ปัญหาไทย-กัมพูชา หากสถานการณ์ยืดเยื้อ สั่นสะเทือนเศรษฐกิจมากแค่ไหน
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ตามชายแดนที่ต้องอพยพเพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากทั้งสองประเทศทำการค้าชายแดนระหว่างกัน
ประเทศไทยมีด่านการค้าชายแดนที่สำคัญหลายแห่งที่เชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งแบ่งออกเป็นจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยมีจุดผ่านแดนถาวรหลัก ได้แก่ 1.ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ 2.ช่องจอม จ.สุรินทร์ 3.บ้านคลองลึก, สะพานมิตรภาพไทยกับกัมพูชา, บ้านเขาดิน จ.สระแก้ว 4.บ้านแหลม, บ้านผักกาด จ.จันทบุรี และ 5. บ้านหาดเล็ก จ.ตราด
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่าหากเหตุการณ์ยังไม่ได้บทสรุป มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องจนต้องปิดด่านจุดผ่านแดนถาวร จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท/เดือน หากมีการยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีจะสร้างความเสียหายรวม 5.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินผลกระทบออกเป็น 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน ได้แก่
1.สถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 1 เดือน จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลง 11,600 ล้านบาท
2.สถานการณ์ยืดเยื้อปานกลาง สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 3 เดือน จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลง 34,000 ล้านบาท
3.สถานการณ์เลวร้าย มีการปิดด่านแบบ 100% ตลอดปี 2568 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก 55,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับดร. อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเมินว่า หากการสู้รบยืดเยื้อถึง 30 วัน ไทยอาจสูญเสียรายได้จากการส่งออกราว 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและน่ากังวล
ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกไปยังกัมพูชา คิดเป็นมูลค่า 5,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 12.4% โดยความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา มีผลกระทบแค่บริเวณของทั้งสองประเทศเท่านั้น ส่วนการค้าชายแดนกับประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา ลาว และมาเลเซีย รวมถึงการค้ากับประเทศที่สามก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตรที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปิดด่านหรือการขนส่งที่ล่าช้า คือผักและผลไม้ ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการรองรับ หาตลาดภายในประเทศเป็นช่องทางระบายสินค้า เช่นเดียวกับ วัตถุดิบบางประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำเข้าจากกัมพูชา เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือปลาน้ำจืด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง