DELTA กำไร Q2/68 ที่ 4,629.06 ลบ. ลดลง 29.49% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
#DELTA #ทันหุ้น-บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไตรมาส 2/68 อยู่ที่ 4,629.06 ล้านบาท ลดลง 29.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้จากการขายในไตรมาส 2/68 อยูี่ที่ 44,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5%
โดยยอดขายสินค้าและบริการในไตรมาส 2/68 อยู่ที่44,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 4.1% จากไตรมาสที่แล้ว ขับเคลื่อนโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีการขยายตัวสูง ทั้งเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ภายใต้แนวโน้มการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งต้องการโซลูชั่นกำลังไฟฟ้าและการระบายความร้อนทรงประสิทธิภาพในการประมวลผลสมรรถนะสูงสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เซอร์วิส รวมถึงโซลูชั่นเครือข่าย
ภาพรวมตลาดยังคงมีศักยภาพการเติบโตสูงในปีนี้ ขณะเดียวกันกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานพลังงานและการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้ในระดับปานกลาง ส่วนโซลูชั่นระบบพลังงานโทรคมนาคมฟื้นตัวอย่างจำกัด
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อีวีพาว์เวอร์มียอดขายปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แต่ยังชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับฐานสูงในปีที่แล้ว สืบเนื่องจากสภาวะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลกที่ผันผวนและอ่อนตัวโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกลว้นเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามภาษีและการตอบโต้ทางการค้า ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราลดลงทั่วทุกภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีความพร้อมเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้พร้อมตอบโจทย์ทิศทางความต้องการเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ มีจำนวน 11,109 ล้านบาท ปรับตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 1.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสที่แล้ว สอดคล้องกับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจพาวเวอร์อิเล็คทรอนิกส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักต่าง ๆ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว แต่หดตัวพอสมควรเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในปีนี้ประกอบกับช่วงปี ที่แล้วมีการกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงคลังในปริมาณมากซึ่งส่งผลดีต่ออัตรากำไรขั้นต้น ทั้งนี้บริษัทยังคงดำเนินกลยทุธ์การผลักดันยอดขายพร้อมจัดการควบคุมสินค้าคงคลังในระดับที่เหมาะสมตามสภาวะอุตสาหกรรม
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมการวิจัยและพัฒนา) มีจำนวน 6,011ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.3 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขายในส่วนภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น เพราะตลาดสหรัฐเริ่มประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้แบบเท่าเทียมในไตรมาสนี้ส่งผลให้บริษัทเกิดค่าใช้จ่ายอากรเพื่อส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลงร่วมกันในการเรียกเก็บคืนจากลูกค้าตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้บริษัท พบว่ามีลูกค้าในกลุ่มพัดลมและระบบระบายความร้อนสำหรับยานยนต์ เกิดอุปสรรคทางธุรกิจและอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้บริษัทฯ มีการต้้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญเพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว ด้านค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับกลยุทธ์กสนขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในภูมิภาค เพื่อรองรับลูกค้าระดับโลก
**กำไรจากดำเนินงานที่ 5,098 ลบ. ลดลง 13.9%
กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/68 อยู่ที่ 5,098 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.9% จากงวดเดียวกันในปีก่อน และร้อยละ 13.3% ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านอากรและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญ รวมถึงการลงทุนวิจัยพัฒนาที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น