอน และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษหรือไม่ นายอิทธิพรยืนยันว่า ไม่ได้มีแนวโน้มจะตั้ง เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบ เว้นแต่จะมีเหตุผลจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
ด้านข้อกังวลเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ประธาน กกต. ย้ำว่า กกต. ทุกคนมีหน้าที่ธำรงความเป็นกลาง ต้องไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ และจะตัดสินตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย โดยไม่ถูกชี้นำ
ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับการลดเวลาการไต่สวน นายอิทธิพรกล่าวว่า จะทำได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น เพื่อรักษาสิทธิในการสมัครเลือกตั้งของผู้สมัคร และในกรณีที่ข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอจากชุดไต่สวน แต่โดยทั่วไป กกต. จะดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด
ท้ายที่สุด ในกรณีที่พรรคภูมิใจไทยฟ้องคณะกรรมการไต่สวนชุดที่ 26 นั้น นายอิทธิพรระบุว่า เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กกต. จะพิจารณาบนพื้นฐานของสำนวนและความเห็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการลงมติอาจออกมาเป็นเอกฉันท์ หรือแตกต่างกันตามดุลยพินิจของกรรมการแต่ละคน