"มาริษ" เผยอาเซียนชื่นชมบทบาทไทย เด่นชัดบทบาทต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 58 ว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีผลกระทบกับโลก โดยคณะทำงานที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนตั้งขึ้น ได้มาสรุปผลการศึกษาให้ทราบ ซึ่งที่ประชุมมองว่าเนื่องจากทั้งสองประเด็นนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงเห็นว่าอาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อหาวิธีป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่ออาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า ในระหว่างการหารือช่วงเช้า ตนได้นำเสนอเป้าหมายเกี่ยวกับการที่ประเทศในอาเซียนจะต้องมีบทบาทนำในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ หลายประเทศชื่นชมไทยที่มีบทบาทอย่างชัดเจนและมีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ ออนไลน์สแกม ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างเด่นชัดและได้รับความชื่นชมจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
นายมาริษกล่าวด้วยว่า ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการช่วงบ่าย ที่ประชุมหารือกันในประเด็นสำคัญ 2-3 ประเด็น โดยในเรื่องเมียนมา มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการหยุดยิง ซึ่งเป็นหนึ่งในฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน ที่หลายประเทศก็เห็นพ้อง เพราะต้องการเห็นสันติภาพกลับสู่เมียนมา เพราะก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาได้ก็ต้องมีความปลอดภัยในหมู่ประชาชน
นายมาริษกล่าวว่า ไทยยังต้องการต่อยอดการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เราได้ริเริ่มหลังเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า จะเดินทางไปกรุงเนปยีดอ เพื่อพูดคุยกับทางการเมียนมาโดยมุ่งเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ครอบคลุมทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนชาวเมียนมาต้องได้ประโยชน์เป็นหลัก
นายมาริษกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอว่าการแก้ไขปัญหาในเมียนมาอย่างยั่งยืนคือจะต้องให้ผู้ที่มีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมานั่งโต๊ะเจรจากัน เพราะไม่มีประโยชน์ที่ฝ่ายใดจะไปชี้นำหากผู้ที่มีผลกระทบทั้งหมดไม่เข้ามาพูดคุย เพื่อให้พวกเขาพิจารณาอนาคตของตนเอง ตามหลักการที่ต้องให้เมียนมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ดังนั้นการพูดคุยของพวกเขาจึงมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งเราพร้อมจะหารือกับฝ่ายเมียนมา โดยคาดว่าน่าจะเดินทางเยือนเมียนมาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้