นักวิชาการ-สื่อแนะศาล รธน. เปิดกว้าง เข้าใจง่าย ไม่ใช่นิติสงคราม
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศาลรัฐธรรมนูญจัดกิจกรรม “ศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน” ประจำปี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดงานว่า ศาลตระหนักดีว่าการทำงานของสื่อมวลชนต้องการข้อมูลที่ชัดเจน และทันสถานการณ์ แต่การสื่อสารจากฝ่ายศาลจำเป็นต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย จริยธรรม และมารยาทของตุลาการ จึงต้องหาจุดสมดุลในการพูด-ไม่พูด เพื่อรักษาความเหมาะสมของสถาบันตุลาการ
“บางครั้งก็มีคนแนะให้พูดให้น้อย บางคนก็ให้พูดให้มาก เราต้องเดินตรงกลาง สื่อกับศาลต้องอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ศาลเองก็เข้าใจว่าสื่ออยากได้ข่าวล่วงหน้า อยากได้คำอธิบาย แต่ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม” นายนครินทร์ กล่าว
หลังจากนั้น เป็นเวทีเสวนาหัวข้อ “การสร้างระบบถ่วงดุลและบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต” โดย ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า สังคมไทยชอบตั้งคำถามกับปลายน้ำ เช่น ทำไมคนแค่ 9 คนตัดสินอนาคตของประเทศ โดยไม่ย้อนดูต้นน้ำว่าที่มาของคดีมาจากการกระทำของใคร
พร้อมเตือนว่า การเปิดให้ประชาชนเลือกตุลาการโดยตรง เช่น ในบางประเทศ อาจทำให้ตุลาการต้องวิ่งหาฐานเสียง และกระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือนโดยการเมือง
“ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญยุคนี้รับฟังความเห็นมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบวกในระบอบประชาธิปไตย การเปิดเผยมติ 7:2 พร้อมเหตุผลตุลาการ ก็ถือเป็นความโปร่งใส แต่ควรมีโฆษกศาลอย่างเป็นทางการเพื่อช่วยตอบข้อสงสัยให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ลดความฟุ้งซ่าน” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว
ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าเป็น “ศาลการเมือง” เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจตัดสินเรื่องจริยธรรมนักการเมืองโดยตรง แต่ชี้ว่าความท้าทายสำคัญคือการสื่อสารกับสังคม โดยเสนอให้ศาลใช้ภาษาง่ายขึ้นในการเผยแพร่คำวินิจฉัย เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้มีโฆษกศาลที่สามารถอธิบายข้อกฎหมายได้ตรงประเด็น
นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส ตั้งข้อสังเกตว่า ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการสรรหาและวุฒิสภา ยังเป็นประเด็นถกเถียง พร้อมชี้ว่าที่ผ่านมานักการเมืองมักกล่าวโทษรัฐธรรมนูญว่าเป็น “ต้นไม้พิษ” แต่กลับเลือกใช้เฉพาะผลที่ตนได้ประโยชน์ ไม่เคยวิจารณ์หรือตรวจสอบตนเอง
“ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่คือนักการเมืองที่ไม่เคยมองว่าตัวเองคือปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญมีภาระมากขึ้นในยุคนี้ เพราะทุกเรื่องโยนมาที่ศาลหมด ตั้งแต่แก้รัฐธรรมนูญยันจริยธรรม แต่พอศาลตัดสินไม่ถูกใจก็หาว่าเป็นนิติสงคราม” นายมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า หากศาลรัฐธรรมนูญสามารถพัฒนารูปแบบการสื่อสารให้รวดเร็ว เข้าใจง่าย ชัดเจน และตั้งโฆษกอย่างเป็นทางการ จะช่วยลดความเข้าใจผิด และทำให้การทำงานของตุลาการไม่ตกเป็นเป้าโจมตีจากการเมืองที่มักพาเรื่อง “เฉียดเส้น” มาสู่การร้องเรียนจนกลายเป็นปัญหาการเมืองซ้ำซาก