ครม.เคาะโปรเจ็กต์ร่วมทุนฯ ทอท.ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น-ให้บริการผู้โดยสาร รายที่ 2 “สุวรรณภูมิ”
ครม. อนุมัติทอท.เปิดร่วมทุนฯ โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 เพื่อให้งานต่อเนื่องหลังรายเดิมหมดสัญญาปี 2569 และรองรับผู้โดยสารเพิ่ม
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ก.ค. 2568 มีมติอนุมัติตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ดำเนินโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment: GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Passenger Handing Services: PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โครงการฯ) ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการนโยบายฯ) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่ ทอท. เสนอแล้ว
โดย ทอท. ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารท่าอากาศยานในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในส่วนของโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment: GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Passenger Handling Services: PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โครงการฯ) โดย ทอท. ได้พิจารณาให้สิทธิการประกอบกิจการดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการ (ให้สิทธิการประกอบกิจการแยกกัน) ดังนี้
ด้านกิจการ การให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE) มีการให้สิทธิการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท การบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) (2) บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ (สิ้นสุดสัญญาปี 2569)
ด้านกิจการ การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้น (PHS) มีการให้สิทธิการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท การบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) (2) บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ (สิ้นสุดสัญญาปี 2564) (3) บริษัท สุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด (สิ้นสุดสัญญาปี 2564)
โดยที่ผู้ประกอบการรายที่ 2 ของกิจการ GSE คือ บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ จะครบกำหนดอายุสัญญาประกอบกิจการในปี 2569 ทอท. จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้สิทธิกับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมล่วงหน้า เพื่อเป็นการรักษาจำนวนผู้ประกอบการให้เพียงพอต่อการให้บริการและสามารถรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการให้สิทธิผู้ประกอบการรายใหม่ใหม่ในครั้งนี้ จะครอบคุมการดำเนินกิจการทั้ง GSE และ PHS เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการในกิจการ PHS ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า ภายในปี 2575 จะมีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้มขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเห็นว่าควรมีจำนวนผู้ประกอบการ ดังนี้ 1. ผู้ประกอบการ GSE จำนวน 3 ราย และ 2. ผู้ประกอบการ PHS จำนวน 4 - 5 ราย
สำหรับโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หลักการโครงการ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาให้สิทธิกับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมล่วงหน้าก่อนที่สัญญาของผู้ประกอบการรายที่ 2 จะสิ้นสุดลง (สิ้นสุดสัญญาปี2569) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาจำนวนผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการให้บริการและสามารถรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตการให้บริการ แบ่งออกเป็น 1. กลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นที่ต้องให้บริการแก่สายการบิน เช่น กลุ่มบริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน กลุ่มบริการขนถ่ายและเคลื่อนย้ายกระเป้า สัมภาระ สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ 2. กลุ่มบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การให้บริการการจัดการทั่วไปด้านภาคพื้น การให้บริการด้านผู้โดยสารขอบเขตการให้บริการ
รูปแบบการร่วมลงทุน จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost เนื่องจากเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนที่มีความคุ้มค่าของเงิน (VFM) มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบอื่น ระยะเวลาโครงการ 20 ปี นับจากวันส่งมอบพื้นที่ (รายละเอียดการส่งมอบพื้นที่จะพิจารณาอีกครั้งในชั้นของการคัดเลือกเอกชน)
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 จะเป็นของกระทรวงการคลังภายใต้กำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน โดยในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เอกชนเป็นผู้จัดหา เมื่อสิ้นสุดสัญญาทางภาครัฐมีสิทธิที่ตัดสินใจในการซื้อทรัพย์สินในราคามูลค่าตามบัญชี โดยคิดคำนวณจากราคาทุนหักด้วยค่าเสื่อมราคา ตามอายุการใช้งานตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป หรือทำสัญญาเช่าทรัพย์สินต่อในกรณีที่เอกชนเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์
การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน เอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง โดยเอกชนต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐเป็นรายปีตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง โดย สศช. มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เห็นควรมอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความล่าช้าในกระบวนการคัดเลือกเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และผู้ประกอบการรายที่ 3 พร้อมทั้งเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนของโครงการฯ เพื่อให้ ทอท. สามารถคัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการให้บริการโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO