‘นักวิชาการ’ ตอกหน้ารัฐจริงจังแก้ปัญหาสารพิษน้ำกก
นักวิชาการม. แม่ฟ้าหลวง” เรียกร้องรัฐบาลแสดงท่าทีเอาจริงจังใส่ใจแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในลำน้ำกกสายรวกโขง ผิดหวังคำสัมภาษณ์ รมช.มท."ธีรรัตน์"ที่ดูแลเรื่องนี้
13 ก.ค.2568 - ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในลำน้ำกกยังเป็นประเด็นข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่และหลายภาคส่วนล่าสุด อาจารย์ ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่าน facebook ส่วนตัวลงวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ส่งถึง รมช.มท.ระบุว่า ผิดหวังต่อคำให้สัมภาษณ์ของนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ(ส่วนหน้า) ในพื้นที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ขอให้หยุดความเข้าใจผิดของรัฐมนตรี สืบเนื่องจากท่านได้แชร์ข่าวที่ท่านให้สัมภาษณ์เพจ The Better เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2568 โดยมีใจความสำคัญหลายประการ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาต้นเหตุ ท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงที่เข้ามาแก้ไขปัญหาในระยะแรก มีความคิด จะบินตรงไปที่ประเทศเมียนมา เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งช่วยบรรเทาปัญหานี้ แต่ด้วยกระบวนการขั้นตอน ไม่สามารถเร่งรัดได้ขนาดนั้น
ล่าสุด ได้ให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ส่งหนังสือไปยังทางการเมียนมาให้รับทราบปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน เราก็ได้ร่วมมือหลาย ๆ ฝ่ายในการแก้ไขปัญหา อาทิ กระทรวงกลาโหมและกรมกิจการชายแดนทหาร เป็นต้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอทางการเมียนมานัดวันพูดคุย
2. สารพิษกับผลกระทบด้านการเกษตร โดยเฉพาะเกษตกรที่ต้องใช้น้ำในการเกษตร ท่านให้สัมภาษณ์ว่า
สารปนเปื้อนหมดไปแล้ว แต่ก็ยังมีไวรัสต่าง ๆ ที่มากับน้ำและประชาชนยังไม่รู้จักวิธีป้องกันตนเอง ในเรื่องของการใช้น้ำในการเกษตร ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรแต่อย่างใด
3. ภาพรวมของสารพิษในน้ำ ท่านให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมของสารพิษในน้ำ ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น อยู่ในภาวะคงที่
โดยเบื้องต้นบอกว่า ไม่เป็นความจริงและรัฐบาลขาดความใส่ใจอย่างจริงจัง
ประการสำคัญคือรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยความคืบหน้าหรืออุปสรรคการดำเนินงานในการเจรจาแก้ปัญหาต้นเหตุมลพิษข้ามพรมแดนแม้แต่ครั้งเดียว รัฐบาลมักประชาสัมพันธ์กิจกรรมว่าได้มีการประชุมเท่านั้น แต่ประชาชนต้องการทราบผลการดำเนินงานด้วย รวมทั้งการกล่าวอ้างว่า "สารปนเปื้อนหมดไปแล้ว" หมายความว่าอย่างไร สารปนเปื้อนไม่มีแล้วในแม่น้ำหรืออย่างไร การกล่าวเช่นนี้เป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งยังได้อธิบายถึงข้อกังวลที่มีหลักฐานชี้ชัดเรื่องสารปนเปื้อนผลกระทบในด้านต่างๆที่ต้องเร่งแก้ไขรอไม่ได้แต่จนถึงขนาดนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในขณะที่ผลกระทบขยายวงกว้างขึ้น
นักวิชาการรายนี้ให้ข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุรัฐบาลต้องแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต้นเหตุมากกว่านี้ แสดงให้รัฐบาลเมียนมาเห็นอย่างจริงจังว่ารัฐบาลไทยมีความต้องการให้รัฐบาลเมียนมาขึ้นโต๊ะเจรจาโดยด่วนที่สุด
ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วนจะอยู่ในเขตการปกครองของกลุ่มกองกำลังว้า แต่ว้าไม่เคยทำสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า พวกเขาเอื้อประโยชน็ให้กันและกันมาด้วยดีตลอด ดังนั้นจึงไม่มีทางที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะใช้เป็นข้อกล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจเหนือดินแดนรัฐฉานในเขตปกครองของว้าที่เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทั้งหมดที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งทำการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานแร่ที่ประเทศต้นทาง ได้แก่ดีบุก ตะกั่ว พลวง แมงกานีส ทองแดงและวุลแฟรม ที่มีการนำเข้าจากประเทศไทยผ่านด่านแม่สาย เชียงแสน เชียงของ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง ตากและแม่สอด ต้องพิสูจน์ว่าแหล่งแร่ทั้งหมดนั้นมาจากเหมืองแร่ใดในประเทศเมียนมา เป็นต้นเหตุของสารพิษปะปนในแม่น้ำหรือไม่
“รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ การเฝ้าระวังความเสี่ยงในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำกกสายรวกโขงปนเปื้อนสารพิษในการเกษตรหรือไม่อย่างไร โดยหวังว่า ท่านจะกลับไปพิจารณาข้อมูลที่ท่านได้รับมาอย่างรอบด้านและถี่ถ้วนอีกครั้ง ประชาชนไม่อยากถูกทิ้งให้เผชิญปัญหาจากความเข้าใจผิดของท่านอีกแล้ว” นักวิชาการ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ก็ได้มีการประชุมเครือข่าย ประชาชนไม่หยุดเคลื่อนไหวพบกับเวทีเครือข่ายแม่ญิงลุ่มน้ำภาคเหนือ ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ร่วมกันประชุมหารือเตรียมยื่นหนังสือต่อ UN Women เรื่องแม่น้ำกกสายรวกโขงปนเปื้อนสารพิษจากเหมืองประเทศเมียนมาอีกทางหนึ่งด้วย