ยอด 'เที่ยวคนละครึ่ง' ต่ำ ชี้พิษศก.ฝืด-ผู้ค้าร่วมน้อย เอกชนห่วง 2 อุตฯอ่วม ภาษีมะกัน
ยอด ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ ต่ำ ชี้พิษศก.ฝืด-ผู้ค้าร่วมน้อย เอกชนห่วง 2 อุตฯอ่วม ภาษีมะกัน ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า-จักรกล จี้รบ.เร่งออกมาตรการอุ้ม
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศขอปิดระบบการลงทะเบียนประชาชนเข้าร่วมโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเป็นการชั่วคราว เพื่อทำการปรับปรุง พัฒนาระบบในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ก่อนเปิดให้ลงทะเบียนได้ตามปกติผ่านแอพพลิเคชั่น Amazing Thailand หรือเว็บไซต์เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมเป็นต้นไป
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 สิทธิคงเหลือทั้งหมด 389,209 สิทธิหรือห้อง แบ่งเป็นเมืองหลัก 22 จังหวัด 227,346 สิทธิ เมืองรอง 55 จังหวัด 161,863 สิทธิ มีการใช้สิทธิจองห้องพักและจ่ายเงินแล้วจำนวน 110,791 สิทธิ สำหรับยอดการจองห้องพักสะสมตั้งแต่ที่ผ่านมา
ยอมรับว่า ต่ำกว่าคาดมาก สาเหตุหลักอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง อีกส่วนคาดว่ามาจากจำนวนผู้ประกอบการในระบบเข้าร่วมน้อยมาก มีประมาณ 5,254 ราย จากที่สมัครกว่า 40,000 ราย เนื่องจากการเปิดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการล่าช้า ทำให้ยังติดขัดกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติอีกจำนวนมาก แต่จากการประเมินเบื้องต้น จำนวนสิทธิหมดลงประมาณ 1 แสนสิทธิแล้ว ทำให้ยังไม่จำเป็นต้องขยายเวลาพำนักออกไปเกินตุลาคม 2568 ส่วนการขยายสิทธิเพิ่มจาก 5 แสนสิทธิแรก หากมีงบเหลือหลังจากสิทธิทั้งหมดถูกใช้แล้ว อาจนำมาเกลี่ยเพื่อเพิ่มจำนวนสิทธิใหม่ได้แบบไม่ต้องของบประมาณเพิ่ม
ขณะที่ นายสถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า การเผชิญมาตรการทางภาษีจากสหรัฐ และการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้า มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะทิศทางการส่งออกไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มกระทบหลายกลุ่มสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรเป็นสองกลุ่มหลักน่าจับตาใกล้ชิด
เนื่องจากมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐรวมกันสูงถึง 60% หากถูกเก็บภาษี 36% คาดว่าจะกระทบต้นทุนและราคาสินค้าโดยตรง ทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยลดลงทันที ภาครัฐควรเจรจาเปิดตลาดอย่างเลือกสรร (Selective Opening) หลีกเลี่ยงเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวหรือได้รับผลกระทบสูง มุ่งเปิดตลาดสินค้าไทยมีดีมานด์อยู่แล้วแต่ผลิตไม่พอ เพื่อเพิ่มโอกาสนำเข้าแทนการขาดแคลน ระยะยาวควรเร่งปรับโครงสร้างภาคเกษตร ปัญหาพื้นที่ทำกินลดลง และแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่คือคำตอบระยะยาว แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ เช่น หมูหรือวัว หากจำเป็นต้องนำเข้า รัฐต้องมีมาตรการรองรับ มีแผนเยียวยาผู้ประกอบการและเกษตรกร
นายสถิตย์กล่าวว่า หากสถานการณ์ภาษีมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หรือหากลดอัตราภาษีไม่ได้ จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการปิดโรงงานในช่วงปลายปีหรือไม่นั้น ปัจจัยต่างๆ ทั้งภาษีเพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบ และความผันผวนของตลาด อาจส่งผลให้เห็นการปิดโรงงานเพิ่มขึ้นบางสาขา โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางทางการแข่งขัน หรือในกลุ่มธุรกิจมีทุนหมุนเวียนน้อย หากทุนหนาพอก็อาจประคองธุรกิจต่อไปได้ แต่หากไม่ ก็อาจเห็นการทยอยปิดกิจการชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2568 แม้บางธุรกิจจะมีฐานลูกค้าในประเทศ ช่วยลดแรงกระแทกจากการส่งออกบ้าง
แต่ภาพรวมของระบบการผลิตไทยยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจำนวนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทานโลก การพึ่งพาดีมานด์ในประเทศยังไม่ใช่คำตอบ เพราะอุปสงค์ภายในยังไม่ฟื้นเต็มที่ การบริโภคยังต่ำ กำลังซื้อยังจำกัด ดังนั้นภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับแรงกระแทกจากภายนอก โดยเฉพาะการเจรจาการค้าเพื่อปกป้องตลาดส่งออกหลัก และสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ยอด ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ ต่ำ ชี้พิษศก.ฝืด-ผู้ค้าร่วมน้อย เอกชนห่วง 2 อุตฯอ่วม ภาษีมะกัน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th