นักบินมาเฉลย ถ้าประตูทางออกฉุกเฉินเครื่องบินถูก "เปิดกลางอากาศ" จะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้ามีคนเปิด "ประตูฉุกเฉิน" บนเครื่องบินกลางอากาศ จะเกิดอะไรขึ้น? นักบินมาช่วยไขความจริงให้กระจ่าง
พักหลังมานี้ การพุ่งเข้าหาประตูฉุกเฉินบนเครื่องบินกลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ผู้โดยสารบางรายใช้ก่อความวุ่นวายกลางอากาศที่ระดับความสูง 30,000 ฟุต ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินได้ออกมาอธิบายว่า หากใครพยายาม “เปิดประตูสู่สวรรค์” กลางเวหา ผลลัพธ์อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด
แดน บั๊บ อดีตนักบินสายการบินพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบิน เปิดเผยกับ Reader’s Digest ว่า หากมีการเปิดประตูฉุกเฉินขณะเครื่องจอดอยู่กับพื้น ประตูจะสามารถเปิดได้ และสไลด์ลมสำหรับอพยพจะถูกปล่อยออกมา
นั่นเป็นเพราะความดันอากาศทั้งในห้องโดยสารและภายนอกขณะอยู่บนพื้นเท่ากัน จึงสามารถปลดล็อกประตูได้
แม้โดยปกติแล้ว สไลด์ฉุกเฉินจะถูกเปิดใช้งานโดยพนักงานต้อนรับบนเครื่องในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ก็เคยมีกรณีผู้โดยสารหรือแม้แต่ลูกเรือบางคนเผลอหรือจงใจเปิดใช้งานโดยไม่ใช่เหตุฉุกเฉินเช่นกัน
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุวุ่นวายบนเที่ยวบินในสเปน หลังผู้โดยสารชายรายหนึ่งเกิดอาการตื่นตระหนกและเปิดสไลด์ฉุกเฉินขณะเครื่องจอดอยู่บนรันเวย์กลางอากาศร้อนจัด จนต้องอพยพผู้โดยสารทั้งลำ
ถัดมาเพียงเดือนเดียว ลูกเรือสายการบิน British Airways เผลอเปิดสไลด์นิรภัยโดยไม่ได้ตั้งใจ สร้างความเสียหายให้กับสายการบินถึง 122,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.9 ล้านบาท)
และหนึ่งในเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแห่งหนึ่ง ชื่อ สตีเวน ประกาศลาออกกลางอากาศ หยิบเบียร์ 2 กระป๋องจากรถเสิร์ฟ เปิดประตูฉุกเฉิน แล้วไถลลงสไลด์หายไปอย่างโชว์แมน
แต่ถ้ามีใครพยายามทำแบบเดียวกันกลางอากาศล่ะ? คำตอบคือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
นั่นเป็นเพราะความดันอากาศระหว่างภายในและภายนอกเครื่องบินที่ต่างกันมาก จนทำให้ประตูแบบ “เสียบล็อก” (plug-style) ถูกกดแน่นกับกรอบ ไม่สามารถเปิดออกได้
“ความดันอากาศภายในเครื่องสูงกว่าภายนอกอย่างมาก” บั๊บอธิบาย “ซึ่งทำให้การเปิดประตูนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย”
สตีฟ ไชบ์เนอร์ นักบินผู้ช่วยของสายการบิน American Airlines อธิบายกับนิตยสาร Travel + Leisure ว่า หากจะเปิดประตูฉุกเฉินกลางอากาศจริง ๆ ผู้เปิดต้องมีกำลังมากพอจะยกของหนักถึง 25,000 ปอนด์เลยทีเดียว
“เมื่อประตูถูกอัดแน่นด้วยแรงดันในขณะบิน จะมีแรงกดมากถึง 9 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว” นักบินผู้นี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักใน TikTok ในนาม Captain Steeeve กล่าว
หากมีใครฝืนเปิดประตูได้จริง ๆ ขณะอยู่บนฟ้า ดร.แดน บั๊บ อธิบายว่า “จะเกิดภาวะความดันในห้องโดยสารลดฮวบ หน้ากากออกซิเจนจะตกลงมา และนักบินจะต้องนำเครื่องลดระดับลงสู่ความสูงประมาณ 14,000 ฟุตภายในเวลา 4 นาที”
นอกจากนี้ ยังมีระบบล็อกอัตโนมัติของประตู ที่จะทำงานเมื่อเครื่องบินวิ่งถึงความเร็ว 92 ไมล์ต่อชั่วโมงบนรันเวย์ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถปลดล็อกประตูได้ด้วยมือจนกว่าเครื่องจะชะลอความเร็วอีกครั้ง
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ (FAA) เริ่มบังคับให้ติดตั้งระบบล็อกความปลอดภัยนี้ในเครื่องบินโดยสารมาตั้งแต่ปี 1972 เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์จี้เครื่องบินที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงทศวรรษ 1960–70
อย่างไรก็ตาม ระบบป้องกันเหล่านี้ก็ยังไม่อาจหยุดพวกชอบก่อเรื่องจากการพยายามเปิดประตูเครื่องบินกลางอากาศได้
เมื่อเดือนที่แล้ว มีผู้โดยสารรายหนึ่งบนเที่ยวบินจากโตเกียวไปฮิวสตันก่อเหตุโกลาหล พยายามเปิดประตูห้องโดยสารกลางอากาศ ทำให้ผู้โดยสารคนอื่นต้องช่วยกันจับตัวเขาไว้ท่ามกลางความตื่นตระหนก ก่อนที่เครื่องจะต้องลงจอดฉุกเฉิน
แม้ประตูฉุกเฉินของเครื่องบินจะถูกออกแบบมาให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเปิดได้กลางอากาศ แต่ก็มีอย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์ที่มีผู้โดยสารสามารถเปิดออกได้
ในปี 2023 ผู้โดยสารคนหนึ่งของสายการบิน Asiana Airlines เปิดประตูฉุกเฉินออกก่อนเครื่องจะลงจอดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ลมแรงพัดกรูเข้ามาในห้องโดยสาร สร้างความแตกตื่นให้กับผู้โดยสารทั้ง 194 คน
โชคดีที่เครื่องสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย และไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บร้ายแรง แม้จะมีผู้โดยสารราว 12 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจเร็วผิดปกติจากความตกใจ
เจฟฟรีย์ โธมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจาก Airline Ratings ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์นี้ “แปลกมาก” เพราะ “ในทางเทคนิคแล้ว ประตูประเภทนี้ไม่ควรเปิดได้ขณะอยู่กลางอากาศ”
ในกรณีส่วนใหญ่ หากมีการพยายามเปิดประตูฉุกเฉิน จะส่งผลให้เครื่องบินต้องเปลี่ยนเส้นทาง และผู้ก่อเหตุมักจะถูกจับกุมทันทีหลังลงจอด
ในปี 2024 มีเหตุการณ์ที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินขาหัก ขณะพยายามควบคุมผู้โดยสารที่พยายามเปิดประตูระหว่างบินอยู่กลางอากาศ จากอุบัติเหตุครั้งนี้ ชายคนดังกล่าวถูกตั้งข้อหาความผิดระดับรัฐบาลกลาง และหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี
อย่างน้อยที่สุด ผู้ที่พยายามเปิดประตูโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็แทบจะการันตีได้เลยว่า จะถูกขึ้นบัญชี “ห้ามขึ้นเครื่องบิน” อย่างถาวร