แจงทักษิณป่วย10โรค! จ่อไต่สวน2หมอรพ.ตร.
ศาลไต่สวนพยานกลุ่มแพทย์-พยาบาล 5 ปาก พบ "ทักษิณ" ใส่ชุดนักโทษ เป็น 10 โรค หมอราชทัณฑ์ยันเอง หัวใจปกติ แค่เหนื่อยเพราะขึ้นบันได อนุญาตส่งตัวออกจากเรือนจำเพราะพยาบาลบอก ใช้เวลาเตรียม 2 ชั่วโมง แต่ไม่รู้ส่งไปไหน ไปห้องฉุกเฉินหรือเปล่า ขณะที่ รพ.ราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือไม่มียารักษา ไต่สวนนัดต่อไป 8 ก.ค. ส่วนวันที่ 18 ก.ค. ศาลเรียก 2 แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจขึ้นไต่สวน
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลังศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกศาลพิพากษาจำคุก แต่ได้มีการส่งตัวนายทักษิณไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยในวันนี้ศาลไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องจำนวน 5 ปาก โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งทำการตรวจร่างกายรับตัวนายทักษิณ
โดยพยานปากแรกคือ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เบิกความสรุปว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจร่างกายนายทักษิณซึ่งเป็นผู้ต้องขังรับใหม่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 11.00 น. และพบว่านายทักษิณมีประวัติการรักษาจากต่างประเทศ 10 โรค และนายทักษิณแจ้งว่ามีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียจากการเดินขึ้นบันไดมา เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว หัวใจปกติ แต่แขนขาอ่อนแรง และที่อนุญาตให้ส่งตัวนายทักษิณไปยังโรงพยาบาลภายนอก เพราะทางพยาบาลแจ้งอาการแล้วเห็นว่าทางพยาบาลอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่า และโรคที่เป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือและแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงไม่มียาที่ผู้ป่วยต้องใช้ จึงเห็นควรให้ส่งไปรักษานอกเรือนจำ
ส่วนกรณีใบส่งตัวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยใบนำส่งตัวจะเขียนกรณีที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพรักษา แต่จะให้ส่งตัวเวลาราชการและไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นวันไหน และไม่ได้เป็นผู้บอกว่าจะต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะไม่ทราบว่าโรงพยาบาลไหนจะสามารถรับตัวผู้ป่วยได้ และหลักการส่งตัวยึดมาตั้งแต่ปี 2563 และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก
ขณะที่ นพ.นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรประจำวัน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เบิกความสรุปว่า ตนเป็นแพทย์นอกเวลา และไม่ได้ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ช่วงวันที่ 22 ส.ค. ตนเข้าเวร 16.30 น. ถึง 08.30 น.ของอีกวัน ปรากฏว่าวันดังกล่าวมีพยาบาลโทร.มาแจ้งอาการของนายทักษิณ จึงให้ความเห็นไปว่า เมื่อวินิจฉัยประกอบกับประวัติการรักษาจากต่างประเทศแล้ว มีอาการจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ จึงเห็นควรปรึกษาแพทย์คนแรกที่ตรวจร่างกายนายทักษิณเมื่อตอนที่รับเข้าเรือนจำ และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอก หากไม่ได้นำส่งจะมีความเสี่ยงกับตัวผู้ป่วย อีกทั้งโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่พอ บวกกับเงื่อนไขของเวลา โดยพิจารณาความเห็นจากพยาบาลที่โทร.เข้ามาเพียงอย่างเดียว เพราะว่าไม่ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่บริเวณไหน ยืนยันว่าตนมีหน้าที่ให้ความเห็นทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนการส่งตัวออกไปรักษาภายนอกเป็นหน้าที่ของเรือนจำ
ด้านพยานปากที่ 3 นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดสุโขทัย เบิกความสรุปว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นพยาบาลที่สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ตั้งแต่ 08.00-16.30 น. และอยู่เวรต่อเนื่องจนถึงเวลา 08.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ต้องขังภายในสถานพยาบาลรวมถึงนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังใหม่ในกลุ่ม 608 และนายทักษิณได้ถูกควบคุมตัวที่ห้องกักโรค ซึ่งแพทย์สั่งให้ติดตามอาการทุก 4 ชั่วโมง ในตอนนั้นนายทักษิณอยู่ในห้องเพียงคนเดียว และได้เปลี่ยนชุดเป็นชุดนักโทษแล้ว
ต่อมาเวลา 22.00 น. นายทักษิณแจ้งว่ามีอาการแน่นหน้าอก จึงแจ้งไปยังแพทย์เวรโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มีความเห็นว่าเห็นควรส่งไปโรงพยาบาลภายนอก เนื่องจากรู้ว่าศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่พอ และโทร.ไปหา พญ.รวมทิพย์ เพื่อขออนุญาตใช้ใบส่งตัว ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 2 ชั่วโมง และแจ้งพัศดีเวรตลอด ระหว่างที่รอส่งตัวได้แนะนำวิธีปฏิบัติตัวให้นายทักษิณทราบ และหลังจากนั้นจึงมีพัศดีประคองนายทักษิณไปขึ้นรถพยาบาลของเรือนจำ โดยใช้เวลา 20 นาที เมื่อถึงโรงพยาบาลตำรวจมีเจ้าหน้าที่มารับ ไม่ทราบว่านำนายทักษิณไปยังห้องฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนตนไปเปิดเวชระเบียน และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้นำเวชระเบียนขึ้นไปให้พยาบาลที่ชั้น 14 จึงทราบว่านายทักษิณอยู่ที่นั่นแล้ว แต่ไม่ทราบว่าอยู่ห้องไหน แต่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าอยู่
และทั้งนี้จากประสบการณ์ทำงาน ถ้าเป็นโรคเฉพาะทางที่ราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการรักษา จะส่งตัวออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก ส่วนที่ไม่ส่งไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์แม้จะห่างกันไม่มาก เกรงว่าหากไปส่งจะทำให้เสียเวลามากขึ้นจากการเตรียมอุปกรณ์และรถไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง อีกทั้งนายทักษิณไม่มียาโรคประจำตัวติดตัวเนื่องจากญาติยังไม่ส่งเข้ามาให้ แม้โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมียารักษาแต่ก็เป็นคนละชนิดกับที่ผู้ป่วยใช้รักษา ส่วนอาการจะกำเริบแค่ไหน อยู่ที่ผู้ป่วยควบคุมการกินยาได้ตรงเวลาหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ตนปรึกษาแพทย์เวรแล้วและให้ความเห็นว่าควรส่งตัวไปรักษาภายนอกเช่นโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งปกติจะส่งไปที่นี่บ่อย เนื่องจากได้ทำ MOU ไว้
ส่วนพยานอีก 2 ปาก เป็นพยาบาลที่ได้รับการติดต่อให้เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจร่างกาย แต่สุดท้ายแพทย์ไม่ได้เรียกตัวเข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด ทั้งคู่อยู่ภายนอกห้องตรวจ
ต่อมาศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วันนี้นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ และทนายจำเลย มาศาล ส่วนจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลไม่มาฟังการพิจารณา ศาลไต่สวนพยานได้ 5 ปาก ให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 09.00 น. ตามที่นัดไว้เดิม
ศาลได้นัดเพิ่มในวันที่ 18 ก.ค. จะเป็นแพทย์ใหญ่และแพทย์เจ้าของไข้จากโรงพยาบาลตำรวจ 2 คน ได้แก่ พล.ต.ต.นพ.ศุภฤกษ์ (สงวนนามสกุล) และ พล.ต.ท.นพ.สุรพล (สงวนนามสกุล) เข้ามาเบิกความ และวันที่ 25 ก.ค. ศาลได้ออกหมายถึงแพทย์สภา ขอเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานความเห็น
ทั้งนี้ ในการไต่สวน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยื่นคำชี้แจง 307 แผ่น แพทยสภาส่งมติที่ประชุม 113 หน้า และผลตรวจสอบแพทย์ 1,190 หน้า กสม. 20 แผ่น จำเลยยื่นคำชี้แจง 55 แผ่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยื่นเอกสารเบิกค่าเวร 77 แผ่น ทนายจำเลยส่งประวัติการรักษาไว้พิจารณา และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และค่ารักษาพยาบาลของจำเลยไว้พิจารณา
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ เปิดเผยว่า ของดให้รายละเอียดเกี่ยวกับการไต่สวนพยาน เนื่องจากศาลกำชับไว้ว่าคำเบิกความ ข้อเท็จจริงข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลสุขภาพของจำเลย ขอให้งดเว้นเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยการนัดไต่สวนพยานทั้ง 5 ปากในวันนี้เรียบร้อยหมดแล้ว มีการไต่สวนประกอบเอกสารหลายส่วน และมีหมายเรียกพยานเพิ่มอีก 2 ปากในวันที่ 25 ก.ค.68 นอกจากนี้ยังจะมีการนัดไต่สวนพยานในวันที่ 8, 15, 18 และ 25 ก.ค.68 ด้วย
ด้านนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ระบุว่า ในภาพรวมของการไต่สวนวันนี้มี 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรกคือ ทำให้ได้เห็นความเชื่อมโยงในการดำเนินการส่งตัวนายทักษิณว่า เป็นการดำเนินการของพยาบาลเวรเป็นหลัก ที่ประสานงาน เลือกโรงพยาบาลตำรวจ โดยที่แพทย์เวรเองก็ไม่ทราบเรื่อง, ประเด็นที่ 2 คือเรื่องระยะเวลาในการส่งตัวนายทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ศาลก็มีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ส่งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ใกล้กว่าเพียงแค่ 200 เมตร หากมีอันตรายใดๆ ระหว่างการทรงตัวจะทำอย่างไร และประเด็นที่ 3 ศาลได้ถามว่า ทราบหรือไม่ว่านักโทษรายนี้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี หากปล่อยเวลา 2 ชั่วโมงนี้ไว้ทั้งที่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ แล้วเป็นอะไรขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ำว่า ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลตำรวจนั้นอยู่คนละตึกกับชั้น 14 ที่นายทักษิณรักษาตัว ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการส่งตัวฉุกเฉินจริงๆ ก็ควรต้องส่งไปที่ห้องฉุกเฉินก่อน หากตรวจแล้วมีความเห็นว่าไม่ฉุกเฉิน ก็สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกแล้วส่งกลับเรือนจำ แต่หากฉุกเฉินอาการหนักจริง การนำตัวไปรักษาชั้น 14 ก็ไม่เหมาะสมอยู่ดี เพราะต้องส่งไปที่ส่วนเฉพาะทางด้านหัวใจ หรือห้องไอซียู ซีซียู เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นการตั้งข้อสังเกตในฐานะแพทย์คนหนึ่ง และคิดว่าประชาชน รวมถึงแพทย์ทั่วไปก็น่าจะเห็นตรงกัน.