กรมราง-JICA ถอดบทเรียน พัฒนา M-MAP2 หนุนระบบรางคู่การเติบโตเมือง
กรมราง-JICA ถอดบทเรียน พัฒนา M-MAP2 หนุนระบบรางคู่การเติบโตเมือง
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ห้อง Eternity Baliroom ชั้น G โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม และ กรมการขนส่งทางราง เปิดการสัมมนา ในหัวข้อ “Driving Railway Network and Urban Growth with The Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2)” การขับเคลื่อนโครงข่ายรถไฟและการเติบโตของเมืองด้วยแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ฉบับที่ 2 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP2) เพื่อนำเสนอและหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล
นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมถึงทุกแผนโครงการตลอดจนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมาใช้วางแผนจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนและการพัฒนาที่ดินล่าสุดได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟในเมืองและการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานี (Transit-Oriented Development – TOD) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม
นายอธิภู กล่าวว่า การศึกษาโมเดลของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาในระบบครอบคลุมทั้งการวัดปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละวัน รวมถึง หากสถานีรถไฟฟ้ามีการก่อสร้างหรือปรับปรุงเสร็จสิ้น ทางประเทศไทยจะต้องมีการวางแผนอย่างไรต่อ และสิ่งที่ไทยจะต้องเรียนรู้จากการศึกษาโมเดลครั้งนี้ คือ แนวทางการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยทางผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้แนะนำว่า อัตราค่าโดยสารประชาชนจะต้องเข้าถึงง่าย รวมถึงทางญี่ปุ่นได้มีข้อแนะนำเรื่องการพัฒนาฟีดเดอร์เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนนี้ ประเทศไทยจะต้องมานำปรับใช้กัน
นายซาคุโตะ ขุนสุเกะ หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงาน JICA ประเทศไทย กล่าวว่า JICA ให้การสนับสนุนแผนแม่บท การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 มาต่อเนื่อง และต่อจากนี้ ทาง JICA จะมีการพัฒนาความร่วมมือกับทางประเทศไทย โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่รวมถึงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เหลือ และ ได้มีการแนะนำกับทางไทยเสมอว่าการจะพัฒนาระบบขนส่งทางรางจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ
ด้านนายเรียวอิจิ คาวาเบะ หนึ่งในผู้แทนจาก JICA กล่าวว่า JICA ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ และภาคส่วนต่าง ๆ มาหารือร่วมกัน เพื่อให้คำแนะนำและเสนอแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานของระบบ MRT โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เช่น การปรับปรุงจุดเชื่อมต่อและการถ่ายโอนไปยังสายรถไฟฟ้าอื่น การพัฒนาวงเวียนการเดินทางภายในสถานี (station loop) และส่งเสริมการพัฒนาเมืองรอบสถานี (Transit-Oriented Development หรือ TOD) และการแนะนำระบบ “ตั๋วโดยสารร่วม” หรือบัตรจราจรทั่วไป (Common Ticketing) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร
นายชิเงรุ โมริจิต ศาสตราจารย์กิตติคุณและผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง ว่าการลงทุนในระบบรางควรเป็นแผนระยะยาว แม้จะขาดทุนในช่วงต้น แต่จะให้ผลตอบแทนมหาศาลผ่านการพัฒนาเมือง (Urban Development) ในระยะหลัง นายชิเงรุ กล่าวว่า ระบบรางในเขตเมืองมักเริ่มต้นด้วยต้นทุนการดำเนินงานสูง แต่หากผนวกโครงการเข้ากับการพัฒนาเมืองภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน PPP (Public-Private Partnership) และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) จะช่วยสร้างแหล่งรายได้จากมูลค่าที่ดิน การพาณิชย์ และเศรษฐกิจชุมชนรอบแนวเส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ยกตัวอย่าง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยรายได้จากกิจกรรมพัฒนาเมืองรอบสถานีสามารถนำมาสนับสนุนการขยายเครือข่ายรถไฟใหม่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐมากนัก
นายชิเงรุ กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย ควรมีการออกแบบเมืองให้รองรับระบบราง เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรและระยะเวลาเดินทางของประชาชน พร้อมทั้งแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ และการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชิเงรุ กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตนมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการทดสอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน อย่างเป็นรูปธรรม หากสามารถพัฒนา พื้นที่เชิงพาณิชย์ และโครงสร้างพื้นฐานร่วมไปกับการเดินรถไฟ จะช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนทางการเงินให้แก่ระบบรางของไทยในระยะยาว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กรมราง-JICA ถอดบทเรียน พัฒนา M-MAP2 หนุนระบบรางคู่การเติบโตเมือง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th