บอกเล่าเสน่ห์วิถีแดนใต้ ผ่านภาพ-เสียงในมุมใหม่
ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมส่งเสริมและเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่นำเสนอคอนเทนต์คุณภาพที่บอกเล่าเสน่ห์แห่งวิถีแดนใต้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคใต้ ร่วมกับบริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Eyecontact Design จัดขึ้น
“ใต้ ภาพ เขียน : Visual Storytelling #Season 2 – Not for Show” เป็นการสานต่อความสำเร็จจากการจัดโครงการครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง และภูเก็ต นับเป็นแพลตฟอร์มเวิร์คชอปเชิงสร้างสรรค์ที่ผสานศิลปะการถ่ายภาพ การเขียนเชิงสารคดี และการเล่าเรื่องผ่านเสียง โดยมีเป้าหมายหลักในการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเยาวชนและผู้สร้างสรรค์ในท้องถิ่นได้เรียนรู้ “การมองเห็นแบบใหม่” ผ่านภาพ เสียง ความเงียบ และบทเรียนชีวิต และเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาทักษะการถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายคลิปวีดิโอ และการเขียนเชิงสารคดี โดยครั้งนี้เปิดรับผู้ที่มีความสนใจด้านการถ่ายภาพ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอป ณ จังหวัดชุมพร ตรัง และกระบี่ มีกำหนดดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2568
ครั้งแรกเริ่มต้นที่ “ปากน้ำชุมพร” ที่มีชุมชนกระจายตัวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา ณ ที่ราบริมฝั่งปากแม่น้ำที่เชื่อมติดต่อกับทะเลซึ่งมีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สันดอน แม่น้ำล้อมรอบ เมื่อน้ำขึ้นสูงน้ำจะท่วมถึง แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นดินตะกอนแต่ชายทะเลปากน้ำชุมพรก็เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวปากน้ำที่นิยมมาออกกำลังกาย ช่วงบ่ายถึงค่ำจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกินของใช้ แต่หากอยากเห็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน “ตลาดสดปากน้ำชุมพร” คือคำตอบ นอกจากจะมีวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารแบบตลาดทั่วไปแล้ว จุดเด่นของที่นี่ก็คือ อาหารทะเลสด ๆ ที่ชาวประมงพื้นบ้านจะนำมาขายตามที่หาได้แต่ละวัน อาจจะมีครบทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา หรือมีแค่บางอย่าง เริ่มตั้งแต่เช้ามืดราวตี 5 ไปจนถึงสาย ๆ ราว 9 โมงเช้า
และแหล่งที่ชาวบ้านนิยมไปหาปลานอกจากล่องเรือออกไปตามแนวชายฝั่งแล้ว ยังมีกองหินปากร่อง ปากน้ำชุมพร กองหินที่เกิดจากการเอามากองซ้อนทับกันเพื่อเป็นแนวกันคลื่นบริเวณชายทะเล โดยมีปากร่องเป็นช่องทางการนำเรืออกทะเล ชาวบ้านนิยมไปตกปลา นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินชมวิวแต่ควรใช้ความระมัดระวังมากหน่อย บริเวณชุมชนปากน้ำชุมพรมีวัดสำคัญทั้งวัดปากน้ำชุมพรอายุมากกว่าร้อยปี ที่มีทั้งพระพุทธรูปอายุกว่าร้อยปี โบสถ์เก่าแก่ แลรอนพระพุทธบาทเขามัทรีที่เป็นจุดชมวิวปากน้ำชุมพรได้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นห่างออกจากชายฝั่งไปราว 500 เมตร มีเกาะเล็ก ๆ ชื่อ เกาะมัตโพน ที่ยามน้ำลงสามารถเดินข้ามไปได้ บนเกาะมีเจดีย์เล็ก ๆ อยู่บนยอดเขา 1 องค์เรียกกันว่า “มาลิกเจดีย์”
จากชุมพรขยับทริปต่อไปที่ “ตรัง” เมืองแห่งหมูย่างและรถหัวกบ เล่าขานกันว่าหมูย่างเมืองตรังมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง เกิดจากการที่พ่อครัวในวังทำหมูตกเตาถ่านจนสุกและหนังไหม้ เมื่อได้ลองชิมก็พบว่ามีรสชาติอร่อย จึงได้นำมาพัฒนาเป็นเมนูหมูย่างและนำขึ้นถวายฮ่องเต้ ในยุคแรกถูกเรียกว่า หมูทอง ตามที่ฮ่องเตตั้งให้เพราะลักษณะของหนังที่มีสีเหลืองอร่ามดุจทองคำ จากจานโปรดฮ่องเต้ถูกขยายต่อมาถึงสามัญชน และเมื่อชาวจีนอพยพมายังประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดตรัง ก็ได้นำสูตรหมูย่างนี้มาเผยแพร่และปรับปรุงจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง
หมูที่ย่างทั้งตัวจนหนังกรอบเนื้อนุ่มฉ่ำออกรสหวานหอมเครื่องเทศ ชาวตรังมักทานแกล้มกับโกปี๊ กาแฟและอาหารเช้าแบบเมืองตรัง และด้วยเพราะชาวตรังให้ความสำคัญกับอาหารการกินไม่ว่าจะมื้อเช้า กลางวัน หรือเย็น หมู่ย่างจึงได้รับการยกขึ้นจัดเป็น “เทศกาลหมูย่าง” ด้วย นอกจากนี้ยังมีเทศกาลขนมเค้กขุกมิ่ง เค้กก้อนกลมมีรูปตรงกลางที่เป็นเอกลักษณ์ของเค้กเมืองตรังอีกอย่าง ยังไม่รวมขนมเปี๊ยะซอย 9 ที่ใคร ๆ มาต้องวนเข้าซอยไปซื้อกลับบ้าน บอกเลยว่านอกจากไส้เผือกเนื้อเนียนนุ่มละมุนแล้ว ยังมีไส้หมู่ย่างตรังที่ห้ามพลาดอีกอย่างด้วย
มาถึงตรังนอกจากจะตระเวินลิ้มลองอาหารหลากหลายทั้งคาวหวานแล้ว ลองหาเวลาไปเที่ยวชมเมืองในแบบย้อนยุคกับรถตุ๊กตุ๊กหัวกบ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองตรัง ตุ๊กตุ๊กหัวกบที่ว่านี้เริ่มนำเข้าจากญี่ปุ่นมาใช้ในไทยยุคจอมพลสฤษดิ์ ปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะนำเข้าไปใช้ที่ตรังในปี พ.ศ. 2509 ที่ว่ากันว่าเป็นรถบรรทุกขนาดเล็กที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่สุด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีควนหรือเนิน ทั้งยังมีตรอกซอกซอยเล็ก ๆ สามล้อหัวกบที่สามารถซอกแซกเข้าซอยนี้ออกซอยนู้นได้อย่างคล่องตัว จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับการขนของและขนผู้คน โดยมีการต่อเติมหลังคาเพิ่มเติมเพื่อกันแดดกันฝน และวันนี้นี่คือพาหนะสุดคลาสสิกที่จะพานักท่องเที่ยววนรอบตัวเมืองตรัง
ลงต่อไปที่ “กระบี่” กับจุดหมายที่ไม่ใช่ที่เที่ยวยอดฮิตอย่างอ่าวนางหรือเกาะพีพี แต่เป็นวิถีชุมชนที่มุสลิม ไทยพุทธ และจีน อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ณ “บ้านหนองทะเล” หมู่บ้านที่ได้ชื่อมาจากหนางน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในจังหวัดกระบี่ ซึ่งทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ ทั้งพืชพรรณอันอุดมสมบูรณ์และแหล่งอาหารใต้ผืนน้ำ ทั้งยังเป็นสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ไปในตัว แม้ช่วงหนึ่งหนองน้ำนี้จะถูกทิ้งร้างแต่ไม่นานมานี้ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อนฟื้นฟูให้หนองทะเลกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ใหม่ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมอย่างการล่องแพไม้ไผ่เป็นกิจกรรมยอดนิยม แนะนำให้ตื่นแต่เช้าไปล่องแพเพราะจะทำให้มีโอกาสได้ซึมซับบรรยากาศยามที่พระอาทิตย์กำลังจะโผล่พ้นขอบฟ้า พร้อมกับจิบกาแฟกับอาหารพื้นบ้านฝีมือแม่ครัวชุมชน ที่ไม่เพียงยังคงปรุงด้วยสูตรดั้งเดิม แต่ยังใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นด้วย หรือหากใครเรี่ยวแรงดีและชอบกิจกรรมแนวผจญภัย ที่นี่ก็มีเรือคายัคให้พายชมธรรมชาติของหนองทะเลได้ด้วย
ก่อนจะไปเดินชมความงดงามของ “ท่าปอมคลองสองน้ำ” ที่ว่าสองน้ำเพราะในช่วงน้ำทะเลหนุนน้ำในคลองที่ว่านี้จะกลายเป็นน้ำกร่อยและมีสีขุ่นขึ้น แต่เมื่อน้ำทะเลลดลงจะเหลือเพียงน้ำจืดสีฟ้าอมเขียว โดยมีต้นน้ำมาจากป่าพรุบนช่องเขาแก้ว ดังนั้หากอยากเห็นน้ำสีฟ้าใสควรมาในช่วงน้ำทะเลลง แล้วเดินชมความสวยงามไปตามทางเดินศึกษาธรรมชาติยาวประมาณ 700 เมตร ที่มีป่าดิบชื้น ป่าพรุ ลและป่าชายเลนให้ชม โดยบางจุดอนุญาตให้ลงเล่น้ำได้
วัจนันท์ ศิลปวรณ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ ททท. กล่าวว่า โครงการ “ใต้ – ภาพ – เขียน” เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์เรื่องราวและอัตลักษณ์เสน่ห์ไทยภาคใต้ ทั้งในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จุดประกายศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้ร่วมกันเผยแพร่สื่อสารความงดงามในมิติต่าง ๆ ของภาคใต้ ไปสู่สายตาและความสนใจของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดย ททท. คาดหวังว่าโครงการนี้จะปักหมุดให้ภาคใต้เป็นจุดหมายในใจของกลุ่มผู้ที่รักการถ่ายภาพและนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เดินทางเข้าสู่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ธนวัฒน์ สุโสภณกุล ฝ่ายเทคนิค บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า Nikon พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ โดยนำเสนอเทคโนโลยีและอุปกรณ์ถ่ายภาพรุ่นใหม่ล่าสุด เพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ปลดล็อคความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การใช้เครื่องมืออย่างเต็มศักยภาพในการบันทึกภาพนิ่งและวีดิโอคุณภาพสูง ที่จะสะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมีจิตสำนัก เพื่อให้เกิดพลังของการถ่ายภาพที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกับเรื่องราวและสถานที่ที่สวยงามของภาคใต้ได้อย่างสร้างสรรค์
โครงการ “ใต้ ภาพ เขียน : Visual Storytelling #Season 2” จัดขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2568 ณ จังหวัดชุมพร ครั้งที่ 2 ในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2568 ณ จังหวัดตรัง และครั้งที่ 3 ในวันที่ 6-7 กันยายน 2568 ณ จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรกิตติมศักดิ์ร่วมเสริมสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจะนำผลงานจากการออกภาคสนามมาจัดนิทรรศการในวันที่ 15-21 กันยายน 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยจะพิจารณาคัดเลือกผลงานคุณภาพ เพื่อต่อยอดโดยส่งเข้าประกวดในเทศกาลสำคัญและเวทีระดับสากล ดูเพิ่มเติมที่ เพจเที่ยวใต้ by ททท. , FB: nikonthailand และ FB/IG/Line OA: EYE8CONTACT