‘”หยก” …. ความงามแห่งอัญมณีจักรพรรดิ’
GM Live
อัพเดต 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 22.37 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องราวของผู้ชาย เทรนด์ บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ธุรกิจ รถยนต์ Gadget สุขภาพ อัพเดทก่อนใคร"หยก" หนึ่งในอัญมณีระดับแถวหน้า ที่เชื่อกันว่า มีพลังส่งเสริมหนุนให้กับผู้สวมใส่ และเป็นอัญมณีระดับ 'จักรพรรดิ' อันเป็นที่ต้องการของคนทุกระดับชั้น ความเป็นมา คุณสมบัติ และการคัดแยก จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ถูกให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง GM Live ได้รับเกียรติจาก Trez Jewelry ศูนย์การค้าสยามพารากอน ให้ไปทำความรู้จักกับอัญมณีชนิดนี้ให้ถ่องแท้ และนำมาเสนอให้กับคุณผู้อ่านกันในครั้งนี้
1) ที่มาและเรื่องราวของหยก
หากจะพูดถึงความเชื่อและประวัติของหยกนั้น ในสมัยก่อนชาวจีนเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีที่สามารถคุ้มครองหรือปกป้องจากสิ่งชั่วร้ายและช่วยให้มีชีวิตยั่งยืน มั่งคั่งได้ รวมถึงสามารถใช้ในการรักษาโรคปวดเมื่อยตามร่างกายได้ เช่น การใช้กัวซา (Gua sha) ดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับการรักษา ยังมีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความตายของมนุษย์อีกด้วย โดยจะมีการเรียกชื่อหยกที่มีลักษณะเป็นสีเหลี่ยม และมักวางไว้บริเวณเท้าว่า ‘ฉง’ (Cong) และ ‘ปี้’ (Pi) จะวางไว้บริเวณศีรษะของผู้ตาย โดยมีความเชื่อว่าหากนำหยกใส่ไว้ ณ สุสาน จะทำให้วิญญาณของผู้นั้นไปสู่สรวงสวรรค์ได้
ในคัมภีร์ Shou wen jie zi ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีการกล่าวถึงหยกตามคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่
ความเมตตา แสดงถึงความแวววาวในตัวหยก
ความกล้าหาญ แสดงถึงความคงทน
ภูมิปัญญา แสดงถึงเสียงเมื่อนำหยกกระทบกัน
ความชอบธรรม แสดงถึงความโปร่งใส
ความมีเกียรติ แสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์
หากกล่าวถึงการนำเข้าหยกจากประเทศจีน มาสู่ประเทศไทย มีความเชื่อว่า ได้มีการนำเข้าหยกมาตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา โดยชาวจีนฮกเกี้ยน โดยมีการออกเสียงหยกค่อนข้างยาก คือ ‘จี-ยก’ หรือ ‘ย้อก’ หากออกเสียงเร็ว จะกลายเป็นคำว่า ‘หยก’ ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง
นอกจากนี้ประเทศจีนยังเป็นผู้นำหยกเข้ามาจากประเทศพม่า โดยเกิดจากการชื่นชอบหยกที่มีสีเขียวเข้มและมีคุณภาพสูง จากพระนางซูสีไทเฮา ดังนั้นจึงมีการตั้งชื่อหยกที่มีคุณภาพสูงว่า หยกจักรพรรดิ และในสมัยราชวงศ์ชิงได้มีการตั้งชื่อ อัญมณีที่มีสีเขียวดังกล่าวว่า ‘Fei Cui’ ซึ่งหมายถึงสีเขียวเหมือนนกกระเต็น
2) ประเภทของหยก
เมื่อได้ทราบถึงประวัติและความเป็นมาของหยก จะเข้าสู่การจำแนกประเภทของหยก ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่
2.1 หยก Nephrite โดยมีคุณสมบัติทางกายภาพดังนี้ เป็นแร่กลุ่ม Amphibole มีสีเขียว ขาว ดำ และพบลักษณะของผลึกสีดำแทรกตัวตามเนื้อของ Nephrite มีความแข็ง 6-6.5 โดยเรียกลักษณะดังกล่าวว่า ‘หยกอ่อน’ หรือ soft jade และมีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.606-1.632 มีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.90-3.10 โดยชื่อทางการค้าจะถูกเรียกว่า New Zealand greenstone, New Zealand jade, Spinach Jade มักพบในแหล่ง British Colombia; Canada, Siberia; Russia, และ Xinjiang; China
2.2 หยก Jadeite มีคุณสมบัติทางกายภาพคือ เป็นแร่กลุ่ม Pyroxene ที่มีค่าโซเดียมสูง มีได้หลายสี เช่น สีเขียว เหลือง ชมพู ลาเวนเดอร์ น้ำตาล ดำ มีความแข็ง 6.5-7 โดยเรียกลักษณะดังกล่าวว่า ‘หยกแข็ง’ หรือ hard jade และมีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.660-1.680 มีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 3.25-3.40 มักพบในแหล่ง Guatemala และ Hpakan; Myanmar
หยก Jadeiteในประเทศพม่า อยู่บริเวณศูนย์กลางทางตอนเหนือ เป็นแหล่งสำคัญของหยก และติดกับรอยเลื่อนมีพลัง จึงทำให้เกิดกระบวนการ Metamorphic related เกิดขึ้น หมายถึง เปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรมุดตัวลงใต้เปลือกโลกภาคพื้นทวีป เนื่องจากความดันและอุณหภูมิที่ต่างกัน ในระหว่างการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกดังกล่าว ก่อให้เกิดความร้อนและความดันสูง จึงมีการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุภายในหินต้นกำเนิด ก่อให้เกิดเป็นหยกขึ้นมาในที่สุด (ที่มา: BURMESE JADE: THE INSCRUTABLE GEM., Richard W. Hughes., 2000.)
3) การประเมินหรือการเลือกซื้อหยก
3.1 สี(Color)
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะนึกถึงว่าหยกแท้นั้นจะต้องมีสีเขียว ซึ่งจริงๆแล้วสามารถพบหยกได้ในหลากหลายเฉดสี ตั้งแต่ หยกไม่มีสี สีเหลือง ส้ม น้ำตาล และม่วง หยกแต่ละสีมีชื่อเรียกทางการค้าที่แตกต่างกันออกไป
หยกสีม่วง เรียกว่า หยกลาเวนเดอร์
หยกสีน้ำตาล เรียกว่า หยกน้ำผึ้ง
หยกสีขาวหรือสีใส เรียกว่า Colorless หยกไร้สี
หยกสีเขียว จะมีตั้งแต่สีเขียวอมน้ำเงินไปจนถึงเขียวอมเหลือง แต่ถ้าพบ หยกสีเขียวที่มีความสดของสีคล้ายมรกต และมีเนื้อเกือบโปร่งใส จะเรียกว่า "สีเขียวจักรพรรดิ" (Imperial Green) หยกที่มีสีที่ดี คือ มีสีที่สด มีความเข้มของสีปานกลางหรือกึ่งเข้ม และสีต้องสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด
สีหยก
3.2 ความโปร่งแสง (Transparency)
ความโปร่งแสง คือ ปริมาณของแสงที่สามารถทะลุผ่านเข้าไปในอัญมณีได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
3.2.1 ทึบแสง (opaque) หมายถึง ระดับความโปร่งแสงที่แสงไม่สามารถทะลุผ่านอัญมณีได้
3.2.2 โปร่งใส (translucent) หมายถึง ระดับความโปร่งแสงที่แสงสามารถทะลุผ่านอัญมณีได้เพียงกึ่งหนึ่ง คือไม่สามารถเห็นในส่วนด้านหลังอัญมณีได้
3.2.3 โปร่งแสง (transparent) หมายถึง ระดับความโปร่งแสงที่แสงสามารถทะลุผ่านอัญมณีได้ทั้งหมด จนสามารถเห็นสิ่งที่อยู่ในเนื้ออัญมณีได้ชัดเจน
หยกที่มีความโปร่งแสง และแสงทะลุผ่านได้มากนับเป็นหยกคุณภาพสูง ส่วนมากจะเป็นหยกที่มีเนื้อผลึกแร่ขนาดเล็กละเอียดประสานกันแน่น ส่วนหยกที่มีความโปร่งแสง และแสงทะลุผ่านได้น้อย เนื้อผลึกแร่ค่อนข้างใหญ่และมีความหยาบเนื้อประสานกันได้ไม่ดี
3.3 ความสะอาด (Clarity)
หยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักจะมีตำหนิ มลทินต่างๆ เช่น ลักษณะรอยแตกร้าว รอยปะ รอยขีดข่วนต่างๆ ลักษณะจุดสี หย่อมสีหรือรอยด่างของสี การพบหยกที่แทบไม่มีตำหนิเลยถือว่าเป็นสิ่งที่หายากมาก หยกที่มีตำหนิมลทินต่างๆ มาก จะทำให้ความสวยงามลดลง จึงควรเลือกหยกที่มีตำหนิดังกล่าวน้อยที่สุดหรือมีขนาดเล็ก
3.4 รูปร่างหรือรูปทรง (Cut)
หยกก็เป็นอัญมณีชนิดนึงเมื่อได้ก้อนดิบมาแล้วก็ต้องนำมาขัด เจียระไนเพื่อให้เกิดความวาว ความเงางาม ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ในเรื่องของสัดส่วน ความกลมกลืน ความสมบูรณ์ของรูปแบบ โดยส่วนใหญ่ที่เราพบเห็น หยกมักนิยมนำมาเจียระไนให้เป็นรูปทรงหลังเบี้ยหรือทรงหลังเต่า ถ้ารูปทรงหลังเบี้ยมีความอูมเป็นทรงซาลาเปาจะมีมูลค่าสูง แต่ถ้าความอูมแบนลง มูลค่าก็จะลดลง นอกจากการเจียระไนเป็นทรงหลังเบี้ยแล้ว ยังนิยมนำหยกมาทำเป็นกำไลหรือแกะสลักเป็นรูปแบบต่างๆ ต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์ ความสมดุล ของชิ้นงาน เช่น ถ้าเลือกซื้อกำไลหยก กำไลควรเป็นทรงกลม และมีความหนาในระดับนึง เพื่อป้องกันไม่ให้หยกแตกหักในกรณีที่เผลอเอามือกระแทกกับโต๊ะหรือของแข็ง เป็นต้น
4) การแยกหยกธรรมชาติและสิ่งเลียนแบบหยก
วัสดุเลียนแบบหยก ‘Imitation Jade’ ความหมายของอัญมณีเลียนแบบ คือ อัญมณีที่มีคุณสมบัติคล้ายหยก หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยมีคุณสมบัติทางเคมีต่างกันหรือเหมือนกันก็ได้ และสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน
โดยเครื่องมือที่ใช้ในการจำแนกวัสดุเลียนแบบหยก มีดังนี้
10x loupe หรือเลนส์ ที่มีกำลังขยาย 10 เท่า ใช้สำหรับดูเนื้อภายในผลึก
Tweezer หรือที่จับอัญมณี ไว้สำหรับจับอัญมณีที่มีขนาดเล็ก หากไม่สามารถจับด้วยมือได้
Torch ไฟฉายสำหรับส่องดูเนื้อของอัญมณี ใช้สำหรับอัญมณีที่มีลักษณะโปร่งแสงหรือกึ่งทึบแสง เพื่อสามารถดูลักษณะของเนื้ออัญมณีได้ชัดเจนมากขึ้น
เครื่องชั่งความถ่วงจำเพาะ ใช้สำหรับการหาค่าความถ่วงจำเพาะของอัญมณี โดยใช้อัตราส่วนระหว่างการชั่งน้ำหนักวัตถุในน้ำและอากาศ ซึ่งในอัญมณีแต่ละชนิดจะมีค่าความถ่วงจำเพาะที่แตกต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์
Refractometer เครื่องมือที่ใช้ดูค่าดัชนีการหักเหของแสง โดยใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับการอ่านค่าดัชนีหักเหแสง ซึ่งค่าที่บ่งบอกจะมีค่าที่แตกต่างกันในอัญมณีแต่ละชนิด (ที่มา: https://git.or.th/th/service/265)
แสง UV สามารถใช้ดูหยกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพได้ เบื้องต้น เช่นดูการย้อมสี ใน C-jade หรือการอุดพอลิเมอร์ใน B-jade แต่ทั้งนี้ต้องใช้เครื่องมือขั้นสูงในการตรวจสอบเพิ่มเติม
เมื่อทราบถึงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบวัสดุเลียนแบบหยกเบื้องต้น ต่อมาจะเป็นการกล่าวถึง วัสดุเลียนแบบหยก ว่ามีประเภทใดบ้าง
- Nephrite jade เมื่อทราบลักษณะทางกายภาพเบื้องต้นแล้ว เมื่อกล่าวถึงลักษณะเนื้อหรือมลทินของ nephrite jade จะพบลักษณะมลทินผลึกสีดำและมลทินแบบเส้นใย ได้ชัดเจน
รูปที่ 1 มลทินในหยก Nephrite
- Jadeite jade จะพบลักษณะมลทินเป็นแบบเส้นใยชัดเจน
รูปที่ 2 มลทินในหยก Jadeite
- Amazonite หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกอเมซอน (Amazon jade) เป็นแร่กลุ่ม Feldspar โดยมีสีเขียวแทรกสลับกับสีขาว มีค่าความแข็งอยู่ที่ 6-6.5 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.52-1.53 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.54-2.60
รูปที่ 3 เนื้อผลึก Amazonite
- Serpentine หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกเกาหลี (Korean jade) เป็นแร่กลุ่ม Serpentine โดยมีสีเขียว ขาว และเหลือง มีค่าความแข็งอยู่ที่ 4-4.5 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.55-1.57 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.58-2.67 ลักษณะมลทินจะคล้ายปุยเมฆ
รูปที่ 4 มลทินใน Serpentine
- Aventurine Quartz หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกอินเดีย (Indian jade) เป็นแร่กลุ่ม Quartz เนื้อผลึกแบบมวลเมล็ด กล่าวคือมีผลึกหลายชิ้นประกอบรวมกัน โดยมีสีเขียว น้ำตาล และเหลือง มีค่าความแข็งอยู่ที่ 7 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.544-1.553 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.64-2.66 ลักษณะมลทินจะพบผลึกสีเขียวและสีดำ เช่น แร่ mica ปรากฏอยู่
รูปที่ 5 มลทินใน Aventurine Quartz
- Chalcedony Quartz เป็นแร่กลุ่ม Quartz เช่นเดียวกัน มีสีเขียว น้ำตาล ขาว และเหลือง มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกันกับ Aventurine quartz ลักษณะมลทินเป็นผลึกที่เนื้อมีความละเอียด หากสังเกตโดยใช้ torch จะพบลักษณะของแถบสี หรือ color banding
รูปที่ 6 มลทินใน Dyed Chalcedony Quartz
- Chrysoprase Quartz หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกออสเตรเลีย (Australian jade) เป็นแร่กลุ่ม Quartz เช่นเดียวกัน มีสีเขียว น้ำตาล ขาว และเหลือง มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกันกับ Aventurine quartz และ Chalcedony quartz ลักษณะมลทินเป็นผลึกที่เนื้อมีความละเอียดมาก หรือเรียกว่า เนื้อเทียน
รูปที่ 7 เนื้อผลึกใน Chrysoprase Quartz
- Hydrogrossular Garnet หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกแอฟริกัน (African jade) เป็นแร่กลุ่ม Garnet หรือโกเมน เป็นเนื้อผลึกเดี่ยว มีสีเขียว ขาว ชมพูและเหลือง มีค่าความแข็งอยู่ที่ 6.75-7.25 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.73 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 3.6 ลักษณะมลทินจะพบผลึกแร่เป็นจำนวนมาก และเนื้อผลึกจะเป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อน
รูปที่ 8 เนื้อผลึกใน Hydrogrossular Garnet
- Malachite หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ Silver Peak Jadeite เป็นแร่กลุ่ม Rosasite มีสีเขียว สลับดำ มีค่าความแข็งอยู่ที่ 3.5-4 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.65-1.91 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 3.25-4.00 ลักษณะมลทินจะพบแถบสีเขียวสลับดำ เรียงตัวกันอย่างเป็นธรรมชาติ กล่าวคือลักษณะจะไม่เป็นระเบียบมากนัก
รูปที่ 9 เนื้อผลึกใน Malachite
- Calcite หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกเม็กซิกัน (Mexican jade) เป็นแร่กลุ่ม Calcite มีสีขาว ดำ เหลือง ชมพู ฟ้า มีค่าความแข็งอยู่ที่ 3.35 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.48-1.65 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.58-2.86 ลักษณะที่พบคือเนื้อหินจะมีความเป็นมวลเมล็ด (Granular texture) และทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริก
รูปที่ 10 แร่ calcite
- Maw Sit Sit เป็นหินที่มีองค์ประกอบของแร่หลายชนิดอยู่ภายใน เช่น แร่ Kosmochlor, Albite, Jadeite, มีสีเขียว มีค่าความแข็งอยู่ที่ 6-7 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.52 (เป็นส่วนมาก) - 1.74 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.50-2.60 ลักษณะคือมีสีเขียวและลายสีดำแทรกสลับกันและทึบแสง
รูปที่ 11 เนื้อผลึกใน Maw Sit Sit
- Prehnite หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกญี่ปุ่น (Japanese jade) เป็นแร่กลุ่ม Prehnite มีสีขาว เขียว เหลือง มีค่าความแข็งอยู่ที่ 6-6.5 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.611-1.665 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.80-2.95 ลักษณะมลทินจะปรากฏเป็นเส้นเข็มหรือแท่งสีดำ คือแร่ tourmaline
รูปที่ 12 เนื้อผลึกใน Prehnite
- Soapstone หรือ steatite หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Jade) เป็นแร่กลุ่ม Talc มีลักษณะคล้ายแป้ง มีสีแดง เขียว เหลือง น้ำตาล มีค่าความแข็งอยู่ที่ 1-2.5 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.55 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.70-2.80 เนื่องจากเป็นแร่ที่อยู่ในกลุ่ม Talc ทำให้เวลาสัมผัสจะรู้สึกลื่นมือคล้ายแป้งหรือสบู่
รูปที่ 13 เนื้อผลึกใน Soapstone
- Glass man-made หรือ ชื่อที่มักเรียกผิด เพื่อให้เกิดความสับสน คือ หยกเมตา (Meta jade) แก้วที่มนุษย์ทำขึ้น มีหลายสีตามความต้องการของตลาด มีค่าความแข็งอยู่ที่ 5-6 มีค่าดัชนีหักเหแสงอยู่ที่ 1.470-1.700 และมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 2.30-4.50 ลักษณะมลทินจะพบฟองอากาศ (gas bubbles) และเส้นไหลในแก้ว (Flow line) (ที่มา: The Jade Enigma., Jill M. Hobbs, 1982.)
รูปที่ 14 มลทินใน Glass man-made
5) การปรับปรุงคุณภาพหยก
5.1A-jade คือหยกธรรมชาติ จะปรากฏลักษณะเส้นใยในเนื้อผลึก และอาจมีรอยสนิม (iron strain) เกิดขึ้น
5.2 B-jade คือหยกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพผ่านการอุดรอยแตกด้วย เรซิ่นและขี้ผึ้ง โดยเกิดจากการนำหยกไปฟอกกับกรดที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อนำคราบสนิมเหล็กออกจากเนื้อผลึก จากนั้นจึงอุดรอยแตกด้วยพอลิเมอร์ เรซิ่น เพื่อซ่อมแซมรอยแตกดังกล่าว โดยสามารถสังเกตได้จากประกายของพื้นผิวที่แตกต่างกัน
รูปที่ 16 มลทินใน B-jade (ที่มา: BURMESE JADE: THE INSCRUTABLE GEM., Richard W. Hughes., 2000.)
5.3 C-jade คือหยกที่ผ่านการย้อมสี เพื่อให้สีสวยงามหรือสดขึ้น โดยจะสังเกตได้จากสีที่เข้มขึ้นในบางพื้นที่ ไม่สม่ำเสมอทั่วทั้งผลึก หรืออาจพบความเข้มข้นของสีที่ย้อมบริเวณรอยแตกได้
รูปที่ 17 มลทินใน C-jade
วิธีการตรวจการปรับปรุงคุณภาพสามารถตรวจสอบได้ด้วยเครื่องมือขั้นสูง ได้แก่
เครื่องมือ UV-Vis-NIR (Ultraviolet-Visible-Near Infrared) สามารถใช้ตรวจสอบหยกประเภท C-jade ได้และเครื่องมือ FTIR (Fourier Transform Infrared Spectroscopy) สามารถใช้ตรวจสอบหยกประเภท B-jade ได้ (ที่มา: Jadeite: impregnated and dyed., Facette., 2023.)
6) วิธีการดูแลรักษาเครื่องประดับ
เครื่องประดับไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางด้านความงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคุณค่าในเรื่องของการลงทุน และคุณค่าทางใจที่จะสามารถเก็บเป็นทรัพย์สมบัติเพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานได้ การดูแลรักษาเครื่องประดับจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการดูแลสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่
- การนำมาสวมใส่ ควรใส่เครื่องประดับเป็นสิ่งสุดท้ายของการแต่งตัว เพราะเนื่องจากอัญมณีบางชนิดจะมีความไวต่อสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม โลชั่น เพราะหากอัญมณีโดนสารเคมีเหล่านี้แล้วจะทำให้ความวาวที่ผิวอัญมณีลดลง หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก หรือกิจกรรมผาดโผน ถ้าใส่เครื่องประดับส่งผลให้เครื่องประดับเกิดการชำรุดเสียหาย เกิดแตกหรือบิ่นได้
- เมื่อใช้งานเครื่องประดับแล้ว ต้องนำมาทำความสะอาดโดยนำเครื่องประดับแช่ในน้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างจาน หรือสบู่เหลว ทิ้งไว้ประมาณ 5-15 นาที แล้วนำแปรงหรือพู่กัน ขนนุ่มมาค่อยๆขัดเครื่องประดับเบาๆในบริเวณด้านหลังหรือตามร่องเครื่องประดับ เพราะในบริเวณนั้นจะมีฝุ่นหรือครีมโลชั่นเข้าไปอุดตันกันมาก ขัดเรียบร้อยแล้วล้างด้วยน้ำอุณหภูมิปกติให้สะอาด วางเครื่องประดับลงบนผ้าขนหนู ค่อยๆซับเบาๆให้เครื่องประดับแห้ง
- การเก็บรักษา ควรจัดเก็บเครื่องประดับให้เป็นระเบียบ แยกใส่ถุงซิปล็อคเก็บแต่ละชิ้น หรือเก็บใส่กล่องควรมีการแยกสัดส่วนของกล่องที่ชัดเจน เพื่อให้แยกใส่ได้ เพราะหากเก็บรวมกันเป็นกองๆ อัญมณีจะกระทบหรือขบกันทำให้เกิดรอยได้
ขอขอบพระคุณ ร้าน Trez Jewelry ที่สนับสนุนด้านข้อมูล และการสัมมนา