รฟท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ปชช.โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ– หนองคาย
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 23.19 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพ 15 ก.ค. – “วีริศ” ผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย เน้นย้ำต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ชี้ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อแนะนำโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม ของการจัดทำเอกสารประกวดราคา ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะช่วยให้โครงการเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวีริศ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ตลอดจนมีแนวทางในการร่วมมือกับภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้เอกชนร่วมดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งงานระบบการบริหารจัดการเดินรถ และการบำรุงรักษา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย ความตรงต่อเวลา และความพึงพอใจของผู้โดยสาร อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ลดภาระงบประมาณภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นต่อการให้บริการในระยะยาว
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร–หนองคาย ถือเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติที่มีความสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมของไทยกับ สปป.ลาว และต่อเนื่องไปยังประเทศจีน ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยเส้นทางภายในประเทศไทย มีระยะทางรวมประมาณ 600 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดระยะเวลาในการเดินทาง และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง
ปัจจุบัน ความคืบหน้าของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แบ่งออกเป็นงานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา ซึ่งขณะนี้มี 2 สัญญาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ ช่วงกลางดง–ปางอโศก และช่วงสีคิ้ว–กุดจิก อีก 10 สัญญากำลังอยู่ระหว่าง
การก่อสร้าง ส่วนอีก 2 สัญญาอยู่ในขั้นตอนการเตรียมลงนาม สำหรับงานระบบได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแบบรายละเอียด (Detailed Design) คาดว่าจะก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมาแล้วเสร็จภายในปี 2572
ขณะที่ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา
เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางจากกรุงเทพมหานคร ถึงหนองคายก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีหนองคายเหลือเพียงประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับระบบคมนาคมของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล และเสริมสร้างบทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.-513-สำนักข่าวไทย