ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง "ณฐพร" ฟ้อง กกต.เอื้อภูมิใจไทยฮั้วเลือก สว.
วันนี้ (1 ก.ค.2568) ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยอ้างว่า กกต.และเลขาธิการ กกต. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคภูมิใจไทย และกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาตามปรากฏในสำนวน กกต.
ประกอบไปด้วย นายเนวิน ชิดชอบ, กรุณา ชิดชอบ, นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก, นายศุภชัย โพธิ์สุ, น.ส.วาริน ชิณวงศ์ , นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ และนายสุบิน ศักดา ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือก สว.
โดยอ้างว่า พรรคภูมิใจไทย รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา นายเนวิน และนางกรุณา เป็นผู้ดำเนินการวางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตการเลือก สว. ทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 138 คน และมีสำรองอีก 2 คน อันเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นอกจากนี้ ยังอ้างว่ารายชื่อ สว. ที่ปรากฏในสำนวน กกต. นายศุภชัย น.ส.วาริน นายสมเจตน์ และนายสุบิน เป็นผู้ดำเนินการตามแผนทุจริตการเลือก สว. อันเป็นผลให้ สว.138 คน เข้าไปปฎิบัติหน้าที่เป็น สว. แต่ปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นไปตามกฎหมาย
อีกทั้งยังอ้างอิงว่าผู้ถูกร้องทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันและร่วมกันทำเป็นขบวนการให้ได้มาซึ่ง สว. เพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นายณฐพร ได้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2568 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นายณัฐพรจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 โดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ที่ถูกร้องทั้งหมด เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลือกการกระทำดังกล่าว โดยขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลรับคำร้องจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือก สว. เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และความผิดทางอาญา
การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
อ่านข่าว : ศาลรัฐธรรมนูญมติรับคำร้องถอดถอน "แพทองธาร" สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
"แพทองธาร" น้อมรับคำสั่งศาล รธน.ขอโทษคนไทยทำให้ไม่สบายใจปมคลิปเสียง