[บทความ] ทำไม Xiaomi ออกสินค้าอะไรใหม่ก็ขายดี
เสียวหมี่ (Xiaomi) แบรนด์เทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 แต่ภายในเวลาไม่กี่ปีสามารถก้าวขึ้นมาอยู่แนวหน้าของวงการสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อัจฉริยะระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว
ล่าสุด ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi YU7 พุ่งทะลุ 90,000 คันภายใน 3 วัน สะท้อนความนิยมของแบรนด์ที่ยังคงแรงดีไม่มีตก จากจุดเริ่มต้นด้วยโทรศัพท์ราคาประหยัด Xiaomi ก้าวกระโดดเข้าสู่โลกของนวัตกรรมด้วยผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่สมาร์ตโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า
หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้สินค้า Xiaomi ขายดีและครองใจผู้บริโภคได้ในวงกว้าง บทความนี้จะพาไปเจาะลึกเหตุผลสำคัญและกลยุทธ์การทำกำไรที่ไม่เหมือนใคร
กฎเหล็กข้อแรก: กำไรไม่มาก ครองใจผู้บริโภคได้เยอะ
หัวใจสำคัญของความสำเร็จ Xiaomi คือการมอบสินค้าเทคโนโลยีคุณภาพสูงในราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยมีนโยบายชัดเจนว่า “จะไม่ตั้งกำไรจากฮาร์ดแวร์เกิน 5%” สะท้อนแนวคิดขายของดีราคาถูก ดึงคนเข้าระบบ
ที่สามารถทำเช่นนี้ได้ เนื่องจากรายได้หลักของ Xiaomi ไม่ได้มาจากตัวสินค้าโดยตรง แต่จากบริการใน ecosystem เช่น MIUI, Cloud, โฆษณาในแอป, ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ IoT ที่ใช้ร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อ
สินค้าหลักอย่างสมาร์ตโฟน Xiaomi มักมาพร้อมสเปกระดับเรือธง แต่ตั้งราคาเพียงหลักหมื่นต้น ๆ ซึ่งครองตำแหน่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ Top 3 ของโลก ไล่ตามสองยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Samsung
นอกจากนี้ยังมีเครื่องฟอกอากาศ สมาร์ตทีวี หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหลายประเทศ เช่น Mi Band ที่เคยครองตลาดไทยกว่า 35% รวมทั้งอุปกรณ์ในระบบ Mi Home ที่ผู้ใช้ควบคุมได้ทั้งหมดผ่านมือถือ ทำให้คนที่เริ่มต้นจากโทรศัพท์ Xiaomi ก็มักจะเลือกซื้ออุปกรณ์อื่นเพิ่มเพื่อให้ใช้งานร่วมกันได้สะดวก ถือเป็นการรักษาฐานแฟนเทคโนโลยีของตนไว้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ด้วยความครบเครื่องเรื่องคุณภาพ ราคา และการเชื่อมต่อ Xiaomi จึงสร้างฐานผู้ใช้ขนาดมหาศาลทั่วโลก ล่าสุดมีผู้ใช้งานระบบ MIUI และอุปกรณ์ IoT รวมกันกว่า 700 ล้านคนต่อเดือน และยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการต่อยอด ecosystem อย่างเต็มตัว
วิสัยทัศน์ผู้ก่อตั้ง: สร้างนวัตกรรมเพื่อทุกคน
เหลย จวิน (Lei Jun) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Xiaomi ชายผู้ได้รับฉายาว่า “Steve Jobs แห่งจีน” มีจุดเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจในวัยเด็กที่อยากสร้างบริษัทเทคโนโลยีแบบ Apple
เขาเริ่มต้นอาชีพจากการทำสตาร์ทอัพที่ล้มเหลว ก่อนเข้าร่วมบริษัท Kingsoft และก้าวขึ้นเป็นซีอีโอในวัยไม่ถึง 30 ปี หลังนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นสำเร็จ เขาตัดสินใจลาออกเพื่อก่อตั้ง Xiaomi ในปี 2010 พร้อมเป้าหมายชัดเจนว่า “จะสร้างสินค้าคุณภาพเยี่ยมในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้”
ปรัชญาที่ชัดเจนของ Lei Jun ผนวกกับกลยุทธ์ธุรกิจที่คิดต่าง ทำให้ Xiaomi เติบโตอย่างรวดเร็ว ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ตโฟนในจีนภายในไม่กี่ปี และต่อยอดไปสู่สมาร์ตโฮมและรถยนต์ไฟฟ้า เขายังเป็นผู้นำที่ยึดมั่นในหลัก “ได้กำไรน้อย แต่ได้ใจลูกค้า” ซึ่งกลายเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่ Xiaomi ทำมาจนถึงวันนี้
Xiaomi ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า: สมาร์ตโฟนสี่ล้อ
ปี 2024 Xiaomi เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก SU7 ได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด มียอดสั่งจองกว่า 70,000 คันภายในเดือนแรก และในปี 2025 รถรุ่นที่สอง YU7 ก็สร้างปรากฏการณ์ซ้ำอีกครั้งด้วยยอดจองถล่มทลายกว่า 90,000 คันภายใน 3 วันแรกหลังเปิดจอง
Xiaomi วางจุดขายของรถไฟฟ้าไว้ที่การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นใน ecosystem อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ใช้สามารถสั่งเปิดแอร์ที่บ้านจากรถ หรือดูสถานะสมาร์ตโฮมผ่านหน้าจอรถยนต์ได้โดยตรง
ทั้งยังเคลมว่ารถวิ่งได้ไกลกว่า Tesla Model Y ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ด้วยราคาที่คุ้มค่ากว่า ทำให้กลุ่มผู้ใช้ Xiaomi ที่เคยใช้โทรศัพท์ ทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ หันมาสนใจ EV คันแรกของแบรนด์ที่พวกเขาไว้ใจอยู่แล้ว
แม้จะมีข้อท้าทาย เช่น อุบัติเหตุหรือปัญหาการสื่อสารด้านโฆษณาเกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติ แต่ Xiaomi ก็เร่งปรับปรุงและพัฒนาต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์รถ EV ที่เชื่อมโยงบ้านและชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร
ทำให้ในปัจจุบัน Xiaomi ไม่ใช่แค่แบรนด์มือถือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าธรรมดา แต่คือผู้นำด้านเทคโนโลยีที่สร้างสินค้าเข้าถึงง่าย น่าเชื่อถือ และเชื่อมต่อถึงกันหมด ตั้งแต่มือถือไปจนถึงรถยนต์ ใช้กลยุทธ์ขายถูก กำไรบาง แต่ยึดใจผู้ใช้ คือสูตรลับที่ทำให้ Xiaomi เติบโตแบบก้าวกระโดด
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาจากแนวคิดนวัตกรรมเพื่อทุกคนที่ผสานกลยุทธ์ธุรกิจแบบเฉพาะตัว ซึ่งทำให้ Xiaomi ครองใจคนรักเทคโนโลยีทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง